บอลลูนวิทยา
ดินแดน Tunguska ตั้งอยู่ในไซบีเรียตอนกลางของประเทศรัสเซีย ความหนาวเหน็บที่รุนแรงและความแร้นแค้น ของพื้นที่ ทำให้อาณาบริเวณแถบนี้ แทบไม่มีผู้คนอาศัยอยู่เลย ประวัติศาสตร์ได้บันทึกว่า ในยามเช้า ของวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2451 คือเมื่อ 89 ปี ก่อนนี้ ได้มีคนเห็นเหตุการณ์ลูกไฟลูกหนึ่งพุ่งด้วยความเร็วสูงผ่านฟ้าเหนือบริเวณแม่น้ำ Tunguska และหลังจากนั้นเพียง 2-3 วินาที เขาก็ได้ยินเสียงระเบิดดังสนั่นสั่นไหวประดุจโลกจะถล่มทลาย นักวิทยาศาสตร์สมัยนั้นประมาณว่า พลังระเบิดมีความรุนแรงเท่ากับการระเบิดของลูกระเบิดปรมาณูขนาด 15 เมกะตัน ความร้อนจากการระเบิดได้ทำให้เกิดไฟป่าลุกไหม้เผาต้นไม้ที่ขึ้นในพื้นที่ 2,000 ตารางกิโลเมตร เสียหายยับเยิน ต้นไม้อีกหลายหมื่นต้นล้มเอนราบเสมือนถูกลมพายุพัดกระหน่ำอย่างรุนแรง พลังระเบิดอันมหาศาลได้ทำให้เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 5 ตามมาตราวัด Richter และความร้อนในบริเวณนั้นทำให้ผู้คนที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ห่างจากตำแหน่งระเบิดออกไป 70 กิโลเมตร ถึงกับต้องถอดเสื้อผ้าที่กำลังสวมอยู่เพราะผ้าจะลุกไหม้ ประวัติศาสตร์ยังได้บันทึกอีกว่า เป็นเวลานานหลายวันหลังการระเบิด ท้องฟ้าในเวลากลางคืนในประเทศแถบนั้น มีสีส้ม และสว่างมากถึงขนาดที่ทำให้ผู้คนสามารถอ่านหนังสือได้โดยไม่ต้องใช้ตะเกียง
เรื่องที่นับว่าแปลกแต่จริงก็คือ ไม่มีนักวิทยาศาสตร์คนใดสนใจการระเบิดครั้งนั้นถึงขนาดเดินทางไปค้นหาความจริงที่ Tunguska จนกระทั่งอีก 19 ปีต่อมา สาเหตุก็คงเป็นเพราะ Tunguska อยู่ไกล และเต็มไปด้วยอันตรายนั่นเอง
เหล่านักวิทยาศาสตร์รุ่นแรกๆ ที่เดินทางไปที่นั่น ได้พยายามค้นหาหลุมอุกกาบาต แต่ไม่มีใครเห็นหลุม หรือก้อนอุกกาบาตอะไรเลย สิ่งที่พวกเขาเห็นก็คือ ต้นที่ถูกไฟเผาไหม้มากมายเท่านั้นเอง ความลึกลับของการระเบิดในไซเบียเรียครั้งนั้นได้เป็นเรื่องที่ผู้คนโจษจันกันมากมาย และนักวิทยาศาสตร์เองก็ได้ให้ความสนใจมาจนทุกวันนี้ว่า วัตถุฟากฟ้าที่พุ่งเข้าถล่มทลาย Tunguska ในครั้งนั้น คือ ดาวหางหรืออุกกาบาต หรือดาวเคราะห์น้อย (asteroid) กันแน่
ในการอธิบายสาเหตุการระเบิดเหนือ Tunguska ครั้งแรกๆ นั้น ชาวบ้านทั่วไปคิดว่าการระเบิดเกิดเพราะโลกกำลังจะแตก แต่ทุกวันนี้นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่มิได้คิดว่าเกิดเพราะโลกเราจะแตก แต่เพราะวัตถุฟากฟ้าก้อนหนึ่งที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางยาวประมาณ 50-100 เมตรได้ถูกชั้นบรรยากาศของโลกที่ระดับความสูง 10 กิโลเมตร เสียดสีจนลุกไหม้เป็นจุณ แต่ปัญหา ของความเชื่อนี้ก็มีว่า ผลจากการลุกไหม้จะต้องมีหลงเหลืออยู่ แต่ก็ปรากฏว่า ไม่มีใครพบเห็นหรือเก็บชิ้นส่วนอะไรของดาวดวงที่ว่านี้เลย เศษหิน ดิน ที่เกิดจากการเผาไหม้ไปตก ณ ที่ใด ปัญหาที่น่าสงสัยอีกประการหนึ่งคือ
ถ้าดาวที่ระเบิดนั้นเป็นดาวหางแล้ว ดาวหางซึ่งประกอบด้วยก้อนน้ำแข็งดิน และหิน ควรจะระเหิดไปหมด แต่ถ้าอานุภาพรุนแรงของการระเบิดเป็นดังที่ปรากฏ ดาวหางจะต้องมีนำหนักถึงหนึ่งล้านตัน และถ้าหากดาวที่ระเบิดเป็นอุกกาบาต เราก็คาดหวังจะเห็นชิ้นส่วนที่เป็นเหล็ก หลงเหลืออยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุบ้าง แต่การสำรวจเท่าที่ทำมาจนถึงปัจจุบันเราไม่พบเหล็กปริมาณมากในบริเวณนั้นแต่อย่างใด
ในวารสาร Nature ฉบับเดือนตุลาคม พ.ศ. 2538 V.V. Svetsoy แห่ง Institute for Dynamics of Geospheres ที่กรุง Moscow ในประเทศรัสเซีย ได้รายงานว่า จากหลักฐานที่มีแร่ iriduim มากผิดปกติในบริเวณนั้น และหลักฐานฝุ่นละอองขนาดเล็กปริมาณมากในยางของต้นไม้ที่ขึ้นในบริเวณนั้น เขาได้คำนวณพบว่า ดาวที่ตกเหนือ Tunguska เป็นดาวเคราะห์น้อยที่มีองค์ประกอบหลักเป็นหิน และดาวดวงนี้ขณะตกมีความเร็วตั้งแต่ 1-2 กิโลเมตร/วินาที ความกดดันและความหนาแน่น ของชั้นบรรยากาศโลกทำให้มันเสียดสีกับอากาศจนดาวลุกไหม้และแตกละเอียดเป็นเศษเล็กเศษน้อยที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ 1-3 เซนติเมตร และมีอุณหภูมิที่สูงถึง 6,000 องศาเซลเซียส เศษเล็กเศษน้อยที่แตกละเอียดนี้เองได้แปรสภาพเป็นพายุฝุ่นพุ่งสู่ท้องฟ้า และเมื่อแสงอาทิตย์ตกกระทบฝุ่นละอองเล็กๆ แสงสะท้อนทำให้ท้องฟ้าสว่างไสว
คุณค่าของการค้นพบครั้งนี้อยู่ที่ว่า ทำให้เราล่วงรู้ว่าในอดีตเคย มีดาวเคราะห์น้อยพุ่งเข้าชนโลกแล้ว และการชนนั้น ได้บังเกิดในบริเวณที่ไม่มีคนอยู่ จึงไม่มีใครเสียชีวิตหรือเป็นอะไร แต่หากการพุ่งชนนั้นเกิดในบริเวณที่มีผู้คนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น ความสูญเสียอย่างมหาศาลก็คงจะติดตามมาอย่างไม่ต้องสงสัย แต่เหตุการณ์นี้ก็คงไม่น่ากลัวมากเพราะประวัติศาสตร์ไม่เคยบันทึกไว้เลยว่ามีคนตายเพราะถูกอุกกาบาตหรือดาวหางชน

ที่มา : ดร.สุทัศน์ ยกส้าน
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)