ดาวพุธ

ดาวพุธ บางครั้งก่อนพระอาทิตย์จะขึ้นในตอนเช้า หรือจะตกในตอนค่ำ ๆ หากสังเกตดี ๆ จะมองเห็นดาวดวงเล็ก ๆ ที่ขอบฟ้า นั่นแหละดาวพุธ ซึ่งเป็นดาวดวงหนึ่งในแปดดวงในระบบสุริยจักวาล ที่โคจรรอบดวงอาทิตย์
ดาวพุธจะเป็นดาวดวงแรกที่เราสังเกตเห็นได้ก่อนดวงดาวดวงอื่นเมื่อพระอาทิตย์ตก และจะหายไปหรือตกก่อนดวงดาวดวงอื่นในเวลาเช้า แต่จะไม่เห็นดาวพุธในเวลากลางคืน เพราะว่าดาวพุธอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด การโคจรรอบดวงอาทิตย์ก็คล้ายกับการโคจรไปกับดวงอาทิตย์เมื่อสังเกตจากโลก
ทั้งดาวพุธ และดาวศุกร์ จะสามารถสังเกตเห็นได้ในเวลาเดียวกัน แต่จะสังเกตเห็นดาวศุกร์ได้ชัดและใหญ่กว่า เพราะดาวศุกร์อยู่ใกล้โลกกว่าดาวพุธ
การโคจรของดาวเคราะห์ในระบบสุริยจักรวาล จะโคจรล้อมรอบดวงอาทิตย์เป็นวงรีในลักษณะการโคจรของโลก แล้วจะมีดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของการโคจร ส่วนดาวพุธการโคจรรอบดวงอาทิตย์จะไม่สมมาตรเหมือนโลกโคจร จากลักษณะการโคจรของโลก จะเห็นว่าระยะห่างจากโลกถึงดวงอาทิตย์จะเท่ากันในด้านตรงข้ามกัน ทำให้ฤดูกาลต่าง ๆ ในโลกเปลี่ยนแปลงอย่างสม่ำเสมอ และสามารถบ่งบอกระยะเวลาของฤดูกาลได้ แต่ดาวพุธจะไม่สามารถบ่งบอกได้ในรอบปีอุณหภูมิพื้นผิวของดาวพุธจะขึ้นอยู่กับระยะห่างของดาวพุธเองกับดวงอาทิตย์ โลกจะอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ประมาณ 150 ล้านกิโลเมตร ส่วนดาวพุธจะอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ในระยะ 47-69 ล้านกิโลเมตร ในขณะดาวพุธโคจรอยู่ด้านที่หันเข้าหาดวงอาทิตย์จะมีอุณหภูมิสูง 360 ํC และจะเป็นด้านที่ร้อนที่สุด ถึงขนาดถ้านำตะกั่วไปวางจะหลอมตัวทันที ส่วนด้านตรงข้ามจะมีอุณหภูมิประมาณ 20 ํC
ดาวพุธเป็นดาวที่เล็กที่สุดในดาวเคราะห์ทั้งหมด มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 4,800 กิโลเมตร ซึ่งเท่ากับช่วงกว้างที่สุดของมหาสมุทรแอตแลนติ
ระยะเวลาที่ดาวพุธโคจรรอบดวงอาทิตย์ 1 รอบ เราเรียกว่า 1 ปี ซึ่งระยะเวลา 1 ปี บนดาวพุธจะเท่ากับระยะเวลาบนโลก 88 วัน การหมุนรอบตัวเองของดาวพุธจะช้ากว่าการหมุนรอบตัวเองของโลกมาก 1 รอบจะกินเวลาถึง 59 วันของโลก
นักวิทยาศาสตร์ให้ข้อสังเกตว่า บนดาวพุธจะไม่มีชั้นของบรรยากาศอยู่ เพราะว่าพื้นผิวจะมีอุณหภูมิสูงมาก และด้วยเหตุนี้จะไม่มีสิ่งมีชีวิตอยู่บนดาวพุธเลย
ภาพแสดง การโคจรของดาวพุธ ซึ่ง 1 รอบจะกินเวลา 88 วันบนโลก

ที่มา : นิตยสารเรียนดี ปี 2 ฉบับที่ 2