แสงจากสวรรค์


แสงจากสวรรค์ แสงที่เกิดจากดาวตกพาดผ่านท้องฟ้ามีความสว่างเป็นเวลาหลายวินาที แต่แสงที่เกิดจากฟ้าผ่าเกิดขึ้นเพียงแว๊บเดียวแล้วก็หายไป มีเหตุผลเพราะว่า
ดาวตกเกิดจากสะเก็ดดาวที่ลอยอยู่ในอวกาศและพอดีเคลื่อนที่มาใกล้โลก จึงถูกแรงโน้มถ่วงของโลกดึงให้ตกลงมา เนื่องจากความเร็วของดาวตกสูงมาก ทำให้อิเล็กตรอนในอากาศเกิดการแตกตัวอยู่ในสภาวะที่เรียกว่า พลาสมา (ก๊าซที่สูญเสียอิเล็กตรอนออกไป) ชั่วระยะเวลาหนึ่ง อิเล็กตรอนที่หลุดออกไปจะเข้ามารวมตัวกับไอออนของก๊าซ ปลดปล่อยพลังงานออกมา พลังงานส่วนนี้ก็คือพลังงานที่เราเห็นเป็นแสงพาดผ่านบนท้องฟ้านั่นเอง
ส่วนฟ้าผ่าทำให้อากาศแตกตัวเป็นพลาสมาได้เช่นเดียวกัน แต่ว่าโมเลกุลของอากาศสูญเสียอิเล็กตรอนไปเพราะกระแสไฟฟ้า ลักษณะการแตกตัวของอากาศนั้นจะเหมือนกับการแตกตัวของดาวตก แต่การรวมตัวของอิเล็กตรอนแตกต่างกัน เนื่องจากดาวตกเกิดขึ้นเหนือชั้นบรรยากาศที่มีความสูงมาก ความหนาแน่นของอากาศมีน้อย ซึ่งก็หมายความว่าอะตอมของอากาศอยู่ห่างกันมาก อิเล็กตรอนอิสระจึงจะต้องใช้ระยะเวลาหลายวินาทีเคลื่อนที่มารวมตัวกับไอออนของก๊าซ ส่วนฟ้าผ่าเกิดขึ้นในบรรยากาศชั้นต่ำ อากาศมีความหนาแน่นมาก การรวมตัวของอิเล็กตรอนใช้เวลาเพียงเสี้ยววินาที พลังงานที่ปลดปล่อยออกมาจึงเร็วและรุนแรงมาก ซึ่งจะปรากฏอยู่ในรูปของแสงและเสียง แต่จะเกิดขึ้นเพียงชั่วครู่เท่านั้น ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่าแสงของฟ้าผ่าเป็นสีน้ำเงิน ขณะที่ดาวตกเป็นสีเหลือง แสดงให้เห็นว่าฟ้าผ่ามีความร้อนเกิดขึ้นมากกว่า
ที่มา : นายจรัส บุณยธรรมา, ลับสมองกับปัญหาฟิสิกส์, 2540.