ขยะอันตราย

วิชินพงศ์ สินชัยศรี

 ขยะอันตราย คือขยะที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อคนและสิ่งแวดล้อม ซึ่งแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ ขยะอันตราย
จากบ้านเรือน ได้แก่ ขยะที่ปนเปื้อนสารพิษ สารเคมี สามารถลุกติดไฟได้ มีฤทธิ์กัดกร่อนไวไฟ หรือสามารถระเบิดได้ เช่น ขวดยาฆ่าแมลง กระป๋องสเปรย์ หลอดไฟเก่า ถ่านไฟฉาย เป็นต้น  ส่วนประเภทที่ 2 คือ ขยะอันตรายจากสถานพยาบาล ซึ่งเรียกกันทางวิชาการว่า "ขยะติดเชื้อ" ซึ่ง ได้แก่ ขยะที่ปนเปื้อนเลือด หนอง เสมหะของเหลวจากร่างกายผู้ป่วย ผ้าทำแผล สำลี เข็มฉีดยา ขวดน้ำเกลือ ที่ใช้แล้วเป็นต้น

 สำนักคณะงานกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (เดิม) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2535 ได้ให้คำนิยาม “ของเสียที่เป็นอันตราย” ว่าหมายถึง สารหรือวัตถุที่ไม่ใช้หรือใช้ไม่ได้ ที่มีส่วนประกอบหรือเจือปนด้วยสารไวไฟ สารกัดกร่อน สารพิษ สารที่สามารถชะล้างได้ สารกัมมันตรังสี และ/หรือสิ่งที่ทำให้เกิดโรค ซึ่งเกิดจากกิจกรรมต่างๆ เช่น อุตสาหกรรม ชุมชน เกษตรกรรม การให้คำนิยามของสำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาตินี้อาจอิงมาจากนิยามของสหรัฐอเมริกา 

 คำนิยามที่มีกฎหมายรองรับ ได้แก่ คำนิยามของกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งใช้ในการควบคุมเฉพาะปัญหามลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม ตามประกาศกระทรวงอุตสาหรรมฉบับที่ 25 (พ.ศ.2531) ให้คำจำกัดความ “ของเสียอันตราย” ว่าเป็นวัสดุที่ไม่ได้ใช้แล้วที่มีคุณสมบัติเป็นสารไวไฟ กัดกร่อน เกิดปฏิกิริยาได้ง่าย มีสารพิษปะปน หรือมีตัวทำละลาย เสื่อมคุณภาพตามรายชื่อที่ระบุไว้ปนเปื้อน หรือกากตะกอนที่เกิดจากการผลิตหรือเกิดจากระบบบำบัดน้ำเสีย 

ที่มา : มัลลิกา ปัญญาคะโป.เอกสารประกอบวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม “ของเสียอันตราย”. คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร.2542.

 แหล่งกำเนิดและปริมาณของของเสียอันตราย ได้แก่สถานที่ต่างๆ เช่น เขตชุมชนบ้านเรือน ซึ่งส่วนมากจะมีขยะประเภทเศษอาหาร สารอนินทรีย์ ส่วนขยะอันตราย เช่น ถ่านไฟฉายที่หมดอายุการใช้งานแล้ว กระป๋องยาฆ่าแมลง ยารักษาโรคที่หมดอายุแล้ว หลอดไฟหมดอายุ โดยเฉพาะหลอดเรืองแสง ซึ่งมีการฉาบสารวาวแสง ซึ่งหากหลอดชำรุดจะทำให้สารนี้ออกมาเป็นอันตรายได้ แบตเตอรี่ที่หมดอายุ เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ชำรุด น้ำมันเครื่องเก่า น้ำยาล้างอัดรูป ในสถานพยาบาลจะมีพวกเข็ม กระบอกฉีดยา สำลี พลาสเตอร์ที่ใช้แล้ว สายยางน้ำเกลือและให้อาหาร สายสวนปัสสาวะอุจจาระ อัตราของเสียอันตรายจากโรงพยาบาลมีอัตราเฉลี่ย 0.65 กิโลกรัม / เตียง / วัน

 สถานที่ต่อไป คือโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งประกอบไปด้วยขยะอันตรายประเภท บรรจุภัณฑ์ของสารปราบศัตรูพืช และสารเคมีต่างๆ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ตะกอนก้นถังกลั่นน้ำยาเคมีต่างๆ ส่วนโรงงานที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ทางเกษตรกรรม จะมีพวกบรรจุภัณฑ์ยาปราบศัตรูพืชต่างๆ แต่นับได้ว่า โรงงานอุตสาหกรรม เป็นแหล่งกำเนิดขยะอันตรายมากที่สุด

 ของเสียต่างๆ เหล่านี้ มีผลที่ตามมา หากขาดการดูแลอย่างถูกต้อง หรือการกำจัดอย่างถูกสุขลักษณะอนามัย ก็จะก่อให้เกิดผลเสียต่างๆ เช่น การลุกติดไฟ หรือ การระเบิด เกิดไอสารพิษที่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต และเมื่อปนเปื้อนลงไปในแหล่งย้ำ ยิ่งก่ออันตรายอย่างมหันต์ต่อมนุษย์ที่ต้องใช้น้ำนั้นอุปโภคบริโภค

 ส่วนวิธีการที่จะกำจัดขยะอันตรายนั้น มีหลากหลายวิธีด้วยกัน แต่ขั้นตอนที่สำคัญที่สุด คือการทิ้ง ซึ่งสามารถทำได้ง่ายๆ โดยนำขยะอันตรายใส่ถุงขยะให้มิดชิด และนำไปทิ้งในถังขยะพิเศษซึ่งทางการจัดไว้ ให้สำหรับทิ้งขยะประเภทขยะอันตรายเท่านั้น ซึ่งการกำจัดในขั้นต่อไป จะเป็นหน้าที่ของรัฐบาลในหน่วยที่มีหน้าที่กำจัดขยะอันตรายโดยเฉพาะ

โพสต์เมื่อวัน อาทิตย์ ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2547 เวลา 12.45 น.