ตะเกียงบุนเซนเป็นตะเกียงก๊าซที่ใช้ในห้องปฏิบัติการทั่วไปเมื่อต้องการอุณหภูมิที่สูงพอประมาณ ตะเกียงบุนเซนสามารถปรับปริมาณของอากาศได้แต่ไม่มีที่ปรับปริมาณของก๊าซเชื้อเพลิง ตะเกียงบุนเซนมีส่วนประกอบดังต่อไปนี้
1. ฐานของตะเกียง
2. ท่อตัวตะเกียง
3. ช่องทางเข้าของก๊าซซึ่งเป็นท่อที่ยื่นจากฐานของตะเกียง
4. ช่องปรับปริมาณของอากาศที่โดนท่อตัวตะเกียง

ข้อปฏิบัติในการใช้ตะเกียงบุนเซนมีดังต่อไปนี้
1. สวมปลายสายยางข้างหนึ่งกับท่อโลหะที่ยื่นออกมาจากฐานตะเกียง ส่วนปลายอีกข้างหนึ่งของสายยางต่อกับท่อก๊าซเชื้อเพลิง
2. ปิดช่องทางเข้าของอากาศที่ฐานของตะเกียงให้สนิท
3. จุดไม้ขีดไฟหรือที่จุดไฟ (lighter) รอไว้ที่หัวตะเกียง แล้วเปิดก๊าซเชื้อเพลิงเข้ามาในตะเกียงจะได้เปลวไฟใหญ่สีเหลือง (luminous flame) หลังจากนั้นค่อยๆ เปิดช่องทางเข้าของอากาศที่ฐานของตะเกียงแล้วปรับให้ได้เปลวไฟไม่มีสี (non-luminous flame) ซึ่งเป็นเปลวไฟที่ให้ความร้อนสูงที่สุด
หมายเหตุ ถ้าเปลวไฟดับหรือมีเหตุการณ์อย่างอื่นเกิดขึ้น ต้องปิดก๊อกก๊าซเชื้อเพลิงทันทีแล้วเริ่มจุดตะเกียงตามขั้นตอน 1 , 2 และ 3 การใช้ตะเกียงบุนเซนไม่ว่ากรณีใดๆ ต้องใช้เปลวไฟที่ไม่มีสีเสมอ ยกเว้นการทดลองที่ระบุให้ใช้เปลวไฟสีเหลืองเท่านั้น
4. หลังจากใช้ตะเกียงบุนเซนเสร็จแล้วให้ทำการดับตะเกียงโดยการลดปริมาณของก๊าซที่เข้ามาในตะเกียงให้น้อยลงและโดยการปรับก๊อกก๊าซจนกระทั่งเปลวไฟที่หัวตะเกียงเลื่อนมาเกิดที่ฐานตะเกียง แล้วทำการปิดก๊อกก๊าซทันที

ข้อควรระวัง
1. การสวมสายยางกับท่อก๊าซของตะเกียงหรือท่อก๊าซเชื้องเพลิงที่โต๊ะปฏิบัติการต้องสวมให้แน่น หากสายยางหลุดขณะใช้ตะเกียงไฟอาจจะลุกไหม้ได้
2. การจุดไม้ขีดไฟไปรอไว้ที่หัวตะเกียงก่อนที่จะเปิดก๊าซ อย่าใช้วิธีหย่อนไม้ขีดไฟจากระยะสูงเหนือตะเกียง เพราะจะทำให้ก๊าซที่ออกจากตะเกียงติดไฟในระดับสูงซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายได้
3. สีและขนาดของเปลวไฟขึ้นอยู่กับอัตราส่วนของอากาศกับก๊าซเชื้อเพลิงที่เข้าทางฐานของตะเกียงมีดังต่อไปนี้
3.1 ถ้าปริมาณของก๊าซเชื้อเพลิงถูกปล่อยให้เข้าตะเกียงมากกว่าปริมาณของอากาศที่เข้ามาในตะเกียง เปลวไฟที่ได้จะเต้นและดับ หรือเปลวไฟที่ได้จะไม่สม่ำเสมอหรือมีช่องว่างระหว่างเปลวไฟกับหัวตะเกียง


3.2 ถ้าปริมาณของก๊าซเชื้อเพลิงถูกปล่อยให้เข้าตะเกียงน้อยกว่าปริมาณของอากาศที่เข้ามาในตะเกียง เปลวไฟจะเกิดขึ้นที่ช่องทางที่ก๊าซจะเข้ามาในตัวตะเกียงในส่วนของฐานภายในของตะเกียง การที่เปลวไฟเกิดขึ้นภายในตะเกียงนี้เรียกว่าเปลวไฟสะท้อนกลับ (Stock back) ซึ่งถ้าเกิดขึ้นนานๆ จะทำให้ตะเกียงร้อนจัดเป็นเหตุให้โลหะตรงช่องทางเข้าของก๊าซเชื้อเพลิงในตะเกียงหลอมเหลวและทำให้เชื่อมปิดทางเข้าไปในตัวตะเกียงของก๊าซเชื้อเพลิง สายยางอาจละลายและลุกเป็นไฟ และทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO)ที่เป็นก๊าซพิษอีกด้วย เมื่อเกิดเปลวไฟสะท้อนกลับ จะต้องทำการปิดก๊อกก๊าซให้เปลวไฟดับทันที
3.3 ถ้าปริมาณของก๊าซเชื้อเพลิงถูกปล่อยให้เข้าตะเกียงมากกว่าปริมาณของอากาศที่เข้ามาในตะเกียงโดยไม่ได้เปิดช่องทางให้อากาศเข้ามาในตะเกียงหรือเปิดเพียงเล็กน้อย จะได้เปลวไฟสีเหลืองซึ่งเป็นเปลวไฟที่ไม่เหมาะที่จะใช้ในการทดลองเพราะอุณหภูมิของเปลวไฟไม่สูงพอทำให้มีเขม่าจับอุกรณ์ที่ใช้ทดลอง และทำให้ตะแกรงลวดผุเร็วกว่าปกติ เนื่องจากคาร์บอนในเปลวไฟทำปฏิกิริยากับเหล็กทำให้เกิดสารประกอบพวกคาร์ไบด
3.4 ถ้าปริมาณของก๊าซเชื้อเพลิงถูกปล่อยให้เข้าตะเกียงมีอัตราส่วนเหมาะสมกับปริมาณของอากาศที่เข้ามาในตะเกียง เปลวไฟที่ได้จะไม่มีสีและมีอุณหภูมิที่สูง


เรียบเรียงจาก : 1. หนังสือเทคนิคทางเคมี โดยรองศาสตราจารย์ประเสริฐ ศรีไพโรจน์ สำนักพิมพ์ประกายพรึก 2538
2. หนังสือปฏิบัติการเคมีทั่วไป โดยเสรี ไตรรัตน์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 2520