ต่อไปนี้เป็นเทคนิคการทำความสะอาดเครื่องแก้วบางชนิด และสารละลายที่ใช้ทำความสะอาดเครื่องแก้ว ตามลำดับ
1. การทำความสะอาดเครื่องแก้วที่ใช้วัดปริมาตร มีเทคนิคดังนี้
1) ในกรณีที่เครื่องแก้วน้ำทำความสะอาดได้ยาก เช่น ปิเปตต์ขนาดเล็ก ให้ล้างด้วยสารละลายสารซักฟอกหรือสารละลายทำความสะอาดแล้วล้างด้วยน้ำกลั่นประมาณ 3 ครั้ง เพื่อกำจัดสารละลายที่ติดอยู่ในเครื่องแก้วนั้น
2) ตั้งเครื่องแก้วทิ้งไว้ให้แห้งที่อุณหภูมิห้อง อย่านำใส่ในเตาอบที่ร้อน
3) ลักษณะผิวของเครื่องแก้วที่เปียกน้ำจะดูเรียบเมื่อเครื่องแก้วนั้นสะอาด แต่ถ้ามีลักษณะเป็นหยดน้ำแสดงว่ายังสกปรกต้องนำไปล้างใหม่ ซึ่งอาจล้างด้วยสารละลายสารซักฟอกที่ร้อนหรือสารละลายทำความสะอาด แล้วล้างด้วยน้ำกลั่นหลาย ๆ ครั้ง ตั้งทิ้งไว้ให้แห้ง
1.1 การทำความสะอาดปิเปตต์ปิเปตต์สามารถล้างด้วยสารละลายผงซักฟอกที่อุ่นหรือสารละลายทำความสะอาด โดยใส่สารละลายนี้ในปิเปตต์ประมาณ 1/3 ของปิเปตต์ค่อย ๆ เอียงปิเปตต์จนเกือบจะอยู่ในแนวราบ แล้วหมุนปิเปตต์ไปมา เพื่อให้สารละลายเปียกไปทั่วพื้นผิวด้านในของปิเปตต์ปล่อยให้สารละลายไหลออกทางปลายปิเปตต์ล้างด้วยน้ำกลั่นหลาย ๆ ครั้งจนแน่ใจว่าสะอาด (อาจทำซ้ำหากไม่แน่ใจว่าสะอาดดีแล้ว)
1.2 การทำความสะอาดบิวเรตต์ ปกติทำความสะอาดด้วยสารซักฟอกโดยใช้แรงก้านยาว ถ้าล้างด้วยน้ำกลั่นแล้วยังไม่สะอาด (สังเกตน้ำที่เกาะติดอยู่ในบิวเรตต์) ก็นำไปล้างด้วยสารละลายทำความสะอาดอีกครั้งหนึ่ง ตั้งทิ้งไว้ประมาณ 10-15 นาที ปล่อยให้สารละลายไหลออกทางปลายบิวเรตต์ นำไปล้างน้ำและล้างด้วยน้ำกลั่น ถ้าเห็นว่ายังไม่สะอาดก็ควรทำซ้ำ
หลังจากนำบิวเรตต์ไปใช้แล้ว จาระบีอาจมาอุดที่ปลายบิวเรตต์ได้ จำเป็นจะต้องกำจัดออกไปโดยใช้ลวดที่มีขนาดพอเหมาะกับรูของบิวเรตต์แทงเข้าไปเพื่อทำให้จาระบีที่อุดอยู่แตกออก แล้วล้างด้วยน้ำทำความสะอาด การทำความสะอาดปลายบิวเรตต์อาจใช้วิธีการข้างล่างนี้ก็ได้คือ
1) ให้ความร้อนที่ปลายบิวเรตต์อย่างระมัดระวัง โดยใช้ไฟจากก้านไม้ขีด เมื่อจาระบีร้อนจนถึงจุดหลอมเหลว (อาจต้องใช้ไม้ขีดหลายก้านถ้าจำเป็น) ใช้แรงดันของน้ำหรืออากาศ (ปล่อยให้ลงมาจากส่วนบนของบิวเรตต์) ผลักดันให้จาระบีที่หลอมเหลวไหลออกมา

2) เข็ดเขม่าที่ปลายบิวเรตต์ออกให้หมดก่อนที่จะนำไปใช้
ข้อควรระวัง
1. ขนาดของลวดที่ใช้แทงเข้าไปทางปลายบิวเรตต์เพื่อทำให้จาระบีหลุดออกมานั้นต้องมีขนาดเหมาะสมและไม่ใหญ่เกินไป เพราะจะทำให้ปลายบิวเรตต์แตกได้
2. การให้ความร้อนที่ปลายบิวเรตต์ต้องทำด้วยความระมัดระวัง มิฉะนั้นปลายบิวเรตต์อาจแตกได้
3. การถือปิเปตต์และบิวเรตต์ต้องระมัดระวังให้มาก เพราะเป็นอุปกรณ์เครื่องแก้วที่มี ก้านยาว และยาวกว่าที่เราคิด ดังนั้นจึงมักจะพบว่าปลายบิวเรตต์แตกหรือหักเสมอ

2. สารละลายที่ใช้ทำความสะอาดเครื่องแก้ว เมื่อเราไม่สามารถล้างเครื่องแก้ว ให้สะอาด ได้ด้วยสบู่ หรือสารซักฟอก ก็ต้องนำมาล้างด้วยสารละลายทำความสะอาด ซึ่งมีหลายชนิดดังต่อไปนี้
2.1 สารละลายทำความสะอาดไดโครเมต-กรดซัลฟิวริก สารละลายทำความสะอาดชนิดนี้เตรียมได้จากการละลาย Na2Cr2O7 2H2O (โซเดียมไดโครเมต) 92 กรัมในน้ำกลั่น 458 มล. (อาจใช้โพแทสเซียมไดโครเมต ก็ได้แก่อำนาจการละลายน้อยกว่า โซเดียมไดโครเมต) ค่อย ๆ เติม H2SO4 เข้มข้น 800 มล. คนด้วยแท่งแก้ว จะเห็นว่ามีความร้อนเกิดขึ้นมากและสารละลายเปลี่ยนเป็นสารครึ่งแข็งครึ่งเหลวสีแดง เมื่อล้างเครื่องแก้วด้วยสารซักฟอกแล้ว ให้เทสารละลายไดโครเมตนี้ลงไปเล็กน้อย ให้ไหลไปทั่วพื้นผิวของเครื่องแก้ว แล้วล้างด้วยน้ำและน้ำกลั่นจนแน่ใจว่าสะอาด
2.2 สารละลายทำความสะอาดกรดไนทริกเจือจาง ใช้ทำความสะอาดฝ้าซึ่งอยู่ด้านในฟลาสหรือขวดหรืออุปกรณ์ที่เป็นเครื่องแก้วต่าง ๆ โดยเทกรดไนทริกอย่างเจือจางลงไป ให้พื้นผิวของเครื่องแก้วเหล่านั้นเปียกชุ่มด้วยกรดไนทริกแล้วล้างด้วยน้ำและน้ำกลั่นหลาย ๆ ครั้ง
2.3 สารละลายทำความสะอาดกรดกัดทอง กรดกัดทองเป็นสารละลายผสมระหว่างกรดเกลือและกรดไนทริกเข้มข้น ในอัตราส่วน 3:1 โดยปริมาตร ตามลำดับ สารละลายทำความสะอาดชนิดนี้มีอำนาจสูงมาก แต่เป็นอันตรายเพราะมีอำนาจในการกัดกร่อนสูง การนำมาใช้จึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ
2.4 สารละลายทำความสะอาดโพแทสเซียมหรือโซเดียมไฮดรอกไซด์ในแอลกอฮอล์ สารละลายทำความสะอาดชนิดนี้เตรียมได้โดยละลาย NaOH 120 กรัม หรือ KOH 150 กรัมในน้ำ 120 มล. แล้วเติมเอทานอล 95% เพื่อทำให้มีปริมาตรเป็น 1 ลิตร
สารละลายทำความสะอาดชนิดนี้เป็นสารละลายทำความสะอาดที่ดีมาก เพราะไม่กัดกร่อนเครื่องแก้ว และเหมาะสำหรับกำจัดวัตถุที่มีลักษณะเหมือนถ่าน
2.5 สารละลายทำความสะอาดไตรโซเดียมฟอสเฟต สารละลายชนิดนี้เตรียมโดยละลาย Na3PO4 57 กรัมและโซเดียมโอลีเอต 28.5 กรัม ในน้ำ 470 มล. เหมาะสำหรับกำจัดสารพวกคาร์บอน ถ้าให้เครื่องแก้วเปียกสารละลายนี้แล้วใช้แปรงถูจะสะอาดได้ง่า
ข้อควรระวัง การเตรียมและการถือสารละลายทำความสะอาดต้องทำด้วยความระมัดระวัง อย่าให้ถูกเสื้อผ้าหรือผิวหนัง

คัดลอกจาก : หนังสือเทคนิคทางเคมี โดยรองศาสตราจารย์ประเสริฐ ศรีไพโรจน์ สำนักพิมพ์ประกายพรึก 2538 หน้า 46-48