คำวิเศษณ์
คำวิเศษณ์ คือคำที่ทำหน้าที่ประกอบคำนาม, คำสรรพนาม, คำกริยา และคำวิเศษณ์ด้วยกันให้ได้ความชัดเจนยิ่งขึ้น ตัวอย่าง เช่น

๑. ประกอบคำนาม
๑) คน อ้วน เป็นเพื่อนกับคน ผอม
๒) โต๊ะ กลม ทาสี เหลือง
๓) คน ดี มีวาจา ไพเราะ

๒. ประกอบคำสรรพนาม
๑) ท่าน ทั้งหลาย อยากดูใคร บ้าง
๒) เขา ทั้งหมด จะมาหาเรา ทั้งสอง วันนี้
๓) เขาจะมีอะไร กี่มากก็น้อย

๓. ประกอบคำกริยา
๑) เขาพูด เพราะ
๒) ม้าวิ่ง เร็ว
๓) ผมมีปากกาด้ามเดียว ขอรับ

๔. ประกอบคำวิเศษณ์
๑) เขากินอาหาร จุ มาก (ประกอบ จุ)
๒) คนอ้วน ตุ๊ตะ วิ่งช้า (ประกอบ อ้วน)
๓) เขารักน้องมาก เหลือเกิน (ประกอบ มาก)

คำที่ใช้เป็นคำวิเศษณ์ มีอยู่ ๔ ประเภท คือ
๑. คำวิเศษณ์แท้ ได้แก่คำ ดี ชั่ว สูง ต่ำ ดำ ขาว ยาว สั้น ใหญ่ เล็ก ฯลฯ
๒. คำนาม ได้แก่คำนามที่ประกอบคำอื่น และทำหน้าที่เช่นเดียวกับคำวิเศษณ์ เช่น ไก่บ้าน ไก่ป่า ช้างบก ครูเด็ก ครูผู้ใหญ่ ฯลฯ
๓. คำกริยา ได้แก่คำกริยาที่ประกอบคำอื่นและทำหน้าที่เช่นเดียวกับคำวิเศษณ์ เช่น
๑) คน ซื้อ กับคน ขาย ต่างโต้เถียง
๒) คน ตาย ขาย คนเป็น
๓) คน ดู ร้องบอกคน เล่น ให้เล่นช้า ๆ
๔) คน กลึง ต้องพึ่งคน ชัก คน สลัก ต้องพึ่งคน เขียน
๔. วลี ได้แก่กลุ่มคำที่ประกอบคำอื่นและทำหน้าที่เช่นเดียวกับคำวิเศษณ์
๑) คน ขายผ้า ไม่กล้าเข้าใกล้คน ขายหมู
๒) เด็ก รักเรียน กับเด็ก เบื่อเรียน มักไม่สมาคมกัน
๓) คน ตัดผม จูงมือคน ตาบอด

ชนิดของคำวิเศษณ์
คำวิเศษณ์แบ่งออกเป็น ๑๐ ชนิด คือ
๑. ลักษณวิเศษณ์
คือคำวิเศษณ์ที่ประกอบบอกลักษณะต่าง ๆ เช่น บอกชนิด, สี, สัณฐาน, ขนาด, เสียง, อาการ, กลิ่น, รส, ความรู้สึก เป็นต้น เช่น ดี, ชั่ว, ขาว, ดำ, กลม, แบน, ใหญ่, เล็ก, โครม, เปรี้ยง, เร็ว, ช้า, หอม, เหม็น, เปรี้ยว, หวาน, ร้อน, เย็น ฯลฯ
คำนามและคำกริยาที่นำมาใช้เป็นคำวิเศษณ์ โดยมากเป็นลักษณวิเศษณ์ และคำวิเศษณ์ใด ๆ ที่จัดเข้าในคำวิเศษณ์ชนิดอื่น ๆ ไม่ได้ ต้องนับว่าเป็นลักษณวิเศษณ์ทั้งสิ้น

๒. กาลวิเศษณ์
คือคำวิเศษณ์ที่ประกอบคำบอกเวลา เช่น เช้า สาย บ่าย เที่ยง เย็น ค่ำ อดีต อนาคต ปัจจุบัน
ตัวอย่าง
๑) คน โบราณ ไม่ชอบทำงานเวลา กลางคืน
๒) เขา เดี๋ยวนี้ ไม่เหมือนกับเขา แต่ก่อน
๓) ฉันนอน ก่อน ฉันจึงตื่น เช้า
๔) คนดี เดี๋ยวนี้ ไม่เหมือนกับคนดี แต่ก่อน
ในประโยคที่หนึ่ง กาลวิเศษณ์ประกอบนาม, ประโยคที่ ๒ ประกอบสรรพนาม, ประโยคที่ ๓ ประกอบกริยา, ประโยคที่ ๔ ประกอบวิเศษณ์

๓. สถานวิเศษณ์
คือคำวิเศษณ์ที่ประกอบบอกสถานที่ เช่น บน ล่าง เหนือ ใต้ ใกล้ ไกล บก น้ำ บ้าน ป่า ฯลฯ

ตัวอย่าง
๑) เขาอยู่ บน ฉันอยู่ ล่าง ท่านอยู่ ห่าง เขาอยู่ ใกล้
๒) เขาเอาช้าง บ้าน ไปต่อช้าง ป่า
๓) ชาวประมงเอาสัตว์ บก ไปล่อสัตว์ น้ำ
๔) จากทิศ เหนือ เขาล่องเรือไปทิศ ใต้

คำวิเศษณ์ชนิดนี้ ถ้ามีคำถามหรือสรรพนามมารับข้างหลัง นับว่าเป็นคำบุพบท เช่น
๑) พระพุธรูปประดิษฐานอยู่ บน หิ้ง
๒) เขานั่ง ใกล้ ฉัน
๓) สุนัขนอน ใต้ ถุน
๔) หมอนวางอยู่ เหนือ หัว

๔. ประมาณวิเศษณ คือคำวิเศษณ์ที่ประกอบบอกจำนวน แบ่งออกเป็น ๒ ชนิดคือ
๑) บอกจำนวนนับ เช่น หนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า ที่หนึ่ง ที่สอง ที่สาม ที่สี่ ที่ห้า ฯลฯ จะใช้เป็นตัวเลข หรือตัวหนังสือก็ได้
๒) บอกจำนวนปริมาณ คือมิได้บอกชัดลงไปว่าเท่านั้นเท่านี้ เป็นแต่กำหนดว่ามากหรือน้อยซึ่งพอจะรู้ความหมายได้โดยปริมาณ เช่น มาก น้อย หลาย ทั้งหลาย จุ ทั้งปวง ทั้งหมด บรรดา คนละ สิ่งละ ต่าง บาง บ้าง กัน ฯลฯ เช่น
๑) บรรดา คนที่มา ล้วนแต่ กิน จุทั้งสิ้น
๒) ต่าง คน ต่าง ทำ กัน ไป คนละ อย่าง
๓) บาง คนก็ทำ บ้าง กิน บ้าง

๕. นิยมวิเศษณคือ คำวิเศษณ์ที่ประกอบบกความชี้เฉพาะ หรือจำกัดลงไปว่าเป็นเช่นนั้นเช่นนี้ หรือสิ่งนั้น สิ่งนี้ เช่น นี่ นั่น โน่น นี้ นั้น โน้น ทั้งนี้ ทั้งนั้น อย่างนี้ อย่างนั้น ดังนี้ ดังนั้น แท้ จริง เฉพาะ เอง ดอก แน่นอน ทีเดียว เทียว เจียว ฯลฯ
ตัวอย่าง
๑) เธอ นี่ ช่างรู้จักตานั่น เสียบ้างเลย
๒) ฉัน เอง ไม่ได้พูด ดังนั้น ดอก
๓) ฉันเรียนวิชา เฉพาะ ไม่ใช่วิชาทั่วไป
๔) คนคน นี้ พูด จริง ทำ จริง และมีใจ มั่นคง แน่นอน

๖. อนิยมวิเศษณคือ คำวิเศษณ์ที่ประกอบบอกความไม่ชี้เฉพาะ หรือจำกดลงไปว่าเป็นเช่นนั้น เช่นนี้ หรือ สิ่งนี้ สิ่งนั้น เช่น ใด ไร ไหน กี่ อะไร ทำไม ฉันใด เช่นไร ฯลฯ แต่พึงสังเกตว่า คำพวกนี้จะต้องไม่ใช้ในข้อความที่เป็นคำถามหรือสงสัยจะนับว่า เป็นอนิยมวิเศษณ์ถ้าใช้ในข้อความที่เป็นคำถาม หรือสงสัยจึงจะนับว่า เป็นอนิยมวิเศษณ์ ถ้าใช้ในข้อความที่เป็นคำถามหรือสงสัย เรียกว่า ปฤจฉาวิเศษณ์
ตัวอย่าง
๑) คน ใด จะชอบคน ไหน ก็ได้
๒) เขาอ่านหนังสือ อะไร เวลา ไร ได้ทั้งนั้น
๓) เขาจะมา กี่ คนฉันไม่ว่า และจะมา ทำไม ฉันก็ไม่รังเกียจ
๔) เขามาได้ ฉันใด ก็ขอให้เขากลับไปฉันนั้น

๗. ปฤจฉาวิเศษณ คือ คำวิเศษณ์ที่ประกอบเนื้อความที่เป็นคำถาม หรือความสงสัย เช่น ใด ไหน ไร กี่ อะไร ทำไม ฉันใด เช่นไร ไหม อันใด อย่างไร เท่าไร ไย หรือหนอ ฯลฯ
ตัวอย่าง
๑) สิง ใด อยู่ในตู้ ท่านรู้ ไหม ?
๒) ฉันจะทำ ฉันใด ดี ?
๓) ท่าน หรือ เป็นผู้เก็บนาฬิกาได้ ?
๔) เมื่อรู้เรื่องแล้ว ท่านจะพูดไป ไย ?
๕) อันว่าตัวกาลีนี้ หรือหนอ ?

๘.ประติชญาวิเศษณ คือ คำวิเศษณ์ที่ประบอกเสียงร้องเรียกและเสียงขานรับ เพื่อแสดงความสละสลวยของภาษา และแสดงความเป็นกันเองระหว่างผู้พูด เช่น จ๋า ขอรับ เว้ย โว้ย โวย และบรรดาคำขอรับที่กล่าวแล้วในคำวิเศษณ์ราชาศัพท์ทั้งสิ้น (ดูคำวิเศษณ์ราชาศัพท์ข้างหน้า)
ตัวอย่าง
๑) แดง จ๋า, มาหาพี่หน่อย.
๒) คุณแม่ ขอรับ, ผมกลับมาแล้ว ขอรับ.
๓) อ้ายโม่ง โวย, โวย.
๔) หนู จ๋า, จ๋า หนูจะไปไหน ? หนูจะไปตลาดจ้ะ .
๕) ดำโว้ย, จะไปเที่ยวด้วยกันไหม โว้ย.

๙. ประติเษธวิเศษณ์ คือ คำวิเศษณ์ที่ประกอบบอกความปฏิเสธ หรือไม่ยอมรับ เช่น ไม่, มิ ใช่, ไม่ใช่, มิใช่, บ, บ่, บ่มิ, บราง, ฤ, ฤา, มิได้, ไม่ได้, หาไม่, หา…ไม่, หามิได้, ไม่…มิได้, ไม่…หามิได้
คำประติเษธวิเศษณ์ จะปฏิเษธที่นาม สรรพนาม กริยา หรือ วิเศษณ์ ก็ได้
๑) เขา ไม่ ทำงาน ก็ มิ เป็นไร เพราะเขา ไม่ใช่ลูกจ้าง
๒) ร่างกายนี้ ใช่ สัตว์ ใช่ บุคคล ใช่ ตัวตนเราเขา
๓) ความประพฤติเช่นนั้น บมิ เป็นการที่ควรกระทำ
๔) บราง นาน (ไม่นาน) ธ ก็สำเร็จแก่อรหัตผล
๕) ของนอกกายเรานี้มีแล้ว หาไม่ เกิดขึ้นเสื่อมไป จะได้อยู่ยงคงทน หามิได้
๖) เขา ไม่ มา หามิได้
๗) ราคา ฤา เยา ฉวยเอา ฤ บังควร

๑๐. ประพันธวิเศษณ์ คือ คำวิเศษณ์ที่ประกอบคำกริยาหรือคำวิเศษณ์ เพื่อเชื่อมประโยคให้มีข้อความเกี่ยวข้องกัน เช่น ที่ ซึ่ง อัน อย่างที่ ชนิดที่ ให้ ว่า ที่ว่า คือ เพื่อ ให้ เพื่อว่า ฯลฯ
ตัวอย่าง
๑) เขาเป็นคนฉลาด ที่ ใครๆ ไม่กล้าถูกเขา
๒) เขาร้องเพลงไพเราะมาก ซึ่ง เมื่อฟังแล้ว จิตใจของฉันก็เคลิบเคลิ้มไปด้วย
๓) เขาไม่อาจพูดถ้อยคำใดๆ อัน จะทำให้ผู้อื่นเสียใจ
๔) เขาพูดจาหยาบคาย อย่างที่ สุภาพชนเข่าพูดกัน
๕) เขาดิน ชนิดที่ คนอื่นเดินตามเขาไม่ได้
๖) เขาพูด ให้ ฉันอาย
๗) ข่าวลือ ว่า แผ่นดินสูงขึ้นนั้นไม่จริง
๘) เรื่องร้าย ที่ว่า จีนตกน้ำตายเป็นความจริง
๙) เรื่องสำคัญ คือ นายดำรับของโจรมีมูล
๑๐) เขาพูด เพื่อให้ เด็กใช้ความพยายาม
๑๑) เขาเก็บเงินไว้ เพื่อว่า เขาจะได้เมื่อแก่

ความต่างกันระหว่างประพันธสรรพนามและประพันธวิเศษณ์
ประพันธสรรพนาม และประพันธวิเศษณ์ แม้จะใช้คำบางคำเหมือนกัน เช่น ที่ ซึ่ง อัน แต่มีข้อแตกต่างกัน ดังนี้

ประพันธสรรพนาม ทำหน้าที่
๑. ใช้แทนนามหรือสรรพนามที่อยู่ข้างหน้า
๒. ต้องเรียงไว้ใกล้ชิดติดต่อกับนาม หรือสรรพนามที่มันแทน
๓. เป็นประธานของกริยาที่ตามมาข้างหลัง (คือ ประธานของคุณานุประโยค)
๔. เป็นบทเชื่อมระหว่างมุขยประโยค กับคุณานานุประโยคซึ่งรวมเรียกว่าสังกรประโยค
๕. เป็นวิกัตการกของนาม หรือสรรพนามที่อยู่ข้างหน้า

ประพันธวิเศษณ์
๑. ประกอบคำกริยา หรือคำวิเศษณ์
๒. เป็นบทเชื่อมระหว่างมุขนประโยคกับวิเศษณ์ณานุประโยค ซึ่งรวมเรียก สังกรประโยค
๓. ต้องเรียงไว้ข้างหลังคำอื่น นอกจากคำนาม และสรรพนาม
หมายเหตุ : คำวิเศษณ์ นอกจากทำหน้าที่ประกอบนาม สรรพนาม กริยา วิเศษณ์ แล้วยังทำหน้าที่เป็น

อกรรมกริยาได้ด้วย เช่น
๑. คนที่ ดี จะต้องมีศีลธรรม
๒. เขาจะ ชั่ว มากหรือน้อยก็ตาม ของเราอย่าได้ดูถูกเขา
๓. เขาสูง มากกว่า ฉัน