ป่าเพื่อการอนุรักษ์ .. คือ .. อะไร


ภาพน้ำตก
            มีคนกล่าวถึงป่าอนุรักษ์กันมากโดยเฉพาะในช่วงที่มีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชน แต่ส่วนใหญ่มักจะคิดว่าป่าอนุรักษ์มีเพียง อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หรือพื้นที่ต้นน้ำลำธาร ซึ่งความจริงแล้ว ป่าอนุรักษ์ตามความหมายที่กรมป่าไม้กำหนดนั้นหมายถึง ป่าที่รัฐได้กำหนดไว้เพื่อการแนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม อันได้แก่ ดิน น้ำ ป่าไม้ พันธุ์พืช และพันธุ์สัตว์ ซึ่งมีความหมายมากกว่าที่กล่าวถึงข้างต้น

        พื้นที่ป่าเพื่อการอนุรักษ์นั้นตามที่กรมป่าไม้กำหนด แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ

        1.   ป่าอนุรักษ์ตามกฎหมาย  อันได้แก่ อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า

        2.   ป่าเพื่อการอนุรักษ์ตามมติคณะรัฐมนตรี เป็นป่าที่คณะรัฐมนตรีกำหนดให้เป็นพื้นที่ต้นน้ำชั้น 1 ป่าชายเลนเขตอนุรักษ์ และป่าที่คณะรัฐมนตรีกำหนดให้เป็นป่าอนุรักษ์เพิ่มเติม

        3.  ป่าเพื่อการอนุรักษ์ตามนโยบาย ได้แก่ พื้นที่ป่าที่กรมป่าไม้จัดให้เป็น วนอุทยานแห่งชาติ  สวนรุกขชาติ  สวนพฤษศาสตร์ เป็นต้น

อุทยานแห่งชาติ (National Park)

        พื้นที่ซึ่งรัฐบาลเห็นว่ามีสภาพธรรมชาติเป็นที่น่าสนใจสมควรสงวนเป็นพิเศษ เพื่อรักษาสภาพธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้คงสภาพเดิมถาวรตลอดไป เพื่อประโยชน์ทางการศึกษาและนันทนาการ การจะเป็นประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติได้ ต้องประกาศในพระราชกฤษฎีกา มีแผนที่แสดงแนวเขตแห่งบริเวณที่กำหนดนั้นแนบท้ายพระราชกฤฏีกา และที่ดินที่จะกำหนดให้เป็นอุทยานแห่งชาติต้องเป็นที่ดินที่มิได้อยู่ในกรรมสิทธิ์ หรือครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายของบุคคลใดซึ่งมิใช่ทบวงการเมือง

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า (Wildlife Sanctuary)

        คือพื้นที่กำหนดขึ้นเพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าโดยปลอดภัย เพื่อว่าสัตว์ในพื้นที่ดังกล่าวจะได้มีโอกาสสืบพันธุ์ และขยายพันธุ์ตามธรรมชาติได้มากขึ้นทำให้สัตว์ป่าบางส่วนได้มีโอกาสกระจายจำนวนออกไปในท้องที่แห่งอื่น ๆ ที่อยู่ใกล้เคียงกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า

เขตห้ามล่าสัตว์ป่า (Non-hunting Area)

        คือบริเวณสถานที่ที่ใช้ในราชการ หรือใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ ปรือประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้กำหนด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ โดยกำหนดให้เป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าชนิดหรือประเภทใดก็ได้ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1

       คือพื้นที่ภายในลุ่มน้ำที่ควรจะต้องสงวนรักษาไว้เป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธาร โดยเฉพาะเนื่องจากมีลักษณะและคุณสมบัติที่อาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินได้ง่ายและรุนแรง ไม่ว่าพื้นที่นั้นจะมีป่า หรือไม่มีป่าปกคลุมก็ตาม ซึ่งในพื้นที่นี่มิควรมีการใช้ประโยชน์พื้นที่ที่ทำลายสภาพธรรมชาติที่มีอยู่ การใช้ที่ดิน หรือพัฒนาที่ดินที่มีอยู่ จึงต้องมีมาตรการควบคุมเป็นพิเศษ

พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 2

        คือพื้นที่ภายในลุ่มน้ำซึ่งโดยลักษณะทั่วไปมีคุณภาพเหมาะสมต่อการเป็นต้นน้ำ ลำธาร ในระดับรองลงมา และสามารถนำมาใช้ประโยขน์ได้ ในการปลูกพืขเพื่อการเกษตรกรรม ทำไร่

พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 3

        คือพื้นที่ภายในลุ่มน้ำซึ่งโดยทั่วไปสามารถใช้ประโยชน์ได้ ในการปลูกพืชเพื่อการเกษตรกรรมปลูกไม้ยืนต้น

พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 4

        คือพื้นที่ภายในลุ่มน้ำซึ่งสภาพป่าได้ถูกบุกรุกทำลายเป็นพื้นที่เพื่อการเกษตรกรรม ทำไร่

พื้นที่ลุ่มชั้นที่ 5

        คือพื้นที่ภายในลุ่มน้ำซึ่งมีลักษณะโดยทั่วไปเป็นที่ราบ หรือที่ลุ่ม หรือเนินเอียงเล็กน้อย และส่วนใหญ่ป่าได้ถูกทำลายเพื่อประโยชน์ด้านเกษตรกรรมไปหมดแล้ว

        การกำหนดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำดังกล่าวข้างต้นนั้นกำหนดขึ้นจาก สภาพภูมิประเทศ ระดับความลาดชัน ความสูงจากระดับน้ำทะเล ลักษณะทางธรณีวิทยา ลักษณะทางปฐพีวิทยา และสภาพป่าที่ปรากฏอยู่ซึ่งทำให้ปัจจุบันคณะอนุกรรมการทางวิชาการของคณะกรรมการอุทกวิทยาแห่งชาติ ได้แบ่งลุ่มน้ำของประเทศออกเป็น 25 ลุ่มน้ำหลัก ได้แก่ ลุ่มน้ำสาละวิน ลุ่มน้ำปิง ลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำน่าน ลุ่มน้ำแม่กก ลุ่มน้ำโขง 1 และ 2   ลุ่มน้ำมูล ลุ่มน้ำชี  ลุ่มน้ำจ้าพระยา  ลุ่มน้ำสะแกกรัง  ลุ่มน้ำป่าสัก  ลุ่มน้ำท่าจีน  ลุ่มน้ำปราจีนบุรี  ลุ่มน้ำบางประกง  ลุ่มน้ำโตนทะเล  ลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก  ลุ่มน้ำแม่กลอง  ลุ่มน้ำเพชรบุรี  ลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันตก  ลุ่มภาคใต้ฝั่งตะวันออก  ลุ่มน้ำตาปี  ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา  ลุ่มน้ำปัตตานี  ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันตก
ป่า<wbr>สน<wbr><wbr>
 ป่าชายเลนเขตอนุรักษ์

        พื้นที่ป่าชายเลนที่ห้ามมิให้มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ นอกจากปล่อยให้เป็นธรรมชาติเพื่อรักษาไว้ซึ่งสภาพและระบบนิเวศ ได้แก่พื้นที่แหล่งรักษาพันธุ์พืชและสัตว์น้ำที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ แหล่งเพาะพันธุ์และสัตว์น้ำ พื้นที่ที่ง่ายต่อการถูกทำลาย และการพังทลายของดิน พื้นที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี พื้นที่ที่ควรสงวนไว้สำหรับแนวกันลม  ป้องกันคลื่นและกระแสน้ำ พื้นที่ป่าที่เหมาะสมต่อการสงวนไว้เพื่อเป็นที่สถานที่ศึกษาวิจัย พื้นที่ที่ควรสงวนไว้เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศ และพื้นที่ที่อยู่ห่างไม่น้อยกว่า 20 เมตรจากริมฝั่งน้ำลำคลองธรรมชาติและไม่น้อยกว่า 75 เมตรจากชายฝั่งทะเล

วนอุทยาน (Forest Park)

        คือพื้นที่ขนาดเล็กจัดตั้งเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ มีความสำคัญในระดับท้องถิ่น จุดเด่นอาจได้แก่น้ำตก หุบเหว หน้าผา ถ้ำหรือหาดทราย

สวนพฤษศาสตร์

        คือสวนที่รวบรวมพันธุ์ไม้ทั้งสดและแห้ง และแสดงถิ่นที่กำเนิดของพรรณพืชเพื่อเป็นแหล่งศึกษาทางพฤษศาสตร์ ศึกษาความแตกต่างของชนิดพันธุ์ สภาพทางสรีรวิทยา การเจริญเติบโต การแพร่กระจาย การอนุรักษ์ การใช้ประโยชน์ ฯลฯ โดยในสวนพฤษศาสตร์จะจัดปลูกพันธุ์ไม้ต่าง ๆ โดยในสวนพฤษศาสตร์จะจัดปลูกพันธุ์ไม้ต่าง ๆ ทั้งของไทยและของต่างประเทศให้เป็นหมวดหมู่ตามหลักสากล และตามหลักวิชาการทางพฤษศาสตร์ให้ดูสวยงาม และเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ

สวนรุกขชาติ

        คือแหล่งรวมพันธุ์ไม้ของท้องถิ่นที่มีค่า โดยจัดปลูกให้มีความสวยงาม เพื่อเป็นสถานที่ศึกษาด้านพันธุ์ไม้สำหรับประชาชน และเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ

        จะเห็นได้ว่าพื้นที่ป่าเพื่อการอนุรักษ์ หรือที่เรามักจะเรียกกันติดปากว่าป่าอนุรักษ์จากการกำหนดของกรมป่าไม้นั้นมีมากกว่าที่เราคิด อย่างไรก็ตามในความเป็นจริงนั้นพื้นที่ป่าอนุรักษ์หลายแห่ง ได้มีการใช้ประโยชน์ของชุมชนมาช้านาน และหลายชุมชนมีวัฒนธรรมใช้ป่าที่มิได้มุ่งเพื่อการทำลายป่าให้หมดไป แต่เป็นการใช้ประโยชน์ที่ไม่มีผลกระทบหรือมีผลกระทบต่อป่าน้อยที่สุด ดังนั้นการใช้พลังชุมชนเพื่อการแก้ไขปัญหาป่าเสื่อมโทรมของประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ป่าอนุรักษ์อาจเป็นทางเลือกหนึ่งที่รัฐควรให้ความสนใจ และพิจารณาแนวทางที่เหมาะสมต่อไป



ที่มา : รวบรวมจาก รณกร  ตีรกานนท์ ข่าวสารป่ากับชุมชน