การระเหยของเหลวหรือสารละลายก็เพื่อทำให้ตัวทำละลายระเหยออกไปในที่สุดตัวละลายก็จะตกผลึก จึงอาจกล่าวได้ว่าการระเหยเป็นการลดปริมาตรของของเหลวให้น้อยลงโดยการไล่สารที่ระเหยได้ง่ายกว่าออกไปจากสารละลาย เทคนิคการระเหยของเหลวหรือสารละลาย มีหลายวิธีจะขอกล่าวตามลำดับดังนี้

วิธีที่ 1 ทำดังนี้
1. เทของเหลวหรือสารละลายลงบนกระจกนาฬิกาแล้วบางบนปากปีกเกอร์ที่บรรจุน้ำอยู่
2. ต้มน้ำให้เดือด ความร้อนจากไอน้ำจะถ่ายเทไปทำให้ตัวทำละลายระเหยออกไปจากตัวละลาย

วิธีที่ 2 ทำดังนี้
ใช้ชามระเหยแทนกระจกนาฬิกาซึ่งมีเทคนิควิธีการเช่นเดียวกัน สำหรับชามระเหยที่ใช้นี้มีหลายขนาด และทำจากวัสดุแตกต่างกัน ผู้ทดลองจะต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมกับปริมาตรของสารละลายด้วย
การระเหยของเหลวโดยใช้ชามระเหยนี้นอกจากจะระเหยบนเครื่องอังน้ำแล้วอาจให้ความร้อนโดยตรงที่ชามระเหยก็ได้ โดยนำชามระเหยตั้งบนตะแกรงลวดและใช้ความร้อนจากตะเกียงบุนเสน
ข้อควรระวัง
1. ถ้าของเหลวที่นำมาระเหยนั้นเป็นสารติดไฟง่าย เช่น คาร์บอนไดซัลไฟด์ อีเทอร์ แอซีโตน ฯลฯ จะระเหยโดยใช้ความร้อนจากเปลวไฟโดยตรงไม่ได้ เพราะอาจเกิดอุบัติเหตุไฟไหม้ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหานี้ การระเหยของเหลวที่มีลักษณะดังกล่าวควรระเหยด้วยเตาไฟฟ้า หรือถ้าเป็นของเหลวที่ระเหยได้ในอุณหภูมิธรรมดา เช่น คาร์บอนไดซัลไฟด์ ก็นำไปตั้งทิ้งไว้ในตู้ควันโดยไม่ต้องใช้ความร้อน
2. ถ้าไอของของเหลวหรือสารละลายที่ระเหยนั้นเป็นก๊าซพิษต้องทำในตู้ควัน

คัดลอกจาก : หนังสือเทคนิคทางเคมี โดยรองศาสตราจารย์ประเสริฐ ศรีไพโรจน์ สำนักพิมพ์ประกายพรึก 2538 หน้า 62-63