วาระสุดท้ายของยานแม็กแจลแลน
ขณะนี้ยานอวกาศ Magellan ของสหรัฐฯ ซึ่งกำลังโคจรสำรวจสภาพทางวิทยาศาสตร์ของดาวศุกร์อยู่ ได้ส่งข้อมูลที่มีคุณค่ามากมายกลับมายังโลก ถึงแม้ยานจะทำงานได้ดีสักเพียงใดก็ตาม แต่ในปลายปีนี้ องค์การบินและอวกาศของสหรัฐฯ (NASA) ก็จะทำในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน ก็คือ NASA จะส่งสัญญาณวิทยุบังคับอุปกรณ์วิทยาศาสตร์บนยาน Magellan ให้หยุดทำงาน
ดาวศุกร์เป็นดาวเคราะห์ที่อยู่ใกล้โลกมากที่สุด และมีรูปพรรณสัณฐานคล้ายคลึงโลกมากที่สุด มันโคจรอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์โดยเฉลี่ยประมาณ 90 ล้านกิโลเมตร ดังนั้นหากเรามีโอกาสได้ไปยืนบนดาวดวงนี้ เราจะเห็นดวงอาทิตย์มีขนาดใหญ่กว่าที่เราเห็นจากโลกประมาณ 1.3 เท่า นักดาราศาสตร์บางคนเชื่อว่า ในอดีตที่นานมากแล้ว ดาวศุกร์เคยมีสภาพดินฟ้าอากาศเช่นเดียวกับโลกขณะนี้ และในอีกหลายพันล้านปีข้างหน้าโลกก็จะมีสภาพเช่นเดียวกับดาวศุกร์ ขณะนี้ยังไงยังงั้น
ขณะโคจรที่ระดับความสูงตั้งแต่ 250-8,500 กิโลเมตรนั้น ยาน Magellan ได้ใช้สัญญาณเรดาร์ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สำรวจผิวดาวศุกร์ ทำให้สามารถเห็นวัตถุทุกชนิดที่มีขนาดตั้งแต่ 100 เมตรขึ้นไปได้หมด ภาพที่ NASA ได้รับแสดงให้เห็นว่า พื้นผิวดาวศุกร์มีหลุมอุกกาบาตอยู่ 850 หลุม ซึ่งนับว่าน้อยมากถ้าเราเปรียบเทียบกับจำนวนหลุมอุกกาบาตบนดวงจันทร์หรือดาวอังคาร สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะบนดาวศุกร์นั้นมีบรรยากาศหนาแน่นมาก ดังนั้นเวลาอุกกาบาตขนาดเล็ก พุ่งชนดาวศุกร์มันจะถูกอากาศเสียดสีจนลุกไหม้หมด แต่สำหรับกรณีของดวงจันทร์หรือดาวอังคารที่ไม่มีบรรยากาศปกคลุมเลย อุกกาบาตทุกขนาดสามารถปะทะได้โดยไม่มีอะไรต้านทาน
ภาพถ่ายจากยาน Magellan ยังแสดงให้เห็นร่องรอยการระเบิด ของภูเขาไฟบนดาวศุกร์อีกด้วย ว่ามีธารลาวาที่มีความยาวถึง 6,800 กิโลเมตร และกว้าง 1 กิโลเมตร นักธรณีวิทยาสันนิษฐานว่า ลาวานี้มีกำมะถันเป็นองค์ประกอบมันจึงไหลได้ไกลและดีและเหตุการณ์แผ่นดินไหวได้ยกระดับความสูงของเส้นทางที่ลาวาไหลผ่าน คุณสมบัติการสะท้อนคลื่นเรดาร์ยังแสดงให้เห็นอีกว่าธารลาวานี้มีอายุน้อย ซึ่งนั่นก็หมายความว่า ดาวศุกร์เป็นดาวเคราะห์ที่สี่ของสุริยจักรวาลที่มีภูเขาไฟที่ยังไม่ดับ ดาวเคราะห์ดวงอื่นๆ ที่มีภูเขาไฟเหมือนกัน คือ ดวงจันทร์ Io ของดาวพฤหัสบดีดวงจันทร์ Triton ของดาว Neptune และโลกของเราเอง
ในปี พ.ศ. 2537 นักวิทยาศาสตร์ แห่ง Jet Propulsion Laboratory ที่แคลิฟอร์เนีย ได้แถลงว่า เขาได้พบหลักฐานที่แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ในอดีตเมื่อ 3,000 ล้านปีมาแล้ว พื้นผิวดาวศุกร์เคยมีทะเลที่มีความลึก 8-20 เมตรปกคลุม ทั้งนี้โดยอาศัยข้อมูลที่ได้รับจากยานอวกาศ Pioneer ขณะตกปะทะผิวดาวศุกร์เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2526 ก่อนที่ยานจะพังทลาย อุปกรณ์บนยานรายงานว่าได้พบธาตุ deuterium มากผิดปกติบนพื้นดาว ซึ่งเหตุผลหนึ่งเดียวที่สามารถอธิบายข้อมูลนี้ได้คือพื้นดินบริเวณนั้นต้องเคยเป็นท้องทะเลมาก่อน และถ้าดาวศุกร์เคยมีทะเล นั่นก็หมายความว่า "ชีวิต" ก็ต้องเคยอุบัติบนดาวศุกร์แล้วเช่นกัน
แต่ก่อนที่ยาน Magellan จะยืนยันได้ว่า ดาวศุกร์เคยมีสิ่งมีชีวิตหรือไม่มี องค์การ NASA ได้ตัดสินใจสรุปปิดโครงการ เพราะงบประมาณดำเนินโครงการใกล้จะหมด และ NASA ตั้งใจจะเริ่มโครงการส่งยาน Cassini ไปสำรวจดาวเสาร์จากโครงการยาน Galileo ไปดาวพฤหัสบดี โครงการยาน Ulysses ไปดวงอาทิตย์ และโครงการยาน Mars Observatory ไปสำรวจดาวอังคาร
แต่ก่อนที่วาระสุดท้ายจะมาถึง วิศวกรจาก NASA ได้ดำริจะปรับวงโคจรของยานอวกาศ Magellan จากวงรีให้เป็นวงกลม เพื่อให้ยานสำรวจหาข้อมูลโครงสร้างภายในของดาวศุกร์ โดยจะส่งสัญญาณบังคับยานอวกาศให้เบนทิศการโคจรให้พอเหมาะพอดี หากมิฉะนั้นแล้ว แรงเสียดทานของบรรยากาศเหนือดาวศุกร์จะเผาผลาญยานจนลุกไหม้เป็นไฟได้
เสี่ยงก็ต้องเสี่ยงละครับ ตายไปก็ยังดีเสียกว่าลอยเฉยอยู่เปล่า

ที่มา : ดร.สุทัศน์ ยกส้าน
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)