เมื่อกาลิเลโอมีอายุได้ 69 ปี คณะตุลาการศาสนาของประเทศอิตาลีได้มีมติบังคับให้กาลิเลโอถอนคำพูดของเขาที่ว่า "โลกหมุนรอบดวงอาทิตย์" เขาถูกผู้คนประณามหยามเหยียดว่าเป็นพวกนอกรีต และถูกทรมานจองจำ จนในบั้นปลายของชีวิต ตาทั้งสองข้างของเขาบอดสนิท และเขาได้ตายจากโลก โดยมีคำสาปแช่งของศาสนาติดตัวตามไป

แต่เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2534 นี้เอง สันตะปาปา John Paul ที่ 2 แห่งสำนักวาติกันได้ทรงทำพิธีถ่ายบาปให้กาลิเลโอ โดยองค์สันตะปาปาแถลงว่า คำวินิจฉัยของคณะตุลาการศาสนาที่ได้ตัดสินไปเมื่อ 359 ปี ก่อนโน้นนั้น ผิด

เพราะยุโรปในสมัยนั้นยึดถือในปรัชญาคำสั่งสอนของ Aristotle มากและเชื่อคำสอนด้านดาราศาสตร์ของ Ptolemy ซึ่งวิชาทั้งสองนี้อิงอาศัยความรู้สึกและสามัญสำนึกเป็นสำคัญ Ptolemy ได้สอนคนในสมัยนั้นว่าโลกเป็นศูนย์กลางของจักรวาล โดยดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดาวต่างๆ โคจรรอบโลก ส่วนAristotle นั้นได้แบ่งจักรวาลออกเป็นสองภาค คือ ภาคสวรรค์ และภาคพื้นดิน โดยสรรพสิ่งทั้งหลายที่ลอยอยู่บนสวรรค์นั้นสวย สมบูรณ์และอมตะถาวร ส่วนสรรพสิ่งทั้งปวงที่กองอยู่บนดินนั้นมีสภาพอปกติ และจะเปลี่ยนแปลงชั่วนิจนิรันดร

เมื่อกาลิเลโอมีอายุได้ 25 ปี ความเป็นอัจฉริยะ ก็เริ่มฉายแสง โดยเขาได้ล้มล้างทฤษฎี Aristotle ที่ผู้คนยึดถือกันมานานร่วม 2,000 ปีที่ว่า วัตถุหนักจะตกถึงพื้นเร็วกว่าวัตถุเบา โดยเขาได้ขึ้นไปบนหอคอยเอียแห่งเมือง Pisa แล้วปล่อยวัตถุที่หนักไม่เท่ากันลงมาพร้อมกัน ผลการทดลองแสดงให้เห็นชัดเจนว่าวัตถุทั้งสองตกถึงพื้นพร้อมกัน

ในปี พ.ศ. 2152 เขาได้ประดิษฐ์กล้องโทรทรรศน์ขึ้นใช้ โดยนำเอาเลนส์นูนและเลนส์เว้ามาติดที่ปลายทั้งสองของท่อกลวง และเขาก็ได้ปฏิวัติ ปฏิรูปวิชาดาราศาสตร์ทันที เพราะเขาได้เห็นภูเขาสูงต่ำบนดวงจันทร์ ซึ่งใครๆ ในยุคนั้นงมงายเชื่อว่า ผิวดวงจันทร์นั้นราบเรียบ กาลิเลโอจึงเป็นบุคคลแรกของโลกที่เห็นความไม่สมบูรณ์ของสวรรค์ และเมื่อเขาได้เห็นจุดดับบนดวงอาทิตย์ เห็นดวงจันทร์ 4 ดวงโคจรรอบดาวพฤหัสบดี และหาได้โคจรไปรอบโลกดังที่ใครๆ เชื่อไม่ เขาจึงตัดใจตีพิมพ์ผลงานของเขาในปี พ.ศ. 2153 ในหนังสือ Siderius Nuncius หนังสือนี้ถูกห้ามพิมพ์จำหน่ายอย่างเด็ดขาด และเขาถูกห้ามมิให้ตำหนิสวรรค์อีกไม่ว่าจะในกรณีใด

เมื่อ Maffeo Barberini บาดหลวงผู้สนิทชิดชอบกับกาลิเลโอได้รับการสถาปนาเป็นสันตะปาปา Urban ที่ 8 กาลิเลโอได้หลงคิดว่า เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นได้มาถึงแล้ว งานค้นคว้าของเขาที่ตีพิมพ์ในหนังสือ Dialogo sopra due massini Sistemi del Mondo ในปี พ.ศ. 2175 ได้นำมาซึ่งปฏิกิริยาต่อต้านจากทุกสารทิศ เขาถูกสถาบันศาสนาประณาม และถูกทรมาน ถึงแม้จะตัวถูกขัง แต่ก็ไม่มีใครกักขังใจเขาได้ เขายังคงยึดมั่นในความคิดและความรู้ของเขา เขาได้พยายามทำให้คนทั้งหลายยอมรับว่า วิทยาศาสตร์มิได้เป็นวิชาที่ใช้ความรู้สึกเป็นตัวสร้างวิชา การทดลองเท่านั้นที่จะเป็นตัวตัดสินความถูก หรือความผิดของความคิดวิทยาศาสตร์

คดีกาลิเลโอมิได้เป็นคดีต่อสู้ประจันหน้ากันระหว่างสถาบันศาสนากับสถาบันวิทยาศาสตร์ เพราะในการพิพากษาครั้งนั้น คณะตุลาการศาสนามิได้รับฟังมุมมองของกาลิเลโอเลย คณะบาดหลวงเป็นฝ่ายว่าฝ่ายเดียว
โดย ดร.สุทัศน์ ยกส้าน สส.วท.