เปิดคอลัมน์รอบตัวด้วยเรื่องของผลิตภัณฑ์สินค้าที่ยิ่งนับวันก็ยิ่งเข้ามาใกล้ตัวมากขึ้น เราจะพบเห็นสินค้าต่างๆ หันมาบรรจุใส่กระป๋องสเปรย์กันมากขึ้น เพราะให้ความสะดวกสบายในการใช้ได้มากกว่า ผู้ใช้เพียงแต่กด หัวฉีดก็ได้ใช้ของที่ต้องการ ไม่หกเลอะเทอะ แถมยังช่วยประหยัดเพราะฉีดพ่นได้ทีละน้อย มีการกระจายตัว จึงเป็นที่ถูกอกถูกใจของผู้ใช้อย่างเรา ๆ จนต้องยอมเสียเงินซื้อผลิตภัณฑ์ สเปรย์เหล่านี้เข้ามาใช้แทนที่จะต้อง ซื้อผลิตภัณฑ์เดียวกันที่ต้องเทออกมาใช้เอง
ผลิตภัณฑ์สเปรย์ที่เราเห็นขายกันตามท้องตลาดนั้นจะมีสองแบบ คือ แบบที่อาศัยหลักการของกาลักน้ำธรรมดา ผลิตภัณฑ์พวกนี้มักจะมีน้ำเป็นตัวทำละลาย มีความหนืดและความหนาแน่นต่ำ ได้แก่ สเปรย์ฉีดผ้าบางชนิด น้ำยาฉีดกระจก ฯลฯ สเปรย์พวกนี้มักจะเติมผลิตภัณฑ์เข้าไปใหม่ได้ สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีความหนืดและความ หนาแน่นมาก ๆ เช่น สี จะไม่สามารถอาศัยหลักการของกาลักน้ำ จึงต้องอาศัยสารช่วยการฉีดพ่น (Propellant) ซึ่งจะทำหน้าที่ช่วยอัดหรือช ่วยดันสารผลิตภัณฑ์ออกจากหัวฉีด สารช่วยฉีดพ่นนี้ให้สภาวะปกติ มักจะมีสถานะเป็นก๊าซแต่ถูกอัดให้เป็นของเหลว หรือเพิ่มความดันเข้าไปอยู่ในกระป๋องสเปรย์รวมกับ ผลิตภัณฑ์ เมื่อกดหัวฉีดซึ่งจะทำให้เกิดช่องว่างขึ้นในท่อฉีด สารช่วยพ่นจะขยายตัวดันสารผลิตภัณฑ์ให้ออกมา จากหัวฉีดในลักษณะเป็นฝอยละเอียด
เนื่องจากต้องมีการอัดความดันสารช่วยการฉีดพ่นในกระป๋องสเปรย์ดังนั้น กระป๋องสเปรย์ประเภทนี้จึงต้องมี ความแข็งแรงเพื่อสามารถทนแรงอัดได้ จึงมักทำจากโลหะพวกเหล็กแผ่น อะลูมิเนียมหรือแก้ว เป็นต้น สาร ช่วยการฉีดพ่นที่เคยใช้กันมานั้นมีหลายชนิด แต่ที่ใช้กันมากและแพร่หลายที่สุด คือ สารประเภทฟลูออโร คาร์บอน หรือที่เรียกว่า สาร CFC ที่ใช้มากได้แก่ CCl3F (ไตรคลอโรฟลูออโรมีเทน) และ CCl2F2 (ไดคลอโรฟลูออโรมีเทน) ซึ่งเป็นสารที่ใช้กันในเครื่องทำความเย็นนั่นเอง แต่ต่อมาพบว่า สารเหล่านี้มีผลต่อ บรรยากาศของโลก อันเนื่องมาจากสมบัติเฉื่อย ไม่ชอบทำปฏิกิริยา สารเหล่านี้จึงเสถียรและลอยขึ้นสู่ชั้น บรรยากาศและทำลายชั้นโอโซน ซึ่งเป็นตัวช่วยกั้นรังสีอัลตราไวโอเลตไม่ให้ส่องผ่านมายังโลกมากเกินไป เมื่อมี การใช้สาร CFC กันมาก จะทำให้โอโซนในชั้นบรรยากาศบางลง และรังสีอัลตราไวโอเลตส่องผ่านมายังโลกได้ มากขึ้น ทำให้เกิดอันตรายต่อผิวหนังคนและเป็นตัวการหนึ่งที่ทำให้โลกของเราร้อนขึ้น ปัจจุบันจึงมีความ พยายาม คิดค้นหาวิธีที่มีความปลอดภัยมากขึ้นซึ่งแนวทางก็มี 2 ทางคือ การหาสารใหม่เพื่อทดแทนสาร CFC หรือ การพยายามหาวิธีการที่ทำให้สาร CFC เหล่านี้มีความเสถียรน้อยลง กล่าวคือ ให้สลายตัวก่อนที่จะลอย ไปถึงชั้นโอโซน อย่างไรก็ตาม แนวทางการแก้ไขทั้งสองแบบยังคงต้องการเวลาเพื่อทำการคิดค้นและทดลอง ในช่วงเวลาใกล้ ๆ นี้บริษัทผู้ผลิตใหญ่ ๆ บางรายจึงหันกลับไปมองสารที่เคยใช้กันมาก่อน เพื่อทดแทน CFC สารต่าง ๆ เหล่านั้นได้แก่

สารประเภทไฮโดรคาร์บอน
สารในกลุ่มนี้ที่นิยมใช้กันคือ บิวเทน และ โพรเทน โดยทั่วไปสารพวกนี้จะราคาถูกกว่าสาร CFC แต่มีข้อเสียคือ สามารถติดไฟได้ โดยทั่วไปจึงต้องใช้บิวเทนและโพรเพนผสมกับ CFC เพื่อลดอันตรายที่อาจเกิดขึ้น

สารเมทิลีน คลอไรด์
สารเมทิลีน คลอไดร์ (CH2Cl2) ตัวนี้ปัจจุบันนิยมใช้กันมากขึ้น แต่มักใช้แทนไตรคลอไร ฟลูออโรมีเทน

ก๊าซอัดความดัน
ก๊าญที่ใช้ได้แก่ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ (NO) หรือส่วนผสมของก๊าซทั้งสอง และก๊าซไนโตรเจน (N2) การใช้ก๊าซอัดความดันในกระป๋องสเปรย์โดยทั่วไปมีข้อเสียคือ เมื่อใช้ไปนาน ๆ ความดันในกระป๋องสเปรย์จะลดลงผลก็คือ การฉีดพ่นของสารผลิตภัณฑ์จะอ่อนลงเมื่ใช้ไปนาน ๆ และใน การฉีดพ่นนั้นต้องไม่ตะแคงหรือคว่ำกระป๋อง เพราะจะฉีดสารไม่ออก เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การเลือกใช้ก๊าซ CO2 และ NO จะช่วยลดข้อด้อยของการใช้ก๊าซอัดความดันได้มาก ทั้งนี้เนื่องจากก๊าซทั้งสองจะสามารถละลาย ในตัวทำละลายได้ดี แต่สำหรับก๊าซ N2 ซึ่งละลายได้น้อยมากนั้นจะเหมาะสำหรับการใช้กับสารที่มีความหนืด มาก ๆ เช่น ยาสีฟัน เป็นต้น
สารต่าง ๆ เหล่านี้แม้สามารถใช้แทน CFC ได้แต่ก็มีข้อจำกัด เราจึงยังต้องพบเห็นและใช้ผลิตภัณฑ์สเปรย์ที่ ใช้ CFC กันอยู่มาก ในการใช้จึงต้องควรใช้แต่น้อย หรือใช้เฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น

กระป๋องสเปรย์ต่าง ๆ แม้มีความน่าใช้แต่ก็ยังมีข้อควรระวังอยู่มาก เช่น ต้องเก็บในที่เย็นไม่ใกล้เปลวไฟ หรือ แสงแดดอ่อน เพราะถ้าอุณหภูมิของกระป๋องสเปรย์เพิ่มมากขึ้น จะทำให้ความดันภายในเพิ่มขึ้นมาก และถ้า กระป๋องสเปรย์แข็งแรงไม่พอจะเกิดการรั่วซึม ตลอดจนเกิดการระเบิดจนทำให้ข้าวของเสียหาย ที่สำคัญถ้าใช้ สารช่วยการฉีดพ่นเป็นพวกสารติดไฟ อาจทำให้เกิดการติดไฟและไฟไหม้บ้านได้ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ เรา ต้องคำนึงถึง เพื่อที่จะสามารถใช้ของต่าง ๆ รอบตัวให้ได้ดี มีประสิทธิภาพ ตลอดจนปลอดภัยทั้งต่อ ตนเอง และผู้อื่น

เอกสารอ้างอิง
Chalmers, Louis. Chemical Specialities, Domestics and Industrial: Vol.2. 2 d ed. George Godwin, 1978.

เอื้อเฟื้อข้อมูลโดย: สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)