ความหลากหลายเชิงกายภาพของดาวเคราะห์
ก่อนที่มนุษย์จะสามารถส่งจรวดออกสำรวจอากาศได้ เราเคยเชื่อว่า ดาวเคราะห์ทั้ง 9 ดวงของสุริยจักรวาลมีโครงสร้างและสมบัติเชิงกายภาพที่คล้ายคลึงกัน เช่นโลกกับดาวศุกร์เป็นดาวแฝด เพราะมีขนาดไล่เลี่ยกัน และถือกำเนิดเกิดมาพร้อมกัน เพียงแต่อุณหภูมิของบรรยากาศบนดาวศุกร์สูงกว่าอุณหภูมิเฉลี่ยบนโลกเท่านั้นเอง สำหรับกรณีของอังคารนั้น ถึงแม้อุณหภูมิบนดาวจะต่ำมากก็ตาม แต่ทั้งโลกและดาวอังคารต่างก็มีน้ำแข็งปกคลุมเป็นบางส่วนเหมือนกัน ส่วนดาวพุธนั้น มีโครงสร้างที่คล้ายคลึงดวงจันทร์ของโลกมาก
แต่เมื่อนักวิทยาศาสตร์ ได้ส่งยานอวกาศไปสำรวจดวงจันทร์ ได้ส่งยานไปถ่ายภาพดาวเคราะห์น้อยและดวงจันทร์ต่างๆ ของสุริยจักรวาล รวมทั้งดาวเคราะห์อื่นๆ อีก 7 ดวง (ยกเว้นดาวพลูโต) เราได้ความรู้เกี่ยวกับสุริยจักรวาลในช่วงเวลา 40 ปีนี้มากกว่าความรู้ที่เราเคยสะสมมาตั้งแต่มนุษย์ได้ถือกำเนิดเกิดมาบนโลกหลายล้านเท่าก็ตาม แต่เราได้พบสัจธรรมข้อหนึ่งว่า ในบรรดาดาวเคราะห์และดวงจันทร์ร่วม 60 ดวงที่เรามีนั้น ไม่มีดาวดวงใดเหมือนกันหรือคล้ายกันเลย
ยานอวกาศ Pioneer และ Magellan ของสหรัฐฯ ได้เคยรายงานข้อมูลกลับมาว่า ผิวดาวศุกร์ซึ่งเป็นดาว "แฝด" กับโลกนั้นร้อนและเปลือกดาวแข็งจนไม่มีการขยับเขยื้อนหรือเคลื่อนไหวใดๆ เลย ซึ่งต่างกับโลกที่มีน้ำปกคลุม และผิวโลกสามารถเลื่อนไหลทำให้เกิดปรากฏการณ์แผ่นดินไหวเนืองๆ ส่วนดาวเคราะห์ขนาดใหญ่ เช่น ดาวพฤหัสบดีหรือดาวเสาร์ ดาวเหล่านั้นมีโครงสร้างภายใน สนามแม่เหล็ก และกระบวนการถ่ายเทความร้อนที่ไม่เหมือนกับโลก หรือคล้ายกันเอาเลย ข้อมูลจากยาน Voyager ยังได้แสดงให้เห็นอีกว่า แกนแท่งแม่เหล็กของดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์ และดาวมฤตยู เอียงทำมุมเกือบ 60o กับแกนหมุนของดาวเหล่านั้น ในขณะที่มุมระหว่างแกนดังกล่าวของโลกเป็นเพียง 23o เท่านั้นเอง
ในการประชุมนานาชาติเรื่อง Comparative Paletology ที่เมือง Pasadena ในสหรัฐอเมริกาเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 25... ที่ประชุมได้พิจารณาความคิดเห็นเดิมของนักดาราศาสตร์ที่เคยคิดกันว่า การศึกษาค้นคว้าดาวเคราะห์อื่นๆ จะทำให้เรารู้จักและเข้าใจโลกเราดีขึ้น ที่ประชุมได้มีความเห็นพ้องกันว่า ความเห็นนั้นไม่ถูกต้อง เพราะดาวทุกดวงไม่มีลักษณะจำเพาะที่คล้ายกับโลกเราเลย ดังนั้นการรู้จักดาว-เดือนอื่นๆ ไม่ได้ทำให้เรารู้จักโลกเราดีขึ้นเลย
ที่ประชุมยังได้อภิปรายปัญหาพายุ บนดาวเนปจูนที่มีความเร็วสูงถึง 1,400 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งนับว่าเร็วกว่าพายุบนดาวพฤหัสบดีมาก ทั้งๆ ที่ดาวเนปจูนอยู่ไกลจากดวงอาทิตย์มากกว่าดาวพฤหัสบดี และปัญหาผิวดาวศุกร์ที่ไร้การเคลื่อนไหวใดๆ
เมื่อประมาณ 30 ปีก่อนนี้ นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาวะแวดล้อมหลายคนเชื่อว่าการศึกษาสภาวะเรือนกระจกบนดาวศุกร์จะช่วยให้เราสามารถป้องกันภัยชนิดเดียวกับโลกได้ และนักอุตุนิยมวิทยาหลายคนเชื่อว่า การเข้าใจสภาพของจุดแดงใหญ่ (Great Red Spot) บนดาวพฤหัสบดีจะช่วยให้เราสามารถพยากรณ์อากาศบนโลกล่วงหน้าได้นานๆ ความคาดหวังเช่นนี้ได้ผลักดันให้นักวิทยาศาสตร์ทั้งหลายทุ่มเทความสามารถมุ่งศึกษาดาวต่างๆ เป็นเจ้าละหวั่น
แต่เมื่อเรายิ่งรู้จักดาวต่างๆ เราก็ยิ่งมั่นใจว่า คำตอบที่เราต้องการนำมาเพื่อแก้ปัญหาบนโลกเรา หาได้อยู่ที่ดาวต่างๆ บนสวรรค์ไม่
เมื่อสถานการณ์ได้กลับกลายไปเช่นนี้ นักดาราศาสตร์หลายท่านจึงมีความเห็นว่า เราจำต้องศึกษาโลกของเราให้เข้าใจถ่องแท้เสียก่อน เผื่อจะพบหนทางเข้าใจเหตุการณ์ต่างๆ บนดาวดวงอื่นได้
รู้เรา แล้วรู้เขาครับ

ที่มา : ดร.สุทัศน์ ยกส้าน
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)