ในการทดลองทางวิทยาศาสตร์ไม่ว่าจะเป็นวิชาฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา ที่ต้องมีการใช้ไฟฟ้า เช่น ใช้หม้อแปลงโวลต์ต่ำสำหรับหลอดไฟ ต่อสายไฟฟ้าเข้ากับมิเตอร์ ทดลองเรื่องไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ สิ่งสำคัญที่ต้องใช้ก็คือสายไฟฟ้า เรามักจะมองข้ามว่าสายไฟฟ้าเป็นสิ่งที่ไม่มีปัญหา เมื่อการทดลองเกิดไม่ทำงาน หรือได้ผลผิดพลาดไป ส่วนใหญ่จะมองจุดเริ่มของปัญหาไปที่อุปกรณ์ต่าง ๆ แทบจะไม่มีใครเหลือบมามองที่สายไฟฟ้าเลย
สายไฟฟ้าที่ทำขึ้นมาสำหรับใช้ในการทดลองทั้งระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลาย เป็นสายไฟฟ้าที่สร้างจากสายไฟธรรมดาโดยมีขั้วเสียบราคาถูกต่ออยู่ที่ปลาย เท่าที่ผู้เขียนเคยประสบมา สายไฟดังกล่าวนี้จะต่อกับขั้วเสียบด้วยการขันนอตเล็ก ๆ อัดให้สายไฟส่วนที่เป็นโลหะสัมผัสกับขั้ว โดยไม่มีการปอกสายพลาสติกออกเสียก่อน ดังนั้นสายไฟบางเส้นจึงไม่อาจใช้งานได้ตามหน้าที่ที่มันควรจะเป็นเพราะเหตุว่าสายทองแดงกับขั้วโลหะไม่ได้สัมผัสกัน เมื่อนำสายไฟดังกล่าวไปใช้งาน เมื่อเกิดปัญหาการทดลองไม่ทำงานหรือไม่ได้ผลผู้ปฏิบัติก็มิได้คำนึงถึงสายไฟ เนื่องจากคิดว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรสร้างปัญหาใดเลย
นอกจากการสัมผัสที่ไม่แน่นแล้ว เมื่อใช้งานไปนาน ๆ สายไฟที่เดิมใช้ได้ก็อาจจะเสียเพราะว่านอตที่ขันอยู่คลายตัวออก หรืออาจมีสายทองแดงหักใน เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะสร้างปัญหาให้เพิ่มขึ้นอีก ยังมีอีกปัญหาที่ผู้เขียนพบบ่อย ๆ ในฐานะที่ทำงานส่วนหนึ่งเกี่ยวกับการทดลองเรื่องไฟฟ้าและงานทางด้านดิจิตอลอิเล็กทรอนิกส์คือสายไฟที่มีการสัมผัสไม่แน่นอน สาเหตุอาจจะมาจากสายทองแดงภายในหัก หรือจุดสัมผัสไม่แน่น บางครั้งเป็นตัวนำบางครั้งก็เป็นฉนวน ถ้าใช้โอห์มมิเตอร์วัดอาจจะได้ค่าขณะนั้น 1 โอห์ม แต่เมื่อนำไปใช้งานความต้านทานของสายไฟฟ้าเส้นเดิมอาจจะเปลี่ยนเป็น 100 โอห์มหรือมากกว่าได้ เพราะว่ามีการบิดตัวของสายทำให้จุดสัมผัสเปลี่ยน
ปัญหาของสายไฟฟ้าในกรณีหลังเป็นปัญหาแก่ผู้ทำการทดลองมาก เพราะว่าก่อนทำการทดลองมีการใช้โอห์มมิเตอร์ตรวจสอบ