มดแดงแสดงกายกรรมต่อตัวสร้างรังเชื่อว่าผู้อ่านส่วนมากคงเคยเห็นรังมดแดงที่ห้อยติดอยู่ตามกิ่งไม้กันแล้ว ลักษณะของรังมดแดงเป็นการนำเอาใบไม้ 3 - 4 ใบมาห่อปิดเข้าด้วยกัน เบื้องหลังการสร้างนั้นน่าทึ่งทีเดียว เริ่มต้อนด้วยมดแดงจะไปอยู่ที่ปลายหรือขอบใบไม้แรก แล้วมันจะยืดตัวเพื่อไปเหนี่ยวใบที่อยู่ข้างเคียงให้มาประสานกัน ถ้าใบไม้นั้นอยู่ห่างเกินไป มันก็จะใช้วิธีต่อตัวเป็นลูกโซ่โดยมดตัวหลังจะใช้ปากยึดเกาะเอวมดตัวหน้าเพื่อต่อเป็นสะพานแล้วให้มดตัวอื่นเดินเหยียบตัวมันเพื่อสร้างความยาวของสะพานยื่นออกไปจนไปเกาะเกี่ยวใบไม้ที่ต้องการแนบชิดกันได้ จากนั้นมดงานที่เหลือจะคาบตัวอ่อนมา แล้วเดินไปตามรอยประสานของใบไม้ ตัวอ่อนจะปล่อยเส้นใยสีขาวขุ่นที่มีความเหนียวออกมา เหมือนเป็นกาวฉาบใบไม้ทั้งสองเข้าด้วยกัน เส้นใยของตัวอ่อนนี้ปกติจะใช้ในการสร้างปลอกหุ้มตัวระยะดักแด้ แต่ตัวอ่อนมดแดงถูกใช้เพื่อการทำรัง ดังนั้น ระยะดักแด้ของมดแดงจึงไม่มีเสนใยพอในการสร้างปลอกดักแด้ จากความซับซ้อนในการสร้างรังของมดแดงนี้เป็นผลให้มันกลายเป็นแมลงสังคมที่มีความหลากหลายและประสบความสำเร็จในการดำรงชีพมากที่สุดในโลกเขตร้อน |