การแยกลักษณะของพลังงาน

ในทางทฤษฎีเรากล่าวได้ว่าพลังงานใดๆ ก็ตามสามารถจัดเข้าอยู่ในรูปหนึ่งรูปใดใน 2 รูป คือ พลังงานจลน์และพลังงานศักย์) นั้นได้
แต่ในทางปฏิบัติแล้ว เราแยกเรียกชื่อพลังงานออกเป็น 6 ชื่อด้วยกันตามลักษณะที่เห็นได้ชัดเจน ซึ่งได้แก่
1. พลังงานเคมี (chemical encrgy)
2. พลังงานความร้อน (heat energy)
3. พลังงานกล (mechanical energy)
4. พลังงานไฟฟ้า (electrical energy)
5. พลังงานจากการแผ่รังสี (radiant nergy)
6. พลังงานนิวเคลียร์ (nuclear energy)
1. พลังงานเคมี
เกิดขึ้นเมื่อเกิดปฏิกิริยาเคมี ถ้าขณะที่เกิดปฏิกิริยาเคมีนั้นมีความร้อนเกิดขึ้นเรามีชื่อเรียกปฏิกิริยาเช่นนี้ว่า เอกโซเทอร์มิค (exothermic) และในทางตรงกันข้ามเรียก เอนโดเทอร์มิค (endothermic) ถ้าขณะที่เกิดปฏิกิริยาความร้อนหายไปนั่นคือเย็นลงกว่าปกติหรือต้องการความร้อนช่วยในปฏิกิริยานั้น ๆ
2. พลังงานความร้อน
ได้จากวัตถุที่มีอุณหภูมิสูงแต่มิใช่ว่าพลังงานความร้อนขึ้นอยู่กับอุณหภูมิเพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับมวล หรือปริมาณเนื้อสารด้วย ทั้งนี้เป็นเพราะอะตอมและโมเลกุลของสารใด ๆ ก็ตามไม่เคยอยู่นิ่งสนิท มีการเคลื่อนไหวเร็วบ้างช้าบ้างตลอดเวลา ถ้าเคลื่อนไหวเร็ว พลังงานจลน์สูง อุณหภูมิของวัตถุก็สูงตามไปด้วย และถ้ามีอะตอมเป็นจำนวนมากพลังงานที่มีอยู่ก็มาก นั่นคือถ้ามวลมากพลังงานมากด้วยนั่นเอง
3. พลังงานกล
หมายถึงพลังงานที่ได้จากเครื่องกล เช่น เครื่องจักรไอน้ำ เครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันต่าง ๆ หรือเครื่องยนต์ดีเซลเป็นต้น จากการศึกษาอย่างละเอียดเราจะพบว่าพลังงานกลจากเครื่องกลนี้เป็นการแปรรูปมาจากพลังงานความร้อน และนอกจากนั้นความฝืดหรือความเสียดทาน (friction) ในเครื่องกลแต่ละชนิดจะก่อให้เกิดความร้อน ซึ่งเป็นเหตุให้ประสิทธิภาพ (efficiency) ของเครื่องกลตกต่ำ วิศวกรจึงต้องพยายามหาทางลดความเสียดทานของเครื่องกลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ
4. พลังงานไฟฟ้า
หมายถึง พลังงานที่ได้จากปฏิกิริยาเคมีแบบหนึ่งอันมีผลให้เกิดกระแสไฟฟ้าขึ้นได้ และกระแสไฟฟ้าที่เกิดขึ้นนี้จะไหลผ่านความต้านทานไฟฟ้าได้ถ้าต่อให้เป็นวงจร ผลจากกระแสไฟฟ้าดังกล่าวอาจทำให้เกิดผลต่าง ๆ กันดังเช่น ก่อให้เกิดอำนาจแม่เหล็ก เกิดความร้อนหรือแสงสว่างเป็นต้น
5. พลังงานจากการแผ่รังสี
หมายถึง พลังงานที่มากับคลื่นวิทยุ คลื่นแสง หรือคลื่นความร้อน ดังเช่นรังสีจากดวงอาทิตย์ให้ทั้งความร้อนและแสงสว่างร่วมกัน อาจสรุปได้ว่าเป็นพลังงานจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้านั้นเอง
6. พลังงานนิวเคลียร์
การเกิด fusion ของนิวเคลียสเล็ก มีหลักอยู่ว่า ถ้านำเอาธาตุเบาๆ ตั้งแต่ 2 ธาตุขึ้นไป มารวมกันโดยมีพลังงานความร้อนอย่างสูงเข้าช่วย จะทำให้ธาตุเบานี้รวมกัน กลายเป็นธาตุใหม่ ซึ่งหนักกว่าเดิม
และfission เกิดจากปฏิกิริยาระหว่างการยิงอนุภาคบางชนิดกับนิวเคลียสของธาตุหนักๆ ทำให้นิวเคลียสของธาตุหนักแตกแยกออกเป็น2 ส่วน ซึ่งแต่ละส่วนเป็นธาตุที่เบากว่าเดิม และขนาดเกือบเท่ากัน
ที่มา : ตำราเรียนวิทยาศาสตร์ทั่วไป.