เอช.เค. ออนเนส ( H.K. Onnes 1853 - 1926 )

Onnes เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2396 ที่เมือง Groningen ในประเทศเนเธอร์แลนด์ บิดาเป็นเจ้าของโรงงานทำกระเบื้องมุงหลังคา เมื่อมีอายุได้ 17 ปี เขาได้เข้าศึกษาฟิสิกส์ที่มหาวิทยาลัย Groningen หลังจากได้ศึกษาที่นั่นนาน 1 ปี ก็ได้ย้ายไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัย Heidelberg ในประเทศเยอรมนี ณ ที่นั่นเขาได้ศึกษากับ R. Bunsen (ผู้ประดิษฐ์ตะเกียงบุนเซน) และ G.Kirchoff (เจ้าของกฎการไหลของกระแสไฟฟ้าในวงจร)

Onnes สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี เมื่อมีอายุได้เพียง 20 ปี จากนั้นเขาก็ได้ไปศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัย Groningen โดยทำวิทยานิพนธ์เรื่องอิทธิพลการหมุนของโลกต่อสภาพการแกว่งกวัดของเพนดูลัมที่ทำด้วยเชือกสั้น และเมื่อใกล้จะเสร็จการทำวิทยานิพนธ์ พระพรหมได้ลิขิตให้ Onnes ได้รู้จักกับ Van der waals นักฟิสิกส์แห่งมหาวิทยาลัย Amsterdam

ในอดีตเมื่อ 300 ปีก่อนนี้ นักวิทยาศาสตร์ทุกคนรู้จักกฎของ Boyle ที่แถลงว่า หากเราทำให้อุณหภูมิของก๊าซคงที่ ความดันของก๊าซจะแปรผกผันกับปริมาตร กฎของBoyle ข้อนี้ ใช้ได้กับก๊าซอุดมคติเท่านั้น แต่เมื่อนำกฎนี้มาใช้กับก๊าซธรรมชาติ ก็มีการพบว่า ก๊าซธรรมชาติหาได้ประพฤติตัวตามกฎของ Boyle ไม่

ในปี พ.ศ.2416 Van der waals ได้เสนอทฤษฎีของก๊าซใหม่ โดยได้พิจารณาขนาดของโมเลกุลก๊าซและแรงกระทำระหว่างโมเลกุล สูตรของ Van der waals สามารถอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างความดัน ปริมาตร และอุณหภูมิของก๊าซได้ดีกว่าสูตรของ Boyle มาก

การรู้จักมักจี่กับ Van der waals ได้ชักนำให้ Onnes หันมาสนใจเรื่องก๊าซ เขาจึงได้พยายามทดสอบความถูกต้องของสูตรที่ Van der waals คิดสำหรับก๊าซ ณ ที่อุณหภูมิต่ำมากๆ ทันที

ก่อนที่ Onnes จะศึกษาก๊าซ 5 ปี L.P. Cailetet ชาวฝรั่งเศส และ R.P. Pictet ชาวสวิส ได้ประสบความสำเร็จในการทำก๊าซออกซิเจนและไนโตรเจนให้เป็นของเหลว ซึ่งสำหรับก๊าซทั้งสองชนิดนี้ วงการวิทยาศาสตร์ในสมัยนั้นคิดว่า ไม่มีวันจะกลายสภาพเป็นของเหลว แต่เมื่อ Onnes สามารถทำให้ก๊าซ ethylene และอากาศเป็นของเหลวได้ที่อุณหภูมิ -87 องศาเซลเซียสและ -193 องศาเซลเซียส ตามลำดับ เขาก็ได้ทุ่มเทความสนใจในการทำก๊าซฮีเลียมให้เป็นของเหลวบ้าง ฮีเลียมนั้นเป็นก๊าซเฉื่อยที่เบาที่สุด และโมเลกุลของมันมีแรงกระทำต่อกันน้อยมาก นักวิทยาศาสตร์แทบทุกคนในสมัยนั้นจึงคิดว่า การทำก๊าซฮีเลียมให้เป็นของเหลวเป็นเรื่องยากและลำบากมาก

แต่ก็ไม่ได้ยากเกินไปสำหรับ Onnes เลย เพราะในตอนเย็นของวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2451 นั้นเอง Onnes ก็ได้เป็นมนุษย์คนแรกของโลกที่เห็นฮีเลียมเหลว เขาจึงนำฮีเลียมเหลวที่เขากลั่นได้มาใช้ในการศึกษาคุณสมบัติของสารต่างๆ ที่อุณหภูมิต่ำถึง -269 องศาเซลเซียสทันที

Onnes ได้จากโลกนี้ไปในปี พ.ศ. 2469 โดยมีความเชื่อว่า วันหนึ่งในอนาคตข้างหน้า มนุษย์จะมีรถไฟเหาะนั่ง และมีอุปกรณ์ทีทำด้วยตัวนำยิ่งยวดใช้ในทุกครัวเรือน ณ วันนี้ ความฝันของ Onnes ก็ยังไม่เป็นจริง


ที่มา : สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ( สส.วท. )