ดาวหางไฮอาคุตาเกะ (Hyakutake) ถูกพบเป็นครั้งแรกในคืนวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2540 โดยนักดาราศาสตร์สมัครเล่นชื่อ Yuli Hyakutake โดยเขาได้ใช้กล้องสองตาส่องเห็นดาวหางดวงนี้ขณะมันปรากฎอยู่ในกลุ่มดาวคันชั่ง
เมื่อแรกพบ หัว (Coma) ของไฮอาคุตาเกะมีขนาดเล็กมาก และส่วนหางก็ยังไม่ปรากฏเนื่องจากดาวหางอยู่ไกลจากดวงอาทิตย์มาก แต่เมื่อดาวหางโคจรที่เคลื่อนลึกเข้ามา ในสุริยจักรวาล กลุ่มก๊าซที่บริเวณหัวของดาวหาง ได้เพิ่มขนาดขึ้น และหางของดาวก็ปรากฏชัดขึ้น
ถึงแม้ว่าระยะเวลาที่ดาวหางไฮอาคุตาเกะ จะปรากฎให้เราเห็นค่อนข้างสั้น แต่นักดาราศาสตร์ก็สามารถคำนวณได้ว่า วงโคจรของมันเป็นวงรีที่มีขนาดใหญ่มาก ในอดีตเมื่อประมาณ 10,000 ปีก่อนนี้ไฮอาคุตาเกะ ได้เคยโคจรมาใกล้ดวงอาทิตย์ครั้งหนึ่งแล้ว และเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2540 ชาวโลกก็ได้เห็นดาวหางดวงนี้ ด้วยตาเปล่าอีกครั้งหนึ่ง
การปรากฏตัวของมันในครั้งนี้ปรากฏว่า มันมีหางสีน้ำเงิน ยาวยืดถึง 1 ล้านกิโลเมตร พาดผ่านหนึ่งในสามของท้องฟ้า ไฮอาคุตาเกะโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด ที่ระยะห่างเพียง 34.5 ล้านกิโลเมตร และมีความเร็วสูงถึง 320,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ดาวหางที่เราเห็นทุกดวงเป็นดาวบริวารในสุริยจักรวาล มีแกนที่เป็นใจกลางหัวคือนิวเคลียส (nucleus) ซึ่งประกอบด้วยน้ำแข็งและฝุ่นที่อัดตัวแน่น เวลาดาวหางเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ ความร้อนจากแสงอาทิตย์ทำให้น้ำแข็งบนดาวระเหิด