อุบัติการณ์ดาวชนดาว
ในคืนวันที่ 23 มีนาคม ของปีพ.ศ. 2536 นักดาราศาสตร์สามท่านคือ E. Shoemaker ภรรยา และ D. Levy ได้เห็นดาวหางดวงหนึ่ง การเฝ้าติดตามดูดาวหางดวงนี้เป็นเวลานานได้ทำให้นักดาราศาสตร์สามารถคำนวณพบว่า ในระหว่างวันที่ 16-22 กรกฎาคม พ.ศ. 25... ดาวหาง Shoemaker-Levy 9 จะกามิคาเซตัวเอง พุ่งเข้าชนดาวพฤหัสบดี นักวิทยาศาสตร์ประมาณว่าพลังงานในการชนครั้งนี้จะรุนแรงพอๆ กับการระเบิดของลูกระเบิดไฮโดรเจนประมาณ 3 แสนลูก พร้อมกันและลมพายุจะเกิดแผ่นดินก็จะสั่นไหวไปทั้งดาว
ในอดีตทุกครั้งที่มีดาวหางมาปรากฏ คนโบราณมักจะถือว่าภัยพิบัติเช่น สงคราม หรือโรคระบาดจะเกิด แต่ทุกวันนี้ความเชื่อเช่นนั้นแทบจะไม่มีแล้ว ดาวหางเป็นเพียงดาวดวงหนึ่งที่ประกอบด้วยหิน และมีน้ำแข็งปกคลุม นักวิทยาศาสตร์หลายคนเชื่อว่า ในขณะที่โลกยังไม่มีสิ่งมีชีวิตใดๆ อาศัยอยู่เลย โลกถูกดาวหางดวงหนึ่งชน และดาวหางนั้นได้นำจุลินทรีย์ชีวิตมาสู่โลก และก็อีกเช่นกัน เมื่อสิ่งมีชีวิตต่างๆ ได้อุบัติบนโลกแล้ว ดาวหางอีกนั่นแหละที่ได้พุ่งเข้าชนโลก ทำให้ไดโนเสาร์ต้องล้มตาย และสูญพันธุ์ไปในที่สุด
ส่วนดาวพฤหัสบดีนั้นเป็นดาวเคราะห์ ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของสุริยจักรวาล คือมีเส้นผ่าศูนย์กลางใหญ่กว่าโลกประมาณ 1,300 เท่า ดาวดวงนี้มีดวงจันทร์เป็นบริวาร 16 ดวง และหมุนรอบตัวเองเร็วมาก คือรอบหนึ่งๆ ใช้เวลานาน 10 ชั่วโมงเท่านั้นเอง ก้อนเมฆบนดาวมีสีสันนานาเช่น สีแดงและสีส้ม เป็นต้น 95% ของดาวดวงนี้เป็นไฮโดรเจนและฮีเลียม จุดแดงใหญ่ (Great Red Spot) ที่ Robert Hooke เห็นในปี พ.ศ. 2207 มีขนาดใหญ่กว่าโลกราว 4 เท่า ณ บริเวณนั้นจะมีพายุหมุนพัดอยู่ตลอดเวลา และลมพายุนี้ก็ยังไม่มีท่าทีว่า จะหยุดพัดเลย
ปัญหาที่นักดาราศาสตร์ ได้ถกถามกันมาก คือ ลมพายุขนาดมโหฬารนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร เหตุใดมันจึงพัดได้นานเป็นร้อยปีพันปี เช่นนั้น พื้นผิวของดาวมีลักษณะเช่นไร เป็นต้น
และขณะนี้แรงดึงดูดที่มหาศาล ของดาวพฤหัสบดีได้ทำให้ดาวหาง Shoemaker-Levy 9 แตกกระจายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยแล้ว โดยมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางต่างๆ กัน ตั้งแต่ 1-4 กิโลเมตร กลุ่มกระสุนดาวทั้ง 21 ชิ้นกำลังมุ่งหน้าสู่ดาวพฤหัสบดีด้วยความเร็วสูงประมาณ 60 กิโลเมตร/วินาที
ความเร็วสูงเช่นนี้ได้ ทำให้นักวิทยาศาสตร์มั่นใจว่า การปะทะจะรุนแรงยิ่งกว่าเหตุการณ์ ที่โลกถูกอุกกาบาตชนจน ทำให้ไดโนเสาร์ล้มตายหลายร้อยเท่า
ส่วนคำถามที่ว่าเราจะเห็นแสง เห็นควันดอกเห็ดในบริเวณเกิดเหตุหรือไม่ และจะมีจุดแดงใหญ่ปรากฏบนดาว อีกจุดหนึ่งหรือไม่ หรือดาวพฤหัสบดีจะมีวงแหวนล้อมรอบเช่นดาวเสาร์หรือไม่ คำถามเหล่านี้เป็นคำถามที่ยังไม่มีใครตอบได้อย่างมั่นใจ 100%
จะยังไงก็ตาม ยานอวกาศ Galileo ที่อยู่ห่างจาก ดาวพฤหัสบดี 240 ล้านกิโลเมตรขณะเกิดเหตุ จะถ่ายภาพบันทึกเหตุการณ์สำคัญครั้งนี้ และกล้องโทรทัศน์ Hubble ก็ได้ติดตามดู การชนครั้งนี้ด้วยเหมือนกัน
สุริยจักรวาลของเรามีดาวที่มีบรรยากาศ 12 ดาว ได้แก่ ดาวเคราะห์ทุกดวง นอกจากดาวพุธ และดวงจันทร์ที่ชื่อ Io, Titan, Triton รวมทั้งดวงอาทิตย์ด้วย แต่ข้อมูลด้านอุตุนิยมวิทยาของดาวเหล่านี้มีน้อยมาก ทำให้เราไม่รู้สภาพดิน ฟ้า อากาศบนดาวเหล่านั้นดีเลย
นักวิทยาศาสตร์หลายคนคาดว่า วันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2517 Shoemaker-Levy 9 จะช่วยให้เรารู้สถานภาพบรรยากาศบนดาวพฤหัสบดียามเมื่อถูกดาวหางชน และเราก็จะรู้สภาพดินฟ้า อากาศบนโลกยามถูกดาวหางชนด้วยเช่นกัน

ที่มา : ดร.สุทัศน์ ยกส้าน
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)