ผลกระทบของ พรบ. การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานต่ออุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศ
และการออกแบบระบบปรับอากาศในอาคารขนาดใหญ่

ผลกระทบของพรบ.
การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานต่อ อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและการออกแบบระบบปรับอากาศในอาคารขนาดใหญ่ อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและการออกแบบระบบปรับอากาศในอาคารขนาดใหญ่ จะต้องได้รับผลกระทบจากพรบ.ฉบับนี้ไม่มากก็น้อย อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศขนาดเล็กในประเทศคงจะต้องตระเตรียมลู่ทางในการปรับปรุงประสิทธิภาพของเครื่องปรับอากาศให้สูงขึ้น การออกแบบอาคารและระบบปรับอากาศในอาคารขนาดใหญ่ คงต้องมีการมองถึงการประหยัดพลังงานกันอย่างจริงจัง
ความเป็นมาของพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน
การสนับสนุนให้มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในระดับสูงอย่างต่อเนื่องนั้นย่อมทำให้การขยายตัวของการใช้พลังงานสูงตามไปด้วย ดังนั้นการจัดการด้านการใช้พลังงานจึงเข้ามามีบทบาทสำคัญยิ่งต่อระบบพลังงานและต้องดำเนินการควบคู่กันไปกับด้านการจัดหาพลังงาน โดยต้องมีการตรวจสอบและส่งเสริมให้ผู้ใช้ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและประหยัด อันจะส่งผลให้เกิดการอนุรักษ์พลังงาน การเพิ่มประสิทธิภาพในการพัฒนาระบบการผลิตและการบริการ การลดปัญหาการขาดดุลการค้าและการเงิน อันเนื่องมาจากการนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศ และที่สำคัญเป็นการลดปัญหาต่อเนื่องจากการขยายตัวของการใช้พลังงาน เช่นปัญหาสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมและอื่น ๆ ที่ตามมาอีกด้วย
แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 7 (2535-2539)
รัฐยังคงตระหนักถึงความสำคัญของการประหยัดพลังงานอย่างต่อเนื่อง โดยกำหนดมาตรการต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและประหยัด โดยมีเป้าหมายของการประหยัดพลังงานในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 7 ดังนี้
1. รักษาการใช้ระดับพลังงานเชิงพาณิชย์ของประเทศ โดยส่วนรวมให้เพิ่มขึ้นในอัตราเฉลี่ยไม่เกินร้อยละ 10 ต่อปี ในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 7
2. รักษาสัดส่วนการพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศให้อยู่ในระดับไม่เกินร้อยละ 60 ในปี 2539
3. ลดการใช้พลังงานจากมาตรการการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า 4,500 จิกกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี ในปีสุดท้ายของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 7
เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายดังกล่าวกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานจึงได้กำหนดแผนงานอนุรักษ์พลังงานในด้านต่าง ๆ ดังนี้
แผนการดำเนินการต่อเนื่อง โดยจะมีการดำเนินงานตามกิจกรรมต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้วต่อไป อาทิให้บริการตรวจวิเคราะห์และแนะนำการใช้พลังงานในโรงงานอุตสาหกรรม อาคารธุรกิจขนาดใหญ่และอาคารของหน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจรวมปีละ 460 แห่ง รวมทั้งติดตามประเมินผลการประหยัดพลังงานในโรงงานและอาคารปีละ 720 แห่ง เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ความรู้ในการอนุรักษ์พลังงานในรูปของสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ การสัมมนา และนิทรรศการ
แผนงานศึกษาวิจัยด้านประหยัดพลังงาน เพื่อวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี อุปกรณ์หรือเครื่องใช้พลังงานประสิทธิภาพสูงสุดโดยมีเป้าหมายที่จะนำเทคโนโลยีที่ได้จากการวิจัยเหล่านี้ไปเผยแพร่ให้มีการผลิตและจำหน่ายในท้องตลาดอย่างแพร่หลาย อาทิการศึกษาระบบ Cogeneration ในโรงงานอุตสาหกรรมการศึกษาเกณฑ์การใช้พลังงานของเครื่องจักรวัสดุและอุปกรณ์ที่ใช้ในโรงงานการพัฒนาต้นแบบพัดลมและตู้เย็นประสิทธิภาพสูง
แผนงานจัดทำโครงการเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการอนุรักษ์พลังงานอย่างกว้างขวาง อาทิโครงการอนุรักษ์พลังงานในอาคารของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ โครงการจัดตั้งห้องทดสอบประสิทธิภาพการอนุรักษ์พลังงานของเครื่องจักร อุปกรณ์ที่ใช้ในการอนุรักษ์พลังงาน และโครงการส่งเสริมการใช้หลอดฟลูออเรสเซนต์ประสิทธิภาพสูงในชนบท เป็นต้น
และเป็นที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลสามารถดำเนินการจนประกาศใช้พระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานขึ้นมาได้เมื่อต้นปี พ.ศ. 2535
พระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 ฉบับที่กล่าวนี้ได้ดำเนินการผ่านขั้นตอนต่าง ๆ จนประกาศใช้เป็นกฎหมายในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2535 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2535 เป็นต้นมา
สาระสำคัญของพระราชบัญญัติ
ประกอบด้วยบทบัญญัติที่สำคัญ ว่าด้วยการกำกับดูแลให้มีการดำเนินการอนุรักษ์พลังงานในกลุ่มเป้าหมายคือโรงงานควบคุมและอาคารควบคุม มาตรการส่งเสริมและช่วยเหลือเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน
1. โรงงานควบคุม
2. อาคารควบคุม
3. ผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายเครื่องจักร อุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพและวัสดุที่ใช้ในการอนุรักษ์พลังงาน
มาตรการกำกับดูแล
กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลและให้ความช่วยเหลือโรงงานควบคุมและอาคารควบคุม โดยจะมีการออกกฎกระทรวงเพื่อกำหนดรายละเอียดให้โรงงานควบคุมและอาคารควบคุมดำเนินการอนุรักษ์พลังงาน ดังนี้
1. โรงงานควบคุมและอาคารควบคุมต้องอนุรักษ์พลังงานและตรวจสอบวิเคราะห์การใช้พลังงานในโรงงานและอาคารของตนให้เป็นไปตามมาตรฐานหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด
2. โรงงานควบคุมและอาคารควบคุมต้องจัดทำบันทึกข้อมูลการผลิตการใช้พลังงานการอนุรักษ์พลังงาน และการติดตั้งหรือเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ที่มีผลต่อการใช้และการอนุรักษ์พลังงาน และส่งบันทึกข้อมูลดังกล่าวแก่กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน
3. โรงงานควบคุมและอาคารควบคุมต้องจัดทำเสนอเป้าหมาย และแผนการอนุรักษ์พลังงานแก่กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน และทำการตรวจสอบวิเคราะห์การปฏิบัติตามเป้าหมายและแผน
มาตรการส่งเสริมและช่วยเหลือ
เพื่อเป็นการสนับสนุนและช่วยเหลือให้มีการอนุรักษ์พลังงานตามเป้าหมายและเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติฉบับนี้ จึงได้เน้นการใช้มาตรการส่งเสริมเป็นมาตรการหลักเข้าไปช่วยเหลือหรือให้เงินอุดหนุนแก่ผู้ประกอบการและองค์กรต่าง ๆ ได้แก่
(1) โรงงานควบคุมและอาคารควบคุม ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการส่งเสริมเป็นอันดับแรก เนื่องจากมีหน้าที่ต้องดำเนินการอนุรักษ์พลังงานตามกฎหมาย
(2) ผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายเครื่องจักรอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพสูง และวัสดุที่ใช้ในการอนุรักษ์พลังงานเพื่อส่งเสริมให้มีการผลิตและจำหน่ายเครื่องจักรอุปกรณ์และวัสดุเหล่านี้แก่ประชาชนทั่วไปอย่างแพร่หลายในราคาถูก
(3) ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจที่ประสงค์จะอนุรักษ์พลังงานในส่วนของตน ทั้งนี้เพื่อเป็นแบบอย่างให้แก่ภาคเอกชนด้วย
(4) โรงงานอุตสาหกรรมและอาคารธุรกิจทั่วไปที่ไม่ต้องมีหน้าที่อนุรักษ์พลังงานตามพระราชบัญญัตินี้ แต่ประสงค์จะดำเนินการอนุรักษ์พลังงานในโรงงานหรืออาคารของตน
(5) ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ สถาบันการศึกษา หรือองค์กรเอกชนที่เป็นนิติบุคคลและไม่หวังผลกำไรที่ประสงค์จะจัดทำโครงการอนุรักษ์พลังงานหรือมีกิจกรรมที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์พลังงานก็มีสิทธิได้รับการช่วยเหลือด้วยเช่นกัน
กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน
เพื่อให้มีกลไกหรือเครื่องมือในการเข้าไปช่วยเหลือและให้เงินอุดหนุนตามมาตรการส่งเสริมและช่วยเหลือที่กล่าวแล้วอย่างเป็นรูปธรรม พระราชบัญญัติฉบับนี้จึงได้กำหนดให้มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานขึ้นเป็นกองทุนหนึ่งในกระทรวงการคลัง แหล่งที่มาของเงินกองทุนในเริ่มแรกได้โอนเงินจากกองทุนน้ำมันจำนวน 1,500 ล้านบาท เข้ากองทุนนี้และจะมีรายได้จากการเก็บเงินจากผู้ผลิตและผู้นำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง ในอัตราที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติกำหนด (ซึ่งในปัจจุบัน คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติได้กำหนดให้เรียกเก็บจากน้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล น้ำมันก๊าด และน้ำมันเตา ในอัตรา 7 สตางค์ต่อลิตร คาดว่าจะทำให้มีรายได้เข้ากองทุนฯ ประมาณเดือนละ 200 ล้านบาท)
มาตรการลงโทษ
นอกจากมาตรการด้านการกำกับดูแล และมาตรการส่งเสริมและช่วยเหลือแล้ว พระราชบัญญัตินี้ยังมีบทลงโทษแก่ผู้ที่ไม่ได้ดำเนินการอนุรักษ์พลังงานให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ กล่าวคือ
(1) การระวางโทษปรับเพื่อเป็นกลไกกระตุ้นให้เห็นความสำคัญและดำเนินการอนุรักษ์พลังงาน
(2) ไม่ได้รับสิทธิในการขอรับการสนับสนุนและช่วยเหลือจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และ
(3) ต้องเสียค่าธรรมเนียมพิเศษในการใช้ไฟฟ้า สำหรับโรงงานควบคุมหรืออาคารควบคุมที่เจตนาฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐาน
ผลกระทบโดยตรงต่ออุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศ และการออกแบบระบบปรับอากาศในอาคารขนาดใหญ่
สำหรับอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเจ้าของอาคารที่มีระบบการใช้พลังงานอย่างประหยัด จะได้รับประโยชน์จากเงินช่วยเหลือ ที่เห็นได้ชัดเจนก็คือตามพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานนี้ในหมวดที่ 3 ว่าด้วยการส่งเสริม ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพสูง เพื่อนำมาประกอบเป็นเครื่องปรับอากาศที่ได้มาตรฐานการอนุรักษ์พลังงานจะได้รับประโยชน์จากเงินช่วยเหลือหรือเงินอุดหนุนในการลงทุนจากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน
สำหรับในเรื่องการออกแบบระบบปรับอากาศในอาคาร ในปัจจุบันนี้อาคารขนาดใหญ่ที่หรือกำลังจะสร้างใหม่เกือบทุกแห่งก็ได้มีการคำนึงถึงการออกแบบระบบปรับอากาศที่มีประสิทธิภาพอยู่แล้ว ในขณะนี้คณะอนุกรรมการพิจารณานโยบายอนุรักษ์พลังงานทดแทนได้มีข้อยุติที่จะกำหนดให้ค่าถ่ายเทความร้อนของอาคารส่วนที่มีการปรับอากาศเป็นดังนี้
1. อาคารใหม่ให้มีค่าถ่ายเทความร้อนรวมของผนังด้านนอกหรือส่วนที่มีเครื่องปรับอากาศเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักแต่ละด้านแล้วมีค่าไม่เกิน 45 วัตต์ต่อตารางเมตร
2. อาคารเก่าให้มีค่าถ่ายเทความร้อนรวมของผนังด้านนอกหรือส่วนที่มีเครื่องปรับอากาศเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักแต่ละด้านแล้วมีค่าไม่เกิน 55 วัตต์ต่อตารางเมตร
3. สำหรับค่าถ่ายเทความร้อนรวมของหลังคาทั้งอาคารเก่าและใหม่จะต้องมีค่าไม่เกิน 25 วัตต์ต่อตารางเมตร

นอกจากนั้นยังได้กำหนดสมรรถนะต่ำสุดของมาตรฐานอุปกรณ์การปรับอากาศตามตารางดังนี้
1. เครื่องทำความเย็นชนิดระบายความร้อนด้วยน้ำจะต้องไม่เกินกว่าค่าตามตารางต่อไปนี้
1. เครื่องทำความเย็นชนิดระบายความร้อนด้วยน้ำ อาคารใหม่อาคารเก่า
ก.



เครื่องทำน้ำเย็นแบบหอยโข่ง
ขนาดน้อยกว่าหรือเท่ากับ 250 ตันความเย็น
ขนาดมากกว่า 251-500 ตันความเย็น
ขนาดมากกว่า 501 ตันความเย็นขึ้นไป

0.75
0.70
0.67

0.90
0.84
0.80
ข.


เครื่องทำน้ำเย็นแบบลูกสูบ
ขนาดน้อยกว่าหรือเท่ากับ 35 ตันความเย็น
ขนาดมากกว่า 35 ตันความเย็นขึ้นไป

0.98
0.91

1.18
1.10
ค. เครื่องแบบเป็นชุด 0.88 1.06
ง. เครื่องทำน้ำเย็นแบบสกรู 0.70 0.84
หน่วย : กิโลวัตต์ต่อตันความเย็น
2. เครื่องทำความเย็นระบายความร้อนด้วยอากาศจะต้องไม่เกินกว่าค่าตามตารางต่อไปนี้
2. เครื่องทำความเย็นชนิดระบายความร้อนด้วยอากาศอาคารใหม่อาคารเก่า
ก.


เครื่องทำน้ำเย็นแบบหอยโข่ง
ขนาดน้อยกว่าหรือเท่ากับ 250 ตันความเย็น
ขนาดมากกว่า 251 ตันความเย็น

1.40
1.20

1.61
1.38
ข.


เครื่องทำน้ำเย็นแบบลูกสูบ
ขนาดน้อยกว่าหรือเท่ากับ 50 ตันความเย็น
ขนาดมากกว่า 51 ตันความเย็นขึ้นไป

1.30
1.25

1.50
1.44
ค. เครื่องแบบเป็นชุด 1.37 1.58
ง. เครื่องแบบติดหน้าต่าง/แยกส่วน (window/Spilit Type) 1.40 1.61
หน่วย : กิโลวัตต์ต่อตันความเย็น
ช่วยกันผลักดันให้การอนุรักษ์พลังงานนี้ เป็นรูปธรรมมากขึ้น
ในประเทศของเราซึ่งอุณหภูมิตลอดทั้งปีนั้นค่อยข้างจะร้อนเครื่องปรับอากาศจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างหนึ่งจากการที่ทางกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานได้ทำการทดสอบประสิทธิภาพของเครื่องปรับอากาศขนาดเล็กบางรุ่นบางยี่ห้อที่มีใช้อยู่ในท้องตลาดเมื่อ 2-3 ปีก่อนนั้น พบว่าค่าประสิทธิภาพความเย็น (ERR) ของเครื่องปรับอากาศที่ผ่านการทดสอบมีอยู่เพียงไม่กี่ยี่ห้อ ที่ได้มาตรฐานตามร่างกฎหระทรวงที่กำหนด ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะเป็นเครื่องปรับอากาศที่นำเข้าจากต่างประเทศ
สำหรับเครื่องปรับอากาศขนาดใหญ่ (Chiller) นั้น ยังไม่มีอุตสาหกรรมประเภทนี้ในประเทศของเรา ทั้งนี้ก็คงเนื่องจากศักยภาพของเราด้านนี้ยังมีไม่เพียงพอแต่อย่างไรก็ตามหากมีผู้อยู่ในอุตสาหกรรมนี้รายใดสนใจที่จะดำเนินการผลิตและให้เป็นไปตามมาตรฐานการประหยัด ก็อาจขอความช่วยเหลือจากเงินกองทุนอนุรักษ์ฯ ได้
ที่มา : กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม