ธรรมชาติของปลาวาฬ

ถึงแม้ว่าช้างจะเป็นสัตว์บกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกก็ตาม แต่ช้างก็ยังมีขนาดตัวเล็กเมื่อเปรียบเทียบกับปลาวาฬ เพราะสถิติปลาวาฬพันธุ์ Balaenoptera ที่มีลำตัวยาวที่สุดในโลกนั้น ยาวถึง 34 เมตร และหนัก 190 ตัน ซึ่งคิดเทียบได้กับช้าง 10 ตัว แม้แต่ไดโนเสาร์เองซึ่งคนบางคนคิดว่าใหญ่กว่าปลาวาฬก็ยังหาได้ใหญ่เท่าไม่ ทั้งนี้เพราะความยาวของไดโนเสาร์ส่วนใหญ่อยู่ที่คอและหาง ส่วนที่เป็นลำตัวจริงๆ จึงยาวน้อยกว่าปลาวาฬ

มนุษย์รู้จักปลาวาฬมานานแสนนานแล้ว Aristotle นักปราชญ์ชาติกรีกในสมัยพุทธกาลได้เคยหลงผิดคิดว่าปลาวาฬเป็นปลา และความหลงผิดนี้ได้ติดตามมาจนกระทั่งปี พ.ศ. 2236 John Ray นักชีววิทยาชาวอังกฤษก็ได้เป็นบุคคลแรกที่ตระหนักความจริงว่าปลาวาฬมิใช่ปลาแต่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เพราะมันออกลูกเป็นตัวและเลี้ยงลูกอ่อนของมันด้วยนมตามปกติปลาวาฬจะตั้งครรภ์นาน 1 ปี และเวลาคลอดลูกส่วนหางของลูกจะโผล่ออกมาก่อนลูกปลาวาฬสีน้ำเงิน (blue whale) ที่คลอดใหม่ๆ มีลำตัวยาวประมาณ 6 เมตร และหนักประมาณ 2 ตัน และเนื่องจากนมปลาวาฬมีโปรตีนและไขมันสูง ลูกปลาวาฬจึงเจริญเติบโตเร็ว นักชีววิทยายังได้สังเกตเห็นอีกว่า หากเราเจาะครรภ์ปลาวาฬก่อนคลอดลูก เราจะพบว่าลูกปลาวาฬในท้องมีขนตามตัว แต่ขนเหล่านี้ได้หลุดจากร่างของตัวอ่อนไปก่อนที่มันจะถูกคลอดออกมา

เมื่อดูเผินๆ ปลาวาฬมีลำตัวที่ดูคล้ายตอร์ปิโดหรือในทางตรงกันข้าม ตอร์ปิโดก็ดูคล้ายปลาวาฬ มันมีศรีษะใหญ่ ไม่มีคอ ตาของมันมีขนาดเล็ก รูจมูกของมันอยู่บนหลัง มันหายใจได้เช่นคนโดยผ่านรูจมูก 2 รู ตามธรรมดาปลาวาฬชอบกินสัตว์น้ำ เช่น กุ้ง ปลาหมึก แมวน้ำ และปลาต่างๆ เป็นอาหาร เวลาว่ายน้ำมันใช้หางโบกขึ้นลงๆ ทำให้ว่ายน้ำได้เร็ว โดยเฉาะปลาวาฬพิฆาต (Orcunus orca) นั้นสามารถว่ายน้ำได้เร็วถึง 56 กิโลเมตร/ชั่วโมง ส่วนความสามารถด้านการดำน้ำลึกนั้น นักชีววิทยาได้สังเกตเห็นว่า ปลาวาฬสีน้ำเงิน (Physeter catadon) ดำน้ำได้ลึกถึง 3 กิโลเมตร การดำน้ำได้ลึกเช่นนี้ แสดงให้เห็นว่าปลาวาฬสามารถกลั้นลมปราณได้นานเป็นชั่วโมงและออกซิเจนมิได้อยู่ที่ปอดของมันเพียงแห่งเดียวแต่อยู่ในส่วนที่เป็นกล้ามเนื้อด้วย การมีออกซิเจนในตัวมากเช่นนี้ ทำให้เนื้อปลาวาฬมีสีแดงเข้มจัดกว่าเนื้อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นๆ

การสังเกตของ A.R. Martin แห่ง Sea Mammal Research Unit ของ Natural Environment Research Council ในประเทศอังกฤษเมื่อเร็วๆ นี้ ได้รายงานว่าหลังจากได้ติดตั้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับส่งสัญญาณบนหลังปลาวาฬแล้วเขาใช้ดาวเทียมรับและวิเคราะห์สัญญาณจากปลาวาฬ ผลการศึกษาข้อมูลทำให้เขารู้ว่า ปลาวาฬตัวผู้เวลาอพยพจากทะเล Beaufort ไปยังเกาะ Melville มันต้องว่ายน้ำผ่านทวีปที่มีน้ำแข็งปกคลุม เมื่อมันว่ายเหนือน้ำไม่ได้ มันก็ต้องดำน้ำไป โดยการลอดใต้ก้อนน้ำแข็งมากมาย และในการดำน้ำ มันจะดำในแนวเฉียงลึกลงไปเป็นกิโลเมตรแล้วจึงหวนกลับ ขึ้นผิวน้ำเพื่อหายใจอีก มันจะดำน้ำลักษณะตัว V เช่นนี้เพราะที่ระดับลึกมากๆ ปลาวาฬมีโอกาสเห็นช่องว่างระหว่างภูเขาน้ำแข็งในทะเลได้ง่าย ซึ่งบริเวณช่องว่างนี้จะเป็นบริเวณที่มันสามารถโผล่หัวขึ้นมาหายใจได้ หากมันต้องการ

นอกจากความสามารถในการดำน้ำแล้ว ปลาวาฬยังสามารถส่งเสียง และทำเสียงสัญญาณต่างๆ ได้อีกมากด้วยและนับตั้งแต่วินาทีที่มันถูกคลอดออกจากท้องของแม่มัน จนกระทั่งถึงวินาทีสุดท้ายก่อนที่มันจะตายมันจะส่งเสียงและรับเสียงต่างๆ ตลอดเวลาทั้งกลางวันและกลางคืน หรือในยามมันออกหาล่ามันก็จะส่งคลื่นเสียงออกไปกระทบตัวเหยื่อก่อน จากนั้นมันจะคอยฟังคลื่นที่สะท้อนจากเหยื่อ ข้อมูลที่ได้จะบอกมันให้รู้ชนิดและตำแหน่งของเหยื่อ และถึงแม้ปลาวาฬจะไม่มีคอและไม่มีสายเสียงก็ตาม แต่มันก็สามารถส่งเสียงร้องออกไปได้ไกลๆ เสียงของปลาวาฬบางพันธุ์ ดังพอๆ กับเครื่องบินเจ็ต นักชีววิทยายังได้สังเกตเห็นอีกว่าเวลาปลาวาฬสนทนากัน มันจะส่งเสียงร้องลักษณะหนึ่งแต่เวลามันจะฆ่าเหยื่อมันจะร้องอื้ออึงอีกแบบหนึ่งหรือเวลาที่มันว่ายน้ำเป็นกลุ่ม มันจะส่งเสียงร้องที่มีทำนองต่างออกไป เพื่อบอกเพื่อนปลาร่วมทะเลให้รู้ทิศและตำแหน่งที่มันกำลังว่ายน้ำอยู่ปลาวาฬจะส่งเสียงร้องเป็นจังหวะ เช่น ปลาวาฬสีน้ำเงินเวลาอพยพย้ายถิ่น จะส่งเสียงร้องนาน 20 วินาที สลับกับการว่ายน้ำเงียบ 20 วินาที

ปัจจุบันนักอนุรักษ์ปลาวาฬใช้ข้อมูลเสียงของปลาวาฬในการบอกจำนวน ชนิดและกิจกรรมต่างๆ ที่ปลาวาฬกระทำ เพราะข้อมูลเสียงนี้ชัดเจน แม่นยำ และถูกต้องยิ่งกว่าการสังเกตดูปลาวาฬด้วยตาจากระยะไกลๆ

ปัญหาหนึ่ง ที่นักชีววิทยาสนใจมาก คือบรรพบุรุษของปลาวาฬคือสัตว์อะไร ในช่วงระยะเวลา 150 ปีที่ผ่านมานี้ นักชีววิทยาที่เชี่ยวชาญด้านสัตว์ดึกดำบรรพ์ได้ขุดพบหลักฐานมากมายที่แสดงให้เห็นว่าในอดีตเมื่อ 65 - 75 ล้านปีมาแล้วบรรพสัตว์ของปลาวาฬได้เคยอาศัยอยู่บนบกและเคยเดินได้ หลักฐานหนึ่งที่พบในหุบเขา Zeuglodon ในประเทศ อียิปต์ แสดงให้เห็นซากกะโหลกปลาวาฬที่มีฟันเป็นซี่ๆ มีลำตัวยาว 12 เมตรและมีกระดูกขาหลังที่เล็กมากซึ่งอยู่ค่อนไปทางหางกระดูกขาที่เล็กมาของปลาวาฬพันธุ์ Basilosaususisis ที่มีอายุประมาณ 40 ล้านปีนี้ แสดงให้เห็นว่าปลาวาฬยุคนั้นยังเดินไม่ได้

แต่ในปี พ.ศ. 2535 นั่นเอง H.Thewissen แห่งมหาวิทยาลัย Ohio ได้รายงานในวารสาร Science ว่าเขาได้ขุดพบกระดูกของปลาวาฬ Ambulocetusnatans อายุ 52 ล้านปี ในบริเวณภูเขา Kala Chitta ทางตอนเหนือของประเทศปากีสถานโครงกระดูกที่ค่อนข้างสมบูรณ์นี้ประกอบด้วยกะโหลกที่มีฟัน ซี่โครงกระดูกขา 4 ขา หน้า หลัง และหาง Thewissen คาดคะเนว่าปลาวาฬเจ้าของซากกระดูกนี้มีลำตัวยาว 3 เมตร และหนักประมาณ 300 กิโลกรัม กระดูกขาหน้าที่สั้นและอยู่ติดกับลำตัวนั้น แสดงให้เห็นว่ามันใช้ขาหน้าในการเคลื่อนที่บนบก โดยการขยับตัวยกอกแล้วลากท้องไปตามพื้นดินเหมือนสิงโตทะเลส่วนขาหลังนั้นหดเล็ก และยาวเพียง 4 นิ้วเท่านั้นเอง การมีโครงสร้างร่างกายเช่นนี้ ทำให้มันเป็นสัตว์บกที่งุ่มง่ามมาก การหาอาหารเลี้ยงปากท้องจึงเป็นไปอย่างยากลำบาก แต่เมื่อมันอยู่ในน้ำ มันได้พบว่ามันสามารถว่ายน้ำได้อย่างคล่องแคล่ว อาหารที่มันบริโภคจึงมักเป็นอาหารที่มันหาได้ในทะเล ดังนั้น ต้นตระกูลของปลาวาฬจึงได้ตัดสินใจอพยพจากบกลงทะเลอย่างถาวร เมื่อ 50 ล้านปีมานี้เอง และดำรงชีวิตเป็นสัตว์น้ำอย่างไม่หวนกลับขึ้นบกอีกเลย ซึ่งพฤติกรรมนี้แตกต่างจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ เช่น แมวน้ำ และตัว walrus ที่เวลาจะคลอดลูก มันจะขึ้นจากทะเล

ประวัติศาสตร์ได้บันทึกว่า ในอดีตเมื่อ 1,000 ปีก่อนนี้ ชนเผ่า Basque ในยุโรปเป็นชนเผ่าแรกที่ดำรงชีวิตโดยการจับปลาวาฬมาเป็นอาหาร ต่อมาในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 16 ชาวแคนาดา อังกฤษ และเนเธอร์แลนด์ ก็ได้เริ่มเข้ามาประกอบอาชีพเป็นนักล่าปลาวาฬด้วย เรือ Mayflower ที่เคยใช้บรรทุกผู้โดยสารจากยุโรป สู่อเมริกาก็เคยเป็นเรือล่าปลาวาฬ และกิจกรรมล่าปลาวาฬได้มีการดำเนินการกันอย่างกว้างขวางและจริงจัง เพราะมนุษย์พบว่าแทบทุกส่วนของปลาวาฬมีประโยชน์ เช่น ไขใช้ทำสบู่ น้ำมันหล่อลื่น เชื้อเพลิงจุดตะเกียง เนื้อใช้บริโภคและกระดูกปลาวาฬใช้ทำเป็นปุ๋ย

ทุกวันนี้ปลาวาฬกำลังถูกไล่ล่าฆ่ามากมายปลาวาฬบางตัวได้รับเสียงรบกวนจากเรือ จากเครื่องยนต์ในทะเลหรือจากการทดลองทางวิทยาศาสตร์ เมื่อมีการสำรวจพบในปี พ.ศ.2509 ว่า จำนวนประชากรปลาวาฬกำลังร่อยหรอคือเหลือเพียง 12,000 ตัว เท่านั้นเองปลาวาฬ ก็ได้รับการประกาศว่าเป็นสัตว์ที่โลกควรอนุรักษ์ตั้งแต่นั้นมา

ในวารสาร Proceedings of the National Academy of Sciences ฉบับเดือนมีนาคม พ.ศ. 2541 H. Caswell แห่ง Woods Hole Oceanographic Institution ในสหรัฐอเมริกาได้รายงานการสำรวจปลาวาฬ right whale ในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือว่า หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงปลาวาฬนี้จะสูญพันธุ์ ในอีก 200 ปีข้างหน้า เขาได้ข้อมูลนี้จากการเริ่มถ่ายภาพปลาวาฬพันธุ์ right whale ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523 และได้คำนวณพบว่าอัตราการอยู่รอดของปลาวาฬพันธุ์นี้ได้ลดน้อยลงในทุกปี โดยในปี พ.ศ. 2523 นั้น เขาได้พบว่า จำนวนประชากรของปลาวาฬได้เพิ่มขึ้น 5.3% แต่หลังจากนั้น จำนวนก็ได้ลดลง 2.4% ทุกปี และเขาได้พบสาเหตุสำคัญทำให้โลกต้องสูญเสียปลาวาฬมากที่สุดว่า เกิดจากการที่ปลาวาฬถูกเรือชน และเมื่ออัตราการเกิดลด เพราะปลาวาฬผสมพันธุ์กันในตระกูลเดียวกัน และมลภาวะของทะเลมีมากขึ้นทุกวัน จำนวนปลาวาฬจึงได้ลดลงทุกปี

Caswell ได้เสนอแนะให้รัฐบาลสหรัฐฯ ออกกฎหมายแก้ไขสาเหตุเหล่านี้ ซึ่งรัฐบาลสหรัฐฯ ก็เห็นด้วย โดยได้ออกกฎหมายบังคับให้เรือทุกลำที่จะแล่นเข้าน่านน้ำ New England และ Florida ติดต่อยามฝั่งขอข้อมูลตำแหน่งปลาวาฬครั้งล่าสุดแล้วครับ

โดย ดร.สุทัศน์ ยกส้าน สสวท.