ายวิภาคมด

1.รูปร่างทั่วไปของมด 2.สังคมของมด 3.วรรณะต่างๆของมด 4.รูปแบบของมดงาน

5.ชีวิตของมด 6.มดในฐานะศัตรู 7.การสื่อสารของมด 8.การพึ่งพา 9.การเลี้ยงมดแดง


นส่วนใหญ่จะคุ้นเคยกับมด เนื่องจากมดสามารถพบอาศัยได้ทุกแห่งทุกหน แต่มีคนไม่มากนักที่รู้เกี่ยวกับความเป็นอยู่ของมด ส่วนใหญ่รู้จักมดในฐานะเป็นศัตรูหรือสิ่งที่น่ารำคาญที่ไม่มีคุณค่าอะไร เป็นความจริงว่า มดบางชนิดเป็นศัตรู (pest) ตัวอย่างเช่น มดที่อยู่ในบ้านหรือพวกที่กัดเมล็ดพืช และบางชนิดจะป้องกันแมลงพวกดูดกินน้ำเลี้ยง มดบางชนิดกัดและต่อย ทำให้เป็นการยากที่จะหันมาสนใจมดเนื่องจากมดมีขนาดเล็กและดูผิวเผินคล้ายกันมาก ไม่เหมือนกับพวกผีเสื้อ น่าสนใจและสวยงามมากกว่า อย่างไรก็ตาม มดมีการจัดระบบภายในสังคมและพฤติกรรมเหมือนๆ กัน มดทั้งหมดจัดอยู่ในวงศ์ Formicidae เพียงวงศ์เดียวเท่านั้น อยู่ในอันดับ Hymenoptera เช่นเดียวกับพวกผึ้ง ต่อ แตน ลำตัวมดมีสีแตกต่างกัน ได้แก่ สีแดง สีดำ และสีน้ำตาล มีขนาดแตกต่างกันไปตามแต่ละชนิด ระหว่าง 1-20 มม. ลักษณะของมดที่แตกต่างจากแมลงอันดับอื่นๆ คือ ปล้องท้อง ปล้องที่ 1 เชื่อมติดกับอกปล้องที่ 3 ซึ่งจะเรียกว่า propodeum บางชนิดบริเวณนี้จะมีหนาม 1 คู่ มดมีเอวที่เกิดจากปล้องท้องปล้องที่ 2 เพียงปล้องเดียวหรือจากปล้องท้องที่ 2 และปล้องท้องที่ 3 อาจเป็นก้านหรือเป็นปุ่ม ขึ้นอยู่กับชนิดของมด เป็นลักษณะที่ไม่พบในพวกต่อสน (sawfiles) ส่วนลักษณะอื่นๆ ที่ใกล้ชิดกับพวกผึ้ง ต่อ แตน คือ อวัยวะวางไข่ซึ่งลดหน้าที่ลงไป ปกติจะใช้ในการวางไข่ แต่ในแมลงกลุ่มนี้จะดัดแปลงเป็นเหล็กใน (sting organ) ใช้ในการป้องกันตัว ถึงแม้ว่าปลวกซึ่งเรียกว่า white ant หรือมดขาวเป็นแมลงสังคมเช่นกัน แต่ก็แตกต่างจากมดทั้งทางด้านลักษณะสัณฐานและพันธุกรรม ปลวกจัดอยู่ในอันดับ Isoptera มีความใกล้ชิดกับพวกแมลงสาบ ส่วนมดนั้นใกล้ชิดกับต่อ แตน

รูปร่างทั่วไปของมด
ลักษณะภายนอกของมดโดยทั่วไปก็เหมือนกับแมลงกลุ่มอื่น ๆ ได้แก่ ลำตัวแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน คือ ส่วนหัว ส่วนอก และส่วนท้อง แต่ที่พิเศษแตกต่างไปจากแมลงกลุ่มอื่นเพิ่มขึ้นมาก็คือ มีเอว (waist) แต่ละส่วนจะมีอวัยวะและลักษณะต่างๆ ปรากฏซึ่งจะแตกต่างไปตามแต่ละชนิด

โครงสร้างภายนอกของมด
1 = หนวด,2 = ปล้องหนวด, 3 = ฐานหนวด, 4 = ที่พักหนวด, 5 = ตารวม,6 = ฐานริมฝีปากบน,7 = กราม,8 = สันหน้า,9 = พูหน้า,10 = ร่องหนวด, 11 = ตาเดี่ยว, 12 = อกปล้องที่ 1, 13 = อกปล้องที่ 2, 14 = แอ่งสันอกปล้องที่ 3 15 = propodeum, 16 = ก้าน, 17 = ปุ่ม, 18 = ระยางค์ใต้ petiole, 19 = pygidium,20 = เหล็กใน, 21 = coxa, 22 = trochanter, 23 = femur, 24 = tibia, 25 = tarsus,26 = เล็บ, 27 = tibial spur,28 = ส่วนท้อง


1. ส่วนหัว เป็นส่วนแรกของลำตัว มีรูปร่างหลายแบบ เช่น ห้าเหลี่ยม สี่เหลี่ยม วงกลม วงรี หรือหัวใจ เป็นที่ตั้งของอวัยวะที่สำคัญบางชนิด ได้แก่
- หนวด เป็นลักษณะหนึ่งที่แตกต่างไปจากแมลงกลุ่มอื่น คือ เป็นแบบหักข้อศอก (geniculate) โดยทั่วไปจำนวนปล้องหนวดของมดงานอยู่ในช่วง 4-12 ปล้อง ส่วนใหญ่มี 12 ปล้อง ปล้องแรกเรียกว่า ฐานหนวด (scape) มีลักษณะค่อนข้างยาวกว่า ปล้องที่เหลือรวมกัน พบได้ในมดงานและราชินี ส่วนเพศผู้ ส่วนมากมีฐานหนวดสั้นมากกว่าปล้องที่เหลือรวมกัน ปล้องที่เหลือ
จากฐานหนวดเรียกว่า ปล้องหนวด (funiculus) มีจำนวน 3-11 ปล้อง แต่ละปล้องโดยทั่วไปสั้นกว่ามากเมื่อเทียบกับฐานหนวด หนวดส่วนใหญ่ทำหน้าที่ในการสื่อสารต่างๆ จัดเป็นอวัยวะที่สำคัญที่สุดในการรับความรู้สึก - ตา แบ่งออกได้เป็นตาเดี่ยวกับตารวม มดส่วนใหญ่จะมีตารวม บางชนิดไม่มีตารวม ตั้งอยู่บริเวณส่วนหน้าหรือด้านข้า ของส่วนหัว มีขนาดตั้งแต่เป็นจุดเล็กๆจนถึงขนาดใหญ่ ส่วนมากเป็นรูปวงกลม มีบ้างที่เป็นรูปวงรีหรือรูปไต มีหน้าที่สำหรับการมองเห็น ส่วนตาเดี่ยว โดยทั่วไปมี 3ตา อยู่เหนือระหว่างตารวม ส่วนมากพบในเพศผู้และราชินี สำหรับมดงานพบมากในมดเขตหนาวไม่ได้ใช้ในการมองเห็น
- ปาก มดมีปากแบบกัดกิน (chewing type) มีกรามที่แข็งแรงและขนาดใหญ่ เป็นส่วนที่เห็นชัดที่สุดของปากรูปสามเหลี่ยม กึ่งสามเหลี่ยม หรือเป็นแนวตรง ถือเป็นอวัยวะที่สำคัญในการจับเหยื่อและป้องกันตัว ทำให้มดส่วนใหญ่เป็นพวกกินสัตว์ อย่างไรก็ตาม มดก็มีอวัยวะที่ใช้ในการดูดน้ำหวานด้วยเช่นกัน
- ร่องพักหนวด เป็นร่องหรือแอ่งยาวคล้ายรอยพิมพ์อยู่บริเวณหน้าของส่วนหัวเป็นที่เก็บหนวดขณะไม่ได้ใช้ โดยทั่วไปมี
1 คู่ มีลักษณะแตกต่างกันตั้งแต่เป็นร่องตื้นๆ ไปถึงร่องลึกเห็นชัดเจน บางชนิดไม่มีร่องพักหนวดนี้
2. ส่วนอก เป็นส่วนที่สองของลำตัวเป็นรูปทรงกระบอก อกของมดจะไม่ใช้คำว่า thorax แต่จะใช้ alitrunk แทน เนื่องจากอกของมดประกอบด้วย อกปล้องแรก อกปล้องที่สอง และอกปล้องที่สาม แต่อกปล้องที่สามนี้จะรวมกับท้องปล้องที่หนึ่ง ซึ่งเรียกว่า propodeum ส่วนอกจะเป็นที่ตั้งของส่วนขาและปีก (สำหรับราชินีและเพศผู้) มดงานจะมีส่วนอกปกติ ยกเว้นราชินีอกมีขนาดใหญ่กว่าปีก จะพบในมดเพศผู้และราชินีเท่านั้น มดบางชนิดสันหลังอกและอกปล้องที่สองเชื่อมติดกัน เช่นเดียวกับอกปล้องที่สามกับท้องปล้องที่หนึ่ง มดบางชนิดสันหลังอกมีหนามหรือตุ่มหนาม บางชนิดอาจเป็นแผ่นคล้ายโล่ห์ ขาของมดส่วนมากค่อนข้างยาว ทำให้
ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้คล่องแคล่วว่องไวมาก ความยาวของขาและรูปร่างของขามดนั้นจะถูกกำหนดโดยพฤติกรรมต่างๆ
3. ส่วนเอว เป็นส่วนที่สามของมด คือ petiole เป็นปล้องที่สองของส่วนท้อง อาจเป็นก้าน ปุ่ม หรือแผ่น ส่วนถ้ามีสองปล้องคือ petiole กับ post petiole เป็นปล้องที่สองกับปล้องที่สาม postpetiole อาจเป็นปุ่มหรือรูปทรงกระบอกก็ได้ มดบางชนิด petiole อาจมีหนาม 1 คู่
4. ส่วนท้อง เป็นส่วนท้ายของลำตัวมด เรียกว่า gaster โดยทั่วไปมีรูปร่างทรงกลม แต่บางชนิดเป็นรูปหัวใจหรือทรงกระบอก ปลายส่วนท้องของมดงานส่วนใหญ่มีเหล็กไน บางชนิดสามารถทำให้เกิดอาการเจ็บปวดได้ สำหรับชนิดที่ไม่มีเหล็กไนก็จะเป็นช่องเปิดเล็กๆสำหรับขับสารป้องกันตัวออกมา


สังคมของมด
มดเป็นแมลงสังคมที่แท้จริง (Eusocial insect) อาศัยอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม (colony) ในแต่ละชนิด มีหลายรุ่นใน 1 กลุ่ม ภายใน กลุ่มแบ่งออกเป็นวรรณะต่างๆ (ภาพที่ 2 ) ดังนี้ ราชินี (queen) มี 1 หรือมากกว่า 1 ตัว เป็นเพศเมียที่ที่สืบพันธุ์ได้ มดเพศผู้ (male)


วรรณะต่างๆของมด
1 = ราชินี, 2 = มดเพศผู้, 3 = วรรณะทหาร (major worker), 4 = วรรณะกรรมกร (minor worker)
(ที่มา : Chung, 1995)
มีจำนวนเล็กน้อย และวรรณะมดงาน (Worker) พบเป็นส่วนมาก เป็นเพศเมียที่เป็นหมัน ในมดบางชนิดมีวรรณะทหาร (intermediate castes) เป็นเพศเมียที่เป็นหมันแต่มีขนาดใหญ่กว่า major worker ส่วนวรรณะมดงานที่มีขนาดเล็กเรียกว่า minor worker ทำให้มดงานมีหลายลักษณะ ถ้ามดงานมีขนาดและรูปร่างเหมือนกันทั้งกลุ่มจะเรียกว่า monomorphic พบได้ในมดส่วนใหญ่ ถ้ามดงานมีรูปร่างและขนาดสองแบบจะเรียกว่า dimorphic และถ้ามดงานมีหลายรูปแบบ เรียกว่า polymorphic มดทั้งหมดจะอาศัยอยู่ในกลุ่มและทุกๆวรรณะในกลุ่มนี้จะมีหน้าที่ที่จำเพาะเท่านั้น

รูปแบบของมดงาน
1 = หัวของ major worker, 2 = ลำตัวของ worker, 3 = หัวของ minor worker, 4 = ลำตัวของ worker,
(ที่มา : Shattuck, 1999)
ภายในมดกลุ่มๆหนึ่งจะมีราชินี ที่ทำหน้าที่วางไข่และมดงานที่เป็นตัวเต็มวัยจำนวนมากซึ่งรวมถึง ไข่ ตัวหนอน และดักแด้ มดงานเป็นมดที่มีมากที่สุดในแต่ละรังโดยมีหน้าที่รับผิดชอบในการสร้างรังและดูแลรัง หาอาหาร ดูแลครอบครัวและราชินี และป้องกันรัง ราชินีและเพศผู้ที่มีปีกจะอยู่ในรังช่วงสั้นๆเท่านั้น ในเวลาต่อมาก็จะออกจากรังเพื่อผสมพันธุ์และสร้างรังใหม่ ราชินีโดยทั่วไปคล้ายกับมดงาน ต่างกันตรงที่มีส่วนท้องใหญ่กว่า มดเพศผู้นั้นมีขนาดเท่ากับมดงานหรือเล็กกว่าเล็กน้อย มีหัวเล็กกว่าและตาเดี่ยว ส่วนมากดูคล้ายกับต่อมากกว่ามด มดงานเป็นวรรณะที่พบเห็นได้บ่อยที่สุด โดยเฉพาะขณะที่มดงานหาอาหารบนพื้นดินหรือเมื่อขอนไม้ผุหรือที่อยู่อาศัยถูกรบกวน อย่างไรก็ตาม มดงานบางส่วนเท่านั้นที่ออกไปหาอาหาร เนื่องจากมีการแบ่งหน้าที่การทำงานอย่างชัดเจนภายในรัง บางกรณีหน้าที่ที่เจาะจงนั้นขึ้นอยู่กับอายุของมดงาน ตัวอย่างเช่น มดงานที่ออกจากดักแด้ใหม่ๆจะคงอยู่ภายในรังและดูแลไข่ ตัวหนอน และดักแด้ เมื่อมีอายุมากขึ้น มดงานก็จะเปลี่ยนกิจกรรมจากดูแลครอบครัวและเริ่มงานใหม่ในการสร้างรังและทางเดิน ในที่สุดมดงานก็จะเป็นผู้ออกไปหาอาหาร แต่มดงานบางตัวอาจดำเนินกิจกรรมที่เหมือนกันตลอดทั้งชีวิต หรือบางกรณีมดงานทั้งหมดอาจดำเนินกิจกรรมทั้งหมดภายในกลุ่ม ในกลุ่มมดงานที่มีสองรูปแบบและหลายรูปแบบ ขนาดของมดงานจะมีอิทธิพลต่อการดำเนินกิจกรรม ตัวอย่างเช่น มดงานที่เป็น major อาจจะพบภายในรังหรือใกล้รังเท่านั้น ขณะที่มดงานที่เป็น minor เท่านั้นออกไปหาอาหารไกลจากรัง

ชีวิตของมด
รังมด โดยทั่วไปเริ่มด้วย ราชินี 1 ตัว (ภาพที่ 4) ราชินีจะบินออกจากรังที่เป็นบ้านอาศัยพร้อมด้วยราชินีและมดเพศผู้ตัวอื่นๆด้วยและจากรังอื่นๆในบริเวณใกล้เคียง ราชินีจะค้าหาที่สำหรับผสมพันธุ์ โดยปกติจะถูกดึงดูดด้วยวัตถุขนาดใหญ่ ตัวอย่างเช่น ต้นไม้สูงๆ ไม้พุ่มขนาดใหญ่ และยอดเนินเขา บริเวณเหล่านี้จะเป็นที่พบกันสำหรับราชินีและมดเพศผู้ที่มาจากหลายรัง ทำให้สามารถพบกัน ราชินีก็จะผสมพันธุ์กับมดเพศผู้ 1 ตัว หรือ 2-3 ตัว ขณะยังคงบินอยู่ในอากาศแต่เป็นช่วงสั้นๆ หลังจากนั้นก็จะทิ้งตัวลงสู่พื้นดิน ราชินีจะค้นหาพื้นที่ทำรังที่เหมาะสม พื้นที่ราชินีค้นหานั้นแตกต่างกันขึ้นอยู่กับชนิดและสามารถมีขอบเขตตั้งแต่ยอดไม้จนถึงใต้ดิน ข่วงที่ราชินีค้นหาหรือขณะที่พบพื้นที่ที่เหมาะสมแล้วราชินีจะกัดปีกหรือสลัดปีกออกเนื่องจากไม่
ต้องการใช้แล้วจากนั้นราชินีจะห่อหุ้มตัวเองด้วยปลอกขนาดเล็กๆและวางไข่เป็นกลุ่มเล็กๆ ราชินียังคงอยู่ในรังกับครอบครัว

ชีวิตของมดขณะที่กำลังเจริญเติบโต ตัวหนอนที่กำลังเจริญเติบโตจะกินไข่ที่ไม่ได้ผสมซึ่งราชินีจะวางไข่โดยเฉพาะสำหรับเป็นอาหาร มดงานรุ่นที่ 1 มีขนาดเล็กกว่ามดงานรุ่นถัดๆมาเพราะว่าราชินีสามารถจัดเตรียมอาหารในปริมาณที่กำจัด เมื่อเปรียบเทียบกับการหาอาหารของมดงาน เมื่อมดงานเป็นตัวเต็มวัย ก็จะเริ่มออกจากรังและหาอาหาร โดยการจับเหยื่อกลับมาให้ราชินีและครอบครัวที่เพิ่มขึ้น กลุ่มมดพัฒนาขึ้น เพราะว่ามีมดงานตัวเต็มวัยมากขึ้น มดงานรุ่นใหม่ควบคุมดูแลครอบครัวรวมทั้งนำอาหารเพิ่มขึ้น ที่ระยะนี้ ราชินีจะลดกิจกรรมในการวางไข่และมดงานเข้ารับหน้าที่ทั้งหมดภายในรัง ราชินียังคงมีความจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตกลุ่มมดทั่วไป เพราะว่าราชินีจะควบคุมกิจกรรมของมดงานทั้งหมดในรังด้วยการส่งสารเคมี
รูปแบบการค้าหารังตามข้างบนเป็นรูปแบบหนึ่งที่พบทั่วไปและแพร่กระจายมากที่สุด อย่างไรก็ตาม ยังมีมดอีกจำนวนมากที่แตกต่างไปจากนี้ ตัวอย่างเช่น การผสมพันธุ์อาจเกิดขึ้นบนหรือในรัง ราชินีหลายตัวสร้างรังร่วมกันและอาศัยอยู่ร่วมกันหรือต่อมาก็ต่อสู้กันในการกำหนดราชินีที่เหลืออยู่ภายในรัง ส่วนราชินีตัวอื่นๆถูกบังคับให้ออกไปหรือถูกฆ่าตาย ส่วนในบางชนิดนั้นกลุ่มใหม่ถูกสร้างเมื่อราชินีใหม่ออกจากรังไปพร้อมกับมดงานจำนวนหนึ่งและกำหนดถิ่นฐานใหม่ที่ห่างไกลออกไป ราชินีหาอาหารข้างนอกรังก่อนที่มดงานรุ่นที่ 1 จะเกิดขึ้น เป็นต้น
ขณะที่กลุ่มมดงานจะเข้าสู่วัยแก่ ราชินีจะเริ่มผลิตราชินีและมดเพศผู้ในรุ่นถัดไป ปัจจัยหลายประการที่เป็นตัวกำหนดการผลิตราชินีใหม่ประกอบด้วย เวลาในรอบปี อาหารที่เป็นประโยชน์สำหรับการเจริญเติบโตของตัวอ่อน ขนาดและที่บรรจุไข่ที่วาง ฟีโรโมนหรือฮอร์โมนที่ผลิตโดยราชินีและอายุของราชินี ส่วนการผลิตมดเพศผู้นั้นถูกกำหนดโดยกลไกอย่างง่ายๆกว่าราชินี ตัวหนอนของราชินีและมดเพศผู้ใหม่จะคล้ายกับตัวหนอนของมดงานแต่โดยทั่วไปมีขนาดใหญ่กว่า เมื่อเป็นตัวเต็มวัยระยะแรกจะยังคงอยู่ในรังก่อนเพื่อคอยภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมในการเริ่มต้นออกจากรัง สภาพที่เหมาะสมนี้จะเป็นสาเหตุสำคัญในการกระตุ้นการออกจากรังของราชินีและมดเพศผู้เมื่อออกจากรังไปแล้ว ราชินีจะผสมพันธุ์และสร้างรังใหม่ภายใน 2-3 วันเท่านั้น ขณะที่มดเพศผู้โดยทั่วไปจะตายภายใน 2-3 วันหลังออกจากรัง

รังมด
ถึงแม้ว่าจะพบมดได้ง่ายอย่างไรก็ตาม ตาที่อยู่ของรังมดไม่ค่อยมีใครรู้มากนัก มดถือเป็นสัตว์กลุ่มหนึ่งที่มีการดัดแปลงสภาพสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมกับความต้องการโดยการสร้างรังอย่างปราณีตในบริเวณที่เลือก บางครั้งมีการใช้พลังงานไปจำนวนมากในการสร้างรัง รังมดโดยทั่วไปมีอายุเป็นปีและบางชนิดมีอายุถึง 10 ปี นอกจากนี้แล้ว มดบางชนิดจะใช้ไฟเบอร์ของพืชหรือดินในการสร้างเป็นเกราะป้องกันบริเวณที่หาอาหาร
รังมดในดินแตกต่างกันตั้งแต่รังขนดเล็กๆเป็นแอ่งอย่างง่ายๆอยู่ใต้ก้อนหิน ขอนไม้ หรือวัสดุอื่นๆที่อยู่ตามพื้นดิน จนเป็นอุโมงค์ที่ขายออกไปหลายๆเมตรใต้ดิน โครงสร้างของรังมดนี้แตกต่างไปตามแต่ละชนิดมด ชนิดดินและบริเวณที่สร้างรัง เมื่อมองดูจากด้านบนตั้งแต่ทางเข้าของรังไปในรังใต้ดินมีรูปแบบในขอบเขตที่กว้างมาก มดจำนวนมากมีรูทางเข้าขนาดใหญ่พอเพียงให้มดงาน 1 ตัวเข้าไปได้เท่านั้น บางชนิดเป็นทางเข้าเดี่ยวๆที่มีมูลดินล้อมรอบ ซึ่งแตกต่างกันออกไป มีตั้งแต่มูลดินต่ำและกว้างไปจนถึงมูลดินสูงเป็นป้อมแคบๆ มดจำนวนมากจะมีเศษพืชและดินล้อมรอบทางเข้ารังเป็นกองขนาดใหญ่ซึ่งด้านบนลาดลง บางชนิดมีการเก็บเศษพืชไปสร้างกำบังกองดินที่อยู่เหนือรังใต้ดิน มดบางชนิดสร้างรังอยู่บนต้นไม้ ตามกิ่ง ก้าน หรือลำต้นของต้นไม้ รังส่วนมากที่พบ ทางเข้าของรังมดงานชนิดต่างๆมีขนาดเล็กและวงกลมหรือไม่ก็โดยอาศัยโครงสร้างธรรมชาติของลำต้นและกิ่ง มีมด 2-3 ชนิดที่สร้างรังบนต้นไม้ จะสร้างโดยการใช้ใบไม้ ตัวอย่างเช่น มดแดง จะเชื่อมใบไม้แต่ละใบเข้าด้วยกันโดยเส้นใยที่ผลิตจากตัวอ่อนของมดแดง หรือบางชนิดที่อาศัยตามต้นไม้ จะใช้ไฟเบอร์ของพืชนั้นสร้างสิ่งปกคลุมรังซึ่งเชื่อมติดกับผิวใบ มดก็จะอาศัยอยู่ภายในปลอกหุ้มที่สร้างโดยสิ่งปกคลุมกับใบ ขณะที่มดจำนวนมากจะสร้างรังอย่างพิถีพิถัน แต่บางชนิดสร้างรังอย่างง่ายๆ มีมดจำนวนมากพบในขอนไม้ผุซึ่งจะนำไฟเบอร์พืชออกไปสร้างเป็นหลุมอย่างง่ายๆสำหรับมดงานและครอบครัว หลุมเหล่านี้อาจมีขนาดเล็กหรือขยายใหญ่ได้แต่มีความซับซ้อนของรังน้อยกว่ารังมดที่อยู่ใต้ดินหรือตามต้นไม้ มีมดบางชนิดที่ไม่มีรังที่แท้จริง จะพบเป็นกลุ่มเล็กๆบนพื้นดินในซากพืชหรือระหว่างรากพืช มดพวกนี้จะเคลื่อนย้ายรังบ่อยมากและสามารถพบตามบริเวณที่เหมาะสมได้กว้างขวาง

การหาอาหารของมด
ถ้าดูที่ส่วนปากของมดแล้วพบว่า จะมีส่วนที่ใช้กัดและกินรวมไปถึงส่วนที่ใช้ดูดด้วย ดังนั้นมดส่วนมากสามารถดูดน้ำเลี้ยงพืชหรือของเหลวจากแมลงที่ขับถ่ายออกมาได้ รวมไปถึงการกัดและกินพืชที่ตายแล้วหรือชิ้นส่วนของสัตว์ มดงานส่วนใหญ่เป็นพวกตัวห้ำหรือกินซากสัตว์ (scavengers) อาหารของมดนั้นค่อนข้างกว้าง ประกอบด้วย สัตว์ที่ขาเป็นปล้องและเมล็ดพืช มดตัวเต็มวัยกินอาหารที่เป็นของเหลว โดยสะสมของเหลวจากเหยื่อที่จับได้หรือขณะที่ดูแลพวกเพลี้ยต่างๆ และแมลงกลุ่มอื่นๆ เหยื่อที่เป็นของแข็งนั้นก็จะนำกลับไปที่รังโดยมดงาน ตามปกติจะเป็นอาหารของตัวอ่อนมด ตัวเต็มวัยที่อยู่ในรังได้แก่ ราชินี ได้รับอาหารจำนวนมากหรือทั้งหมดจากมดงานที่หาอาหารได้โดยตรง ระหว่างที่หาอาหาร มดงานจะสะสมของเหลวซึ่งจะเก็บสะสมไว้ที่ส่วนบนของระบบย่อยอาหาร เมื่อกลับไปยังรัง มดงานเหล่านี้จะสำรองของเหลวที่สะสมไว้และผ่านเข้าไปยังมดงานตัวอื่นๆ
ขณะที่มดงานส่วนมากจะกินอาหารแตกต่างกันออกไป มีมดบางชนิดเจาะจงอาหารในวงแคบๆ มดจำนวนมากชอบกินพวกแมลงหางดีดเป็นอย่างมาก ส่วนมดบางชนิดชอบกินไข่ของสัตว์ที่มีขาเป็นปล้อง มดบางชนิดจะเข้าไปยังรังมดชนิดอื่นอย่างรวดเร็วเพื่อจับตัวอ่อนมดและดักแด้ มดจำนวนมากที่มีความจำเพาะกับอาหารที่กินนั้นจะมีการดัดแปลงลักษณะทางสัณฐาน ตัวอย่างเช่น กรามที่พบในพวกกลุ่มตัวห้ำชั้นสูงจะเรียวยาวมากและมีฟันขนดใหญ่ โดยเฉพาะตอนปลาย เมล็ดของพืชจำนวนมาก มีอาหารที่จำเพาะเรียกว่า elaiosomes ซึ่งจะดึงดูดมดให้เข้ามา มดจะสะสมเมล็ดโดยกินส่วนนี้เป็นอาหาร บางครั้งกินเมล็ดด้วย เมล็ดจำนวนมากยังคงงอกได้หลังจากส่วนที่มีอาหารถูกกินไป เมล็ดจะถูกวางไว้ภายในรังหรือบนกองตรงกลางที่มดสร้างขึ้นมา เป็นบริเวณที่เมล็ดจะมีการงอกในเวลาต่อมา มีความเชื่อว่าเมล็ดที่สะสมโดยมด มีโอกาสสูงมากในการงอกและรอดชีวิตเมื่อเปรียบเทียบกับเมล็ดที่ไม่ได้มีการสะสมจากมด เนื่องจากเมล็ดถูกทำลายน้อยมากโดยพวกกินเมล็ด และเนื่องจากเมล็ดถูกเก็บไว้ในร่มใกล้กับกองดินที่มีธาตุอาหาร โดยทั่วไป มดชอบออกหากินไม่ช่วงกลางวันก็กลางคืน การออกหากินของมดบางชนิดเกิดขึ้นทั้งกลางวันและกลางคืน ในบริเวณที่แห้งแล้ง กิจกรรมการหาอาหารของมดจำนวนมากขึ้นอยู่กับอุณหภูมิ บางชนิดมีกิจกรรมระหว่างช่วงเช้าหรือเย็นเท่านั้น ส่วนบางชนิดมีกิจกรรมระหว่างตอนที่ร้อนที่สุดของวัน

มดในฐานะที่เป็นศัตรู
มดสร้างปัญหาเมื่อมดเข้ามาในอาคาร สำหรับหาอาหารหรือน้ำ และเมื่อมดสร้างรังในอาคารและในสวน เมื่อกำลังค้นหาอาหาร มดสามารถดึงดูดมดงานชนิดต่างๆที่ชอบของหวาน เนื้อ ไขมัน หรือน้ำมัน มดยังค้นหาน้ำข้างในอาคารด้วยเช่นกันช่วงที่แห้งแล้ง มดจำนวนมากเมื่อพบสิ่งที่ต้องการก็จะนำไปเก็บรวบรวมเป็นอาหารกลับไปยังรัง ด้วยเหตุผลนี้ทำให้พบมดจำนวนมากเป็นเวลาช่วงสั้นๆ
มดยังสร้างความรำคาญเมื่อมดหาอาหารบริเวณเมล็ดหว่านใหม่ๆ มดจะนำเมล็ดไปไว้ในรังและทำให้ลดการงอกในพื้นที่นั้น
มดบางชนิดสร้างรังตามผนัง ตามรอยแตกในห้องน้ำหรือบริเวณอื่นภายในอาคาร มดส่วนมากจะไม่ทำลายโครงสร้าง แต่จะทำให้คุณภาพเสื่อมลง ถ้านอกตัวอาคารการสร้างรังเกิดขึ้นตามรอยแตกของดินในสวน กรณีนี้สร้างความเสียหายเล็กน้อยเท่านั้น ยกเว้นมดบางชนิดจะทำให้ดินนุ่มเนื่องจากทำรังในดินใกล้พื้นผิว สร้างปัญหาในสนามกอล์ฟหรือทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ มีบางชนิดเท่านั้นที่ทำลายเกี่ยวสายไฟฟ้า มดจะเคลื่อนย้ายรังเมื่อถูกรบกวนหรือความต้องการอาหารเปลี่ยนไป ด้วยเหตุนี้ทำให้ควบคุมมดได้ยาก มดอาจจะเคลื่อนย้ายไปช่วงสั้นๆเท่านั้นแล้วกลับมาในเวลาต่อมา เมื่อมีอาหารใหม่และสามารถสร้างกลุ่มใหม่ใกล้รังได้อย่างรวดเร็ว
มีมดหลายชนิดที่เป็นปัญหาต่อสุขภาพของมนุษย์เมื่อถูกต่อยหรือกัด เช่น มดตะนอย มดคันไฟ เป็นต้น บางชนิดเป็นพาหะนำโรคมาสู่มนุษย์และสัตว์ได้ แต่อย่างไรก็ตาม มดส่วนใหญ่จะสร้างความน่ารำคาญมากกว่าปัญหาทางด้านสุขภาพ

การสื่อสารของมด
การติดต่อสื่อสารระหว่างมดด้วยกัน ส่วนใหญ่จะใช้สารเคมีที่ผลิตขึ้นมา สารเคมีชนิดนี้ เรียกว่า ฟีโรโมน เป็นสารเคมีที่สำคัญมากที่สุด สารเคมีชนิดนี้มีหลายชนิด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการใช้งาน ตัวอย่างเช่น การบอกทาง จะพบเห็นเป็นประจำที่มดเดิน
ขณะที่ออกไปหาอาหารซึ่งจะทำให้สมาชิกมดงานตัวอื่นๆสามารถค้นหาเจอ การเตือนภัยและการผสมพันธุ์ มดจะปล่อยฟีโรโมนเกี่ยวกับพวกนั้นออกมา เช่น เมื่ออันตรายกับสมาชิกในกลุ่ม มดงานจะปล่อยฟีโรโมนเกี่ยวกับการเตือนภัยให้แก่สมาชิกรับทราบถึงอันตรายที่ได้รับหรือจะมาถึง มดงานก็จะมาอยู่รวมเป็นกลุ่มและมีปฏิกิริยาโต้ตอบโดยใช้กรามและหนวดกางออกอย่างกว้างๆ ในมดบางกลุ่มมีการปล่อยกรดฟอร์มิกออกมาทางด้านปลายส่วนท้อง เป็นการขับไล่ศัตรูออกไป มดแต่ละตัวจะมีที่รับสารเคมีเหล่านี้ได้ดีมากและรวดเร็วซึ่งจะอยู่ที่หนวดและส่วนอ่อนของลำตัว
มดยังมีการสื่อสารโดยการใช้หนวดด้วยเช่นกัน จะเห็นอยู่เป็นประจำในลักษณะที่เรียกว่าจูบกัน (kissing) แต่ละตัวเมื่อพบกันตามทางเดิน โดยการเคลื่อนไหวหนวดจากข้างหนึ่งไปอีกข้างหนึ่งหรือไปข้างหน้าและข้างหลัง การเคลื่อนไหวของหนวดจะเป็นการแสดงตำแหน่งของอาหารหรือรัง พฤติกรรมการจูบนี้จะพบเห็นระหว่างช่วงที่มีการถ่ายเทอาหารใหแก่กันด้วย ขบวนการนี้เป็นการแลกเปลี่ยนของเหลวที่อยู่ในกระเพาะด้านหน้าระหว่างสมาชิกด้วยกันและผู้มาเยี่ยมเยือน อาจเป็นการได้ประโยชน์ร่วมกันหรือได้ประโยชน์เพียงฝ่ายเดียว
นอกจากนี้ยังมีการสื่อสารโดยการสั่นทำให้เกิดเสียงขึ้น พบได้ในมดบางชนิดที่ชอบอาศัยตามต้นไม้ เมื่อมีภัยมดงานที่อยู่ในรังจะกระตุ้นโดยการเคาะเบาๆตามพืชที่อาศัยเป็นผลทำให้เกิดเสียงอย่างดังและสามารถได้ยินได้ วิธีนี้เป็นการป้องกันต่อศัตรูและเป็นสัญญาณเตือนภัยให้กับมดที่อยู่บริเวณนั้นด้วยเช่นกัน
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการสื่อสารของมด หนวดถือเป็นอวัยวะที่สำคัญที่สุดที่จะถ่ายทอดสัญญาณต่างๆออกไปให้มดงานที่อยู่รอบข้างได้รับรู้ มีการเปรียบเทียบไว้ว่าถ้าผึ้งจะใช้การการสื่อสารต่อกันโดยภาษาการเต้นรำ ส่วนมดนั้นจะใช้ภาษาของหนวดในการสื่อสาร

การพึ่งพาระหว่างมดกับพืช
การพึ่งพา หมายถึง ความสัมพันธ์ระหว่าสิ่งมีชีวิต 2 ชนิด และเมื่อทั้งสองได้รับประโยชน์จากความสัมพันธ์นี้ เรียกว่า mutualism มดหลายชนิดจัดอยู่ประเภทนี้ ตัวอย่างเช่น ความสัมพันธ์ของมดกับพืช คือ มดในสกุล Crematogaster กับไม้สกุลเต้าหลวง (Macaranga spp.) โดยที่มดสกุลนี้ จะกัดเป็นรูเข้าไปข้างในของลำต้นไม้สกุลเต้าหลวงที่กำลังเจริญเติบโตและสร้างเป็นที่อยู่อาศัยโดยตรงกลางลำต้นหรือกิ่ง ไม้สกุลนี้ตามขอบใบและยอดอ่อนจะขับของเหลวมีลักษณะหวานออกมาเป็นก้อนกลมๆมดสกุลนี้จะกินส่วนนี้เป็นอาหาร
ในทางกลับกัน มดจะกัดยอดของพืชที่เป็นไม้เลื้อยที่เจริญเติบโตมาพันต้นเต้าหลวง ถ้าปล่อยทิ้งไว้ตามลำพัง พืชไม้เลื้อยจะมีผลต่อการเจริญเติบโตของต้นเต้าหลวง และทำให้ตายไปในที่สุด นอกจากนี้แล้ว มดสกุลนี้ยังกำจัดแมลงที่เป็นศัตรูของต้นเต้าหลวงอีกด้วย เต้าหลวงถือเป็นไม้เบิกที่เจริญเติบโตโดยได้รวดเร็วมากในป่าที่ถูกทำลาย ดังนั้นไม้เบิกนำเหล่านี้จะให้ร่มเงาแก่ลูกไม้ กล้าไม้ที่เป็นไม้เด่นในป่านั้นจากแสงโดยตรง และมดยังมีส่วนช่วยในขบวนการสืบต่อพันธุ์ของป่าทางอ้อมอีกด้วย
นอกจากนี้แล้วยังมีความสัมพันธ์ระหว่างมดกับพืชอีกหลายชนิด ได้แก่ ความสัมพันธ์ระหว่างไผ่กับมดตะนอย โดยที่มดจะสร้าง flood gates ในปล้องไผ่ ซึ่งเป็นการช่วยป้องกันน้ำที่มาสะสมตามปล้องของไผ่

การพึ่งพาระหว่างมดกับแมลงกลุ่มอื่นๆ
มีหลายตัวอย่างที่คุ้นเคยกันดีเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างเพลี้ยอ่อนกับมด ตัวอย่างเช่น มดเหม็น (Trapinoma spp.) อาศัยของเหลวมีลักษณะคล้ายน้ำผึ้ง (honeydew) ที่ผลิตมาจากเพลี้ยอ่อนที่อาศัยอยู่ตามต้นหญ้า เพลี้ยอ่อนจะดูดของเหลวจากพืชจำนวนมากจนกระทั่งมากพอตามต้องการโดยเฉพาะกรดอะมิโนซึ่งจะมีอยู่น้อยมากในของเหลวพืช จากนั้นจะมีการขับถ่ายของเสียออกมาจากปลายส่วนท้องมีลักษณะเป็นก้อนกลมๆประกอบด้วย น้ำตาลสูง แล้วมดจะกินก้อนกลมๆนี้เป็นอาหาร ในทางกลับกัน มดจะช่วยป้องกันเพลี้ยอ่อนจากศัตรูธรรมชาติ เช่น ด้วงเต่าลาย ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังมีมดชนิดอื่นๆอีก เช่น มดแดงและมดสกุล Dolichoderus ชอบอาศัยอยู่ร่วมกับเพลี้ยอ่อน เพลี้ยเป้ง หรือเพลี้ยหอย โดยมดเหล่านี้จะดูดกินของเหลวมีลักษณะหวานที่ขับออกมาจากแมลงเหล่านี้
ความรู้อื่นๆที่น่าสนใจเกี่ยวกับมด
1. อาหารที่มดชอบกินมาก ได้แก่ แมลง น้ำตาล และเมล็ดพืช ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดมด
2. อาหารที่เป็นแมลงนั้น ถือเป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญของมด โดยมดจะใช้เป็นวัตถุดิบในการสร้างลำตัว หนอนผีเสื้อเป็นแมลงที่มีโปรตีนมาก มดจะชอบนำไปเป็นอาหาร ถ้าตัวหนอนมีขนาดเล็กก็จะแบกไปโดยใช้กรามจับ แต่ถ้าตัวหนอนมีขนาดใหญ่
จะขนไปโดยการลากหรือตัดให้เป็นชิ้นเล็กๆ
3. อาหารที่เป็นน้ำตาล ถือเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญของมด ในการนำไปใช้ในการทำหน้าที่ต่างๆของมดงาน มดค่อนข้างไวต่อกลิ่นอาหารหวาน ของเหลวที่อยู่ตามลำตัวของหนอนผีเสื้อ น้ำหวานของดอกไม้ และน้ำตาลที่ขนไปโดยมดหลังจากดูดของเหลวเอาไปเก็บไว้ในกระเพาะ สำหรับอาหาร เช่น คุกกี้ ถูกขนไปเก็บไว้ในรังหลังจากทำให้อ่อนนุ่มโดยน้ำลายหรือกัดเป็นชิ้นเล็กๆ
4. อาหารที่เป็นเมล็ดนั้น มดจะคาบเมล็ดเข้าไปไว้ในแอ่งที่อยู่ภายในรัง ตัวอ่อนมดจะกัดแทะเมล็ดซึ่งจะทำให้อ่อนนุ่มด้วย
น้ำลาย
5. ในรังมดขนาดใหญ่ของพบบางชนิดพบว่า มีการสะสมอาหารที่เป็นแมลงประมาณ 2,400 ตัวต่อวัน มดจะช่วยกันขนอาหารไปเก็บไว้ที่รังด้วยกัน คือ เมื่อมดพบชิ้นอาหารแล้ว ก็จะนำกลับไปรังและสะสมตามจำนวนมดงานตามทางที่กลับรัง มดงานจะทิ้งกลิ่นตามทางไปด้วยเพื่อที่มดงานสามารถพบทางที่จะไปแหล่งอาหารได้ถูกต้อง
6. มดจะขนอาหารเหลวที่หวานโดยการดูดไปเก็บไว้ในกระเพาะ เมื่อกระเพาะเต็ม ก็จะกลับรังและแบ่งปันน้ำหวานกับมดตัวอื่นๆ เมื่อกระเพาะไม่มีน้ำหวาน มดจะออกจากรังอีกครั้งในการค้นหาอาหารอีกครั้ง อาหารเหล่านี้สามารถค้นหาได้จาก ดอกไม้ ฐานของใบ ตาดอก และต้นไม้หรือตามเปลือกที่ลอกออกมาและมีของเหลวซึ่งมีลักษณะหวานไหลออกมา นอกจากนี้ยังได้มาจากเพลี้ยอ่อน เพลี้ยหอย และเพลี้ยแป้งอีกด้วย โดยที่แมลงเหล่านี้ดูดของเหลวจากต้นไม้และขับถ่ายของเหลวที่มีลักษณะหวานจากส่วนปลายของส่วนท้องด้วยการใช้หนวดเป็นตัวกระตุ้นให้ปล่อยน้ำหวานออกมาซึ่งมดจะใช้ของเหลวนี้เป็นแหล่งอาหาร
7. มดจะมีการแบ่งปันน้ำหวานกับมดอื่นๆภายในรังโดยการจูบปากกัน มดที่มีน้ำตาลสะสมอยู่ในกระเพาะจะสำรอกน้ำหวานออกมาเมื่อกรามของมดถูกเคาะเบาๆด้วยหนวดของมดอีกตัวหนึ่งจากนั้นมดก็จะปล่อยน้ำหวานผ่านทางปากไปสู่ปากของมดอีกตัว มดนั้นจะมีกระเพาะ 2 กระเพาะ กระเพาะหน้าเรียกว่า crop เป็นที่เก็บน้ำหวาน ด้านหลังจะมีลิ้นปิด-เปิด ส่วนกระเพาะหลังเป็นกระเพาะที่แท้จริง
8. ภายในรังมดจะประกอบด้วย มดงาน มดเพศผู้ และราชินี มดงานมีขนาดเล็กแต่แข็งแรงมาก ยกตัวอย่างเช่น มดที่มีน้ำหนักตัว 0.004 กรัม สามารถเดินขณะที่ยกวัตถุที่หนักถึง 5 เท่าของน้ำหนักลำตัวด้วยปากและสามารถลากวัตถุที่หนักถึง 25 เท่าของน้ำหนักตัว
9. มดบางชนิดที่อาศัยอยู่ในดินสามารถสร้างรังที่มีความลึกถึง 4 เมตร เพื่อความอยู่รอดในช่วงที่หนาวจัด ภายในรังจะมีการแบ่งเป็นห้องๆอย่างชัดเจนตามหน้าที่ ประกอบด้วย ห้องสำหรับตัวหนอนเพื่อการเจริญเติบโต ห้องสำหรับเก็บอาหาร ที่สำหรับทิ้งขยะ และห้องราชินี มดงานจะขนตัวอ่อนไปยังห้องที่เหมาะสมแต่ละห้องทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิ
10. ในครอบครัวของมดรังหนึ่งจะมีสมาชิกมากน้อยขึ้นอยู่กับชนิดมดและลักษณะรัง ตัวอย่างเช่น มดกลุ่ม army ants มีสมาชิกมากถึง 10 ล้านตัว หรือมดสกุล Camponotus บางชนิดมีมากถึง 2,000 ตัว
11. มีราชินีเพียงตัวเดียวเท่านั้นที่อยู่ในรัง ถึงแม้ว่าจะมีมดเพศเมียมีปีกจำนวนมากในรังหนึ่งแต่มีเพียงหนึ่งตัวเท่านั้นที่ได้รับการผสมพันธุ์คือ ราชินี ซึ่งปีกถูกสลัดออกในภายหลัง มดเพศผู้จะปรากฏให้เห็นปีละ 1 ครั้งเท่านั้น และคอยอยู่ในรังเพื่อรอวันที่จะผสมพันธุ์ หลังจากผสมพันธุ์แล้วมดเพศผู้ก็ตายข้างนอกไม่ได้กลับเข้าไปในรัง ทำให้โดยปกติแล้วจึงไม่ค่อยพบเห็นมดเพศผู้อยู่ในรัง

 

การเลี้ยงมดแดงเพื่อป้องกันและกำจัดศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสาน
มดแดงเป็นแมลงชนิดหนึ่งจัดอยู่ในแมลงที่เป็นประโยชน์ทางการเกษตร แต่คนส่วนใหญ่จะไม่ทราบและเข้าใจลึกซึ้งถึงประโยชน์ที่ได้รับจากมดแดง ทำให้ไม่เห็นความสำคัญของมดแดงและในบางครั้งก็ทำลายมดแดงไปด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เช่น การใช้สารเคมีฆ่าแมลง มดแดงช่วยป้องกันกำจัดศัตรูพืชหลายชนิด เช่น เพลี้ยต่างๆ หนอนศัตรูพืชเกือบทุกชนิดและแมลงที่เป็นศัตรูพืชต่างๆ เช่น ตั๊กแตก เพลี้ยจั๊กจั่นสีเขียว ฯลฯ เมื่อมดแดงมีความสามารถที่จะกำจัดศัตรูพืชได้หลายชนิด ก็เป็นการควบคุมศัตรูพืชให้อยู่ในระดับสมดุลย์ทางธรรมชาติ ทำให้ศัตรุพืชไม่ระบาดรุนแรง เป็นการลดการใช้สารเคมี ทำให้ไม่เป็นอันตรายต่อตัวเกษตรกรและสภาพแวดล้อม
การดำรงชีวิตของมดแดง มดแดงเป็นสัตว์สังคม ชอบอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ช่วยกันสร้างรังเลี้ยงดูตัวอ่อนให้เติบโตเป็นสมาชิกใหม่ ภายในรังมดแดงจะมีสมาชิก คือ
- แม่เป้ง (นางพญา) มีรูปร่างขนาดใหญ่มากกว่ามดแดงธรรมดามาก ลำตัวเป็นสีเขียวปนน้ำตาล มีปีกสำหรับบิน มีหน้าที่ออกไข่คล้ายกับนางพญาปลวกผึ้ง เมื่อใดแม่เป้งเห็นว่าสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสมในการสร้างรังและวางไข่ แม่เป้งจะทิ้งรังเดิมไปสร้างรังและวางไข่ที่อื่นที่มีน้ำ อาหารสมบูรณ์ตามต้นไม้มีใบดก เขียวชะอุ่ม หนา ทึบ และปลอดภัย
- มดแดง ไม่สามารถแยกได้ชัดเจนว่า มดแดงตัวใดเป็นมดงาน มดพยาบาล หรือมดทหารเหมือนกับปลวก เนื่องจากมดแดงตัวเมีย สามารถทำหน้าที่ทั้ง 3 กรณี คือ เป็นมดงานทำหน้าที่สร้างรัง มดพยาบาลทำหน้าที่เลี้ยงตัวอ่อน และมดทหารทำหน้าที่สู้ขัดขวางผู้บุกรุกที่จะทำอันตรายแก่รังของมัน
การดำเนินประชากรของมดแดง เริ่มจากแม่เป้งจะออกไข่ไว้ในรังที่ตัวมันสร้างเพียงตัวเดียวก่อน จำนวนไข่มีไม่มาก ประมาณ 100-500 ฟอง ในจำนวนไข่ทั้งหมดจะมีอยู่ 3 ลักษณะ คือ
- ไข่มาก เป็นไข่ที่มีขนาดใหญ่ผิดธรรมดา จะฟักออกมาเป็นแม่เป้งมดแดง
- ไข่ฝาก เป็นไข่ที่มีขนาดเล็กไม่โต ไม่เต่งเหมือนไข่มาก จะฟักตัวออกมาเป็นตัวมดแดงธรรมดา เมื่อไข่ทั้งหมดฟักเป็นตัวอ่อน และเติบโตขึ้นก็จะกลายเป็นประชากรมดแดงที่มีจำนวนมาก จำนวนจะเพิ่มอย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีแม่เป้งหลายตัว และปัจจัยสนับสนุนด้านน้ำและอาหารสมบูรณ์
- ไข่มดดำ ไข่มีขนาดเล็กออกสีดำ ฟักออกเป็นตัวมดดำมีปีกแล้วบินหนีไป
การสร้างรัง มดแดงทุกตัวจะมีเส้นใยพิเศษที่ได้จากน้ำลายและกรดมดจากท้องของมัน ลักษณะของใยมีสีขาว (เมื่อแห้งแล้วอ่อนนุ่มและเหนียวคล้ายสำลี) มดแดงจะดึงใบไม้มายึดติดก้นโดยใช้ใยนี้เอง ส่วนมากจะสร้างรังเป็นรูปทรงกลม สามารถป้องกันน้ำฝนได้ แม่เป้งจะออกไข่ให้มดแดงเลี้ยงดูจนกระทั่งฟังเป็นตัวอ่อน และตัวอ่อนจะได้รับการป้อนน้ำ ป้องอาหารตลอดเวลา หากได้รับอย่างเพียงพอจะเจริญเติบโตเป็นมดแดงอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลา 5-10 วัน มดแดงชอบสร้างรังบนต้นไม้ที่มีใบดกถาวรไม่ผลัดใบง่าย อยู่ใกล้กับแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่นริมลำธาร หนองน้ำหรือแอ่งน้ำตามธรรมชาติมดแดงจะสร้างรังอยู่อย่างหนาแน่นมากกว่าที่ไม่มีน้ำ เนื่องจากมดแดงต้องการน้ำมากเพื่อใช้ในการสร้างกรดมดบรรจุไว้ส่วนท้อง เพื่อนำไปใช้ในการดำรงชีวิต ต้นไม้ที่มดแดงชอบสร้างรัง เช่น ต้นมะม่วง สะเดา ต้นจิก ต้นไทร ต้นโพธิ์ ต้นกะบากและต้นขึ้เหล็ก เป็นต้น
อาหารของมดแดง มดแดงชอบอาหารที่แห้งสนิท เช่น ปลาแห้ง จิ้งจก ตุ๊กแก งูที่ตายแล้ว และที่ชอบเป็นพิเศษ คือ แมลงชนิดต่างๆ โดยจะคาบไปสะสมไว้ในรัง หากอาหารชิ้นใหญ่ที่ไม่สามารถจะคาบหรือลากไปเก็บไว้ในรังได้ มดแดงจะช่วยกันกัดและเยี่ยวราดเอาไว้เพื่อไม่ให้เน่าเหม็นได้และจะรอจนกว่าอาหารนั้นแห้ง จึงจะค่อยกัดเป็นชิ้นน้อย นำเอาไปเก็บไว้ในรังเพื่อป้อนตัวอ่อนและกินเป็นอาหาร จากการสังเกตพบว่า ในฤดูฝนมดแดงไม่ชอบเดินทางออกจากต้นไม้ที่มันสร้างรังอยู่ เนื่องจากพื้นดินเปียกแฉะ และในฤดูฝนมดแดงหาอาหารได้ไม่เพียงพอ หากจัดที่ให้น้ำและอาหารวางไว้บริเวณที่มดแดงอาศัยอยู่แล้ว มดแดงจะให้ไข่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นเทคนิคอย่างหนึ่งในการเลี้ยงมดแดง
ข้อควรระวังสำหรับผู้เลี้ยงมดแดง คือ เมื่อแหย่ไข่มดแดงมาปรุงอาหาร ควรปล่อยแม่มดแดง (แม่เป้ง) ให้หมด ไม่ควรนำมาคั่วหรือฆ่ามดแดง จะเป็นสาเหตุที่ทำให้มดแดงอพยพไปอยู่ที่อื่นจนหมด วิะีการแยกมดแดงออกจากไข่ของมัน ทำได้โดยใช้แห้งมันสำปะหลังโรยลงไปที่ไข่มดแดงแล้ว นำไปเทใส่ถาดเกลี่ยให้กระจายออก มดแดงจะไต่หนีไปจนหมดเหลือไว้แต่ไข่มดแดงเท่านั้น

วิธีการเลี้ยงมดแดง
1. กำจัดมดดำบริเวณต้นไม้ที่จะเลี้ยงมดแดงให้หมดโดยใช้สารเคมี เช่น เซฟริน 85% โรยรอบๆ ต้นก่อนเลี้ยงประมาณ 2-3 สัปดาห์
2. ใช้ไม้กระดานขนาดประมาณ 16x21 นิ้ว ทำเป็นแท่นให้อาหาร โดยตอกเป็นแป้นวางสูงจากพื้นดินประมาณ 1.5 เมตร เพื่อป้องกันศัตรู เช่น สุนัขขึ้นไปกินเศษอาหาร
3. หาภาชนะใส่น้ำให้มดแดงกินตลอดเวลา อาจเป็นขวดพลาสติกตัดครึ่ีง ใช้ตะปูตอกไว้กับต้นไม้ หรือวางไว้บนแป้นอาหารก็ได้ แล้วใส่ไม้ลงไปให้มดแดงไต่ไปกินน้ำ
4. ให้อาหาร เช่น เศษเนื้อสัตว์ต่างๆ ปลาแมลงทุกชนิด หอยเชอรี่ หรือหอยชนิดต่างๆ
5. ทำสะพานให้มดเดิน ในกรณีที่ต้นไม้ที่เลี้ยงมีหลายกิ่ง โดยมัดโยงจากกิ่งหนึ่งไปอีกกิ่งหนึ่ง
6. ถ้าต้นไม้ที่เลี้ยงยังไม่มีมดแดงก็ให้หามดแดงมาปล่อย
ประโยชน์ของมดแดง
1. ใช้เป็นอาหารได้จากไข่และตัวมดแดงเอง โดยทั่วไปที่ตัวมดแดงมีกรดมดให้รสเปรี้ยว ใช้แทนมะนาวหรือน้ำส้มสายชูได้
2. ใช้เป็นยา
- สูดดมแก้ลม แก้หวัด หน้ามืดตาลาย วิงเวียนศีรษะ โดยใช้ตัวมดแดง
- ใช้ลบรอยไฝ โดยใช้ตัวมดแดงกัดตรงไผให้มดแดงเยี่ยวใส่ ไฝจะบวบและเปื่อยละลายหลุดไปด้วยฤทธิ์ของกรดมดแดง
3. ใช้กำจัดศัตรูพืช
สำหรับพืชยืนต้นต่างๆ หรือสวนไม้ผล ถ้าหากว่ามีมดแดงอาศัยอยู่มาก จะไม่มีพวกเพลี้ย หนอนและแมลงอื่นๆ รบกวน ทำให้สวนไม้ผลติดลูกดก
สำหรับโทษของมดแดง หากถูกมดแดงกัดจะเจ็บ เยี่ยวมดแดงถ้าถูกตาจะปวดแสบปวดร้อน ถ้าถูกผ้าสีสดจะซีดและเป็นด่าง
สภาวะเศรษฐกิจเช่นปัจจุบัน การเลี้ยงมดแดงเพื่อใช้ในการป้องกันกำจัดศัตรูพืชแล้วยังสามารถนำมาบริโภคและจำหน่าย อันเป็นการช่วยเกษตรกร และยังปลอดภัยต่อผลผลิตทางการเกษตร ตัวเกษตรกรและสภาพแวดล้อมอีกด้วย