เยือนดาวพุธ
ดาวพุธเป็นดาวเคราะห์บริวารดวงหนึ่ง ของดวงอาทิตย์ที่โคจรใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด ด้วยความเร็วมากที่สุด คือจะอยู่ห่างโดยเฉลี่ย 57,909,200 กิโลเมตร มีความเร็วประมาณ 172,248 กิโลเมตร/ชั่วโมง ดาวพุธหมุนรอบตัวเองหนึ่งรอบใช้เวลานาน 59 วัน (โลกหมุนรอบตัวเองหนึ่งรอบในเวลา 1 วัน) และโคจรรอบดวงอาทิตย์หนึ่งรอบในเวลา 88 วัน การอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากทำให้อุณหภูมิที่ผิวของดาวพุธในเวลากลางวันสูงถึง 430 องศาเซลเซียส ซึ่งนับว่าสูงพอที่จะทำให้ตะกั่วหลอมเหลว แต่ในยามค่ำคืนอุณหภูมิจะบนดาวลดต่ำถึง -180 องศาเซลเซียส ซึ่งเพียงพอที่จะทำให้ก๊าซ krypton กลายสภาพเป็นของเหลวได้สบาย
ตามปกติเราจะเห็นดาวพุธ หลังจากที่ดวงอาทิตย์ตกลงไปแล้วหรือก่อนที่ดวงอาทิตย์ขึ้นประมาณ 1 ชั่วโมง และจากการที่แสงจากดาวพุธต้องเดินทางผ่านชั้นบรรยากาศที่มีความหนามากมาสู่ตา ดังนั้นเวลาอากาศแปรปรวน นักดาราศาสตร์จะเห็นดาวพุธไม่ชัด และถึงแม้เราจะมีกล้องโทรทรรศน์ Hubble โคจรอยู่สูงเหนือพื้นดินก็เถอะ เราก็ต้องระมัดระวังเวลาการถ่ายภาพดาวพุธ เพราะการที่มันอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากนี้เอง ที่ทำให้กล้องอาจจะประสบอุบัติเหตุเวลา เล็งตรงไปที่ดวงอาทิตย์ ทำให้แสงอาทิตย์ที่มีความเข้มสูง พุ่งเข้าทำลายฟิล์ม และชิ้นส่วนต่างๆ ที่ขอบยางของกล้องได้
ดังนั้นหนทางเดียวที่ จะต้องทำในการศึกษาดาวพุธ คือ ส่งยานอวกาศไปโคจรรอบ หรือผ่านดาวพุธที่ระยะใกล้ ดังที่สหรัฐฯ ได้เคยส่งยาน Mariner 10 ไปสังเกตดาวพุธประมาณ 25 ปีมาแล้ว ยาน Mariner ได้ถูกแรงโน้มถ่วงของดาวศุกร์เหวี่ยง ให้พุ่งผ่านดาวพุธเพื่อถ่ายภาพระยะใกล้ ภาพถ่ายที่ได้แสดงให้เห็นชัดว่า ผิวของดาวดวงนี้มีลักษณะ คล้ายกับผิวของดวงจันทร์มาก ความคล้ายคลึงนี้ได้มีส่วน ทำให้นักวิทยาศาสตร์หลายคน ลดความสนใจในดาวพุธมาก เพราะคิดว่า ดาวพุธก็คือดวงจันทร์ของโลกดีๆ นี่เอง เพียงแต่แทนที่จะโคจรรอบโลก กลับไปโคจรรอบดวงอาทิตย์
ความนึกคิดนี้ได้ ทำให้ดาวพุธเป็นดาวที่โลกลืม ดังจะเห็นได้จากสถิติการสำรวจดวงดาวต่างๆ ของ NASA ในระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมานี้ว่า สหรัฐฯ ได้ส่งยานอวกาศไปสำรวจดวงจันทร์ 40 ครั้ง ไปดาวศุกร์ 20 ครั้ง และดาวอังคาร 15 ครั้ง แต่ได้ส่งยานไปสำรวจดาวพุธเพียงครั้งเดียว
ข้อมูลที่ยาน Mariner ส่งกลับมายังโลก แสดงให้เห็นว่าดาวพุธมีคุณสมบัตินานๆ ประการที่แตกต่างจากดาวเคราะห์ทั่วไป
ประการแรกคือการที่ดาวเล็กๆ ดวงนี้มีความหนาแน่นมากผิดปกติ นักดาราศาสตร์ได้ มีข้อสังเกตว่าดาวเคราะห์ ที่มีขนาดปานกลางเช่นโลกและดาวศุกร์นั้น จะมีหนาแน่นมาก แต่ดาวเคราะห์ขนาดเล็ก เช่นดวงจันทร์และดาวอังคาร จะมีความหนาแน่นน้อย ดาวพุธนั้นมีขนาดใหญ่พอๆ กับดวงจันทร์ แต่กลับมีความหนาแน่นพอๆ กับโลก ข้อมูลเช่นนี้ทำให้เรารู้ว่าดาวพุธ จะต้องมีแกนที่ประกอบด้วยเหล็ก และเป็นไปได้ว่าแกนเหล็กที่ว่านี้ จะมีขนาดใหญ่กว่าแกนเหล็กของโลก หรือดาวศุกร์เสียอีก นอกจากนี้ ยาน Mariner ยังรายงานว่า ดาวพุธนั้นมีสนามแม่เหล็กความเข้มสูงอีกด้วย ก็ในเมื่อสนามแม่เหล็กโลกเกิดจากการไหลวนของเหล็กเหลวภายในแกน นักวิทยาศาสตร์จึงคิดว่าสนามแม่เหล็กของดาวพุธคงเกิดจากไหลวนของเหล็กเหลวภายในแกนเช่นกัน แต่ถ้าแกนของดาวพุธเป็นเหล็กเหลวจริงๆ เราก็ต้องทำความเข้าใจเรื่องการนำ การพาความร้อนและการเย็นตัวของดาวใหม่หมดทั้งดาวแล้วตลอดเวลา 4,500 ล้านปีที่ผ่านมานี้ แต่ถ้าแกนมันเป็นเหล็กแข็ง สนามแม่เหล็กความเข้มสูงในตัวมันก็ไม่น่าจะมี ซึ่งก็ขัดแย้งกับข้อมูลที่ Mariner รายงานว่า สนามแม่เหล็กของดาวพุธนั้นมีความเข้มสูงเป็นอันดับสองรองจากสนามแม่เหล็กโลกเลยทีเดียว ดังนั้นสมุฏฐานของสนามแม่เหล็กบนดาวพุธจึงยังไม่มีสรุป
และเมื่อประมาณ 3 ปีมานี้ คณะนักดาราศาสตร์จากสถาบัน California Institute of Technology ได้ส่งคลื่นเรดาร์ไปกระทบผิวดาวพุธ ในการศึกษาคลื่นที่สะท้อนกลับมายังโลก เขาได้ข้อมูลที่ส่อแสดงให้เห็นว่าที่ขั้วของดาวพุธนั้นมีน้ำแข็ง
แกนของดาวพุธนั้น ตามธรรมดาเวลาโคจร จะตั้งดิ่งกับระนาบการโคจรของมัน แกนมิได้เอียงทำมุม 23 องศากับแนวดิ่ง ดังเช่นแกนของโลก การหมุนรอบตัวเองในลักษณะนี้จะทำให้บริเวณขั้วของมันไม่ได้รับแสงอาทิตย์เลยตั้งแต่มันถือกำเนิด จึงเป็นไปได้ว่า หากมีดาวหางพุ่งชนดาวพุธที่บริเวณขั้วของดาว ก้อนน้ำแข็งของดาวหางก็จะปรากฏแนบแน่นที่ขั้วอย่างไม่มีวันระเหยหายไปได้เลย แต่นักวิทยาศาสตร์อีกหลายคนกลับมีความคิดว่า หากตรงบริเวณขั้วของดาวพุธมีกำมะถันแทนที่จะมีน้ำแข็ง คลื่นเรดาร์ที่ส่งไปสำรวจจากโลกก็มิสามารถจะบอกความแตกต่างระหว่างกำมะถันกับน้ำแข็งได้ จึงเป็นว่าขณะนี้เรายังไม่รู้แน่ชัดว่าฝ้าบางๆ ที่ปรากฏอยู่ที่ขั้วของดาวพุธเป็นกำมะถันหรือน้ำแข็งกันแน่
เมื่อเรารู้จักดาวพุธยังไม่ดีพอ เช่นนี้ NASA จึงมีโครงการจะส่งยานอวกาศ Deep Space One ไปสำรวจดาวเคราะห์วงใน เช่น ดาวศุกร์ ดาวหาง West - Kohoutek - Ikamura และดาวพุธในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 25... เพื่อแสวงหาคำตอบและรู้จักดาวปริศนาดวงนี้ให้ดีขึ้นครับ

ที่มา : ดร.สุทัศน์ ยกส้าน
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)