ทฤษฎีจักรวาลต้องรับการแก้ไข?
นักวิทยาศาสตร์ มีหลักฐานมากมาย หลายประการ ที่แสดงให้เราเห็นว่า กาแล็กซี (galaxy) ต่างๆ ของจักรวาล รวมทั้งกาแล็กซีทางช้างเผือกของเรากำลังเคลื่อนที่ ห่างจากกันตลอดเวลา นี่เป็นผลที่เกิดจากการระเบิด ของสสารครั้งอภิมโหฬารเมื่อประมาณ 15,000 ล้านปีมาแล้ว แต่ถึงแม้วิทยาศาสตร์ จะก้าวหน้าไปไกลสักเพียงใดก็ตาม สำหรับคำถาม "ง่ายๆ " ที่ว่า จักรวาลมีอายุเท่าไร และจักรวาลจะขยายตัวต่อไปเรื่อยๆ หรือจะหดตัวกลับ ก็ยังเป็นคำถามที่ "ผู้รู้" ทั้งหลายยังตอบได้อย่างไม่มั่นใจเท่าใดนัก ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ใช้วิธีวัดขนาดของจักรวาล และความเร็วในการเคลื่อนที่ของกาแล็กซีเพื่อตอบคำถามดังกล่าว เพราะข้อมูลทั้งสองนี้สามารถชี้บอกอายุและอนาคตของจักรวาลได้
เมื่อประมาณ 60 ปีมาแล้ว E.P. Hubble แห่ง Carnegie Institution ในสหรัฐอเมริกา เป็นนักวิทยาศาสตร์คนแรก ที่ได้พบหลักฐานว่าจักรวาลกำลังขยายตัว ด้วยความเร็วที่แปรโดยตรงกับระยะทาง นั่นหมายความว่าหากเราพบกาแล็กซีที่อยู่ห่าง จากโลกเป็นระยะทาง 50 magaparsec ว่ามีความเร็ว 5,000 กิโลเมตร/วินาที กาแล็กซีอื่นๆ ที่อยู่ห่างจากโลก 500 magaparsec จะมีความเร็ว 10 เท่า คือเท่ากับ 50,000 กิโลเมตร/วินาที (1 magaparsec คือระยะทางที่แสงเดินทางได้ในเวลา 3.26 ล้านปี) Hubble พบว่า อัตราส่วนระหว่างความเร็วของกาแล็กซีกับระยะทางที่กาแล็กซี อยู่ห่างจากโลกมีค่าคงที่ค่าหนึ่ง นักวิทยาศาสตร์รู้จักค่าคงที่นี้ในนามว่า Hubble's constant หรือค่าคงที่ของ Hubble ที่มักจะเขียนแทนด้วยสัญลักษณ์ Ho
ความเพียรพยายามของนักวิทยาศาสตร์ในการวัดค่า Ho นี้ได้บอกว่า Ho มีค่าอยู่ระหว่าง 50 กับ 100 กิโลเมตร/วินาที/เมกาพาร์เชค ดังนั้นหาก Ho ที่วัดได้มีค่ามาก นั่นแสดงว่าจักรวาลมีอายุน้อย แต่หาก Ho มีค่าน้อย จักรวาลมีอายุมาก
ความไม่แน่นอนในการวัดค่าคงที่ของ Hubble มักจะเกิดจากความยุ่งยากในการวัดระยะทางไกลๆ นักวิทยาศาสตร์ได้ใช้ดาวชนิด Cepheid เป็นต้นแบบในการกำหนดระยะทาง โดยศึกษาความแปรปรวนด้านความสว่างของดาวชนิดนี้

ที่มา : ดร.สุทัศน์ ยกส้าน
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)