Bromine
(Br)
โบรมีน

เลขอะตอม 35 ธาตุที่ 3 ของหมู่ VIIA ในตารางธาตุ จัดเป็นอโลหะ
น้ำหนักอะตอม 79.905 amu
จุดหลอมเหลว - 7.25 ํc
จุดเดือด (โดยประมาณ) 58.8 ํc
ความหนาแน่น 3.1226 ที่ 20 ํc
เลขออกซิเดชันสามัญ - 1, + 1, + 3, + 5

การค้นพบ

A.J. Balard ในฝรั่งเศส และ C. Lowing ในเยอรมันต่างวิจัยและค้นพบธาตุนี้ในเวลาไล่เลี่ยกันในปี ค.ศ. 1826

Balard เสนอให้เรียกชื่อธาตุที่เขาค้นพบว่า "muride" ต่อสมาคมวิทยาศาสตร์ของฝรั่งเศส (French Academy of Science) แต่สมาคมกลับเสนอให้ใช้ชื่อ "brome" จากภาษากรีก "bromos" แปลว่าเหม็น เพราะกลิ่นของโบรมีนนั่นเอง

การใช้ประโยชน์

1. ประมาณร้อยละ 95 ของ Br2 ที่ผลิตได้ทั้งหมด ใช้ในการเตรียม ethylene bromide และ 1,2-dibromoethane (หรือ ethylene dibromide) เพื่อใช้เป็นสารเติมใส่น้ำมัน แก๊สโซลีน ทำให้แก๊สโซลีนมีเลขออกเทนสูงขึ้น (ใช้ควบคู่กับเตตระเอทิลเลด)
2. ใช้เป็นสารตั้งต้นในการเตรียมสารเคมีทั้งสารอินทรีย์และอนินทรีย์ที่มี Br เป็นองค์ประกอบ
3. โบรมีนส่วนหนึ่งขายในรูปของของเหลว ใช้เป็นน้ำยาในการวิเคราะห์และการสังเคราะห์
4. ใช้ในอุตสาหกรรมย้อมและฟอกสี
5. อื่น ๆ เช่น ตัวทำละลาย ใช้ในการดับเพลิง พลาสติกส์ เภสัชภัณฑ์ น้ำยาถ่ายรูป ฯลฯ

ความเป็นพิษ

เป็นพิษอย่างแรงทั้งในรูปของของเหลวและไอ ไอทำให้แสบตา คัน หลอดลมและเยื่อจมูกอักเสบ ระดับความทนได้ในไอโบรมีนคือ 1 ppm โบรมีนในรูปของของเหลวเมื่อสัมผัสกับผิวหนังเกิดอาการคัน ไหม้ และเน่าได้ เวลาใช้โบรมีนจึงต้องใช้ความระมัดระวังมาก ๆ
ผู้เขียน : ดร.ชัยวัฒน์ เจนวาณิชย์
ที่มา : รวบรวมจาก หนังสือสารานุกรมธาตุ