การประกันคุณภาพการวัดปริมาณรังสีในระดับปานกลางและระดับต่ำ

สำหรับการป้องกัน อันตรายจากรังสี
การวัดปริมาณรังสี ในระดับปานกลางและระดับต่ำ สำหรับการป้องกันอันตรายจากรังสีมีความซับซ้อนมาก เนื่องจากต้องการวัดปริมาณรังสีที่มีค่าน้อย และต้องการวัดปริมาณรังสี ในสิ่งแวดล้อมซึ่งปกติก็มีปริมาณรังสีในธรรมชาติอยู่ระดับหนึ่งแล้ว ดังนั้นการวัดค่าปริมาณน้อย ไ ที่เพิ่มขึ้นจากปกติจึงเป็นเรื่องยากที่จะหาได้ถูกต้องประกอบกับข้อจำกัดในเรื่องของเครื่องมือวัดรังสีที่มีต่อชนิดและพลังงานของรังสี ทำให้เกิดความซับซ้อนในการตรวจวัดมากยิ่งขึ้น

การประกันคุณภาพการวัดปริมาณรังสี สามารถทำได้โดย
1. การปรับเทียบเครื่องวัดปริมาณรังสีกับค่ามาตรฐาน ซึ่งบำรุงรักษาโดยห้องปฏิบัติการวัดรังสีมาตรฐานทุติยภูมิของสำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ
2. การเปรียบเทียบเครื่องวัดปริมาณรังสีกับเครื่องวัดปริมาณรังสีจากหน่วยงาน สากลอื่น ๆ ที่มีการปรับทียบมาตรฐานกับห้องปฏิบัติการมาตรฐาน

เครื่องวัดปริมาณรังสีที่ใช้ในการวัดปริมาณรังสีในระดับต่ำนี้ นิยมใช้เครื่องวัดปริมาณรังสีแบบ ทีแอลดี ซึ่งเป็นเครื่องวัดปริมาณรังสีชนิดสะสมปริมาณรังสีไว้ในรูปของพลังงานที่กระตุ้นให้อิเลคตรอนในสารประกอบประเภทหนึ่งขึ้นไปอยู่ในเสตทที่สูงขึ้น เมื่อนำสารประกอบนั้นไปเผาให้ร้อน ก็จะคายพลังงานส่วนนั้นออกมาในรูปของแสง สามารถตรวจวัดได้และเป็นสัดส่วนกับปริมาณรังสีที่สารนั้นดูดกลืนได้ การวัดปริมาณรังสีด้วยวิธีนี้ สามารถวัดปริมาณรังสีได้ใระดับต่ำมาก อย่างไรก็ตามในการวัดนั้นจะมีค่าความคลาดเคลื่อนทางสถิติติดอยู่ด้วยเสมอ ดังนั้นหากการวัดปริมาณรังสีในธรรมชาติมีค่า เท่ากับ 70 นาโนเกรย์ต่อชั่วโมง + นาโนเกรย์ต่อชั่วโมงแสดงว่าไม่สามารถวัดค่าปริมาณรังสีในสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้น น้อยกว่า 5 นาโนเกรย์ต่อชั่วโมงได้

นอกจากนี้หากบริเวรที่ทำการตรวจวัดมีความซับซ้อน เนื่องจากมีรังสีหลายชนิดหรือหลายพลังงาน ปะปนกันอยู่ เครื่องวัดปริมาณรังสีที่ให้ค่าตอบสนองต่อรังสีแต่ละชนิดไม่เท่ากันสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการประเมินว่า บริเวณนั้นมีรังสีใดอยู่บ้าง เพื่อให้การประเมินค่าปริมาณรังสีถูกต้องที่สุด อย่างไรก็ตาม ลักษณะเช่นนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับเทคนิคเฉพาะ ดังนั้นจึงมักจัดให้มีการเปรียบเทียบกันระหว่างห้องปฏิบัติการที่ทำหน้าที่ประเมินค่าปริมาณรังสีนี้ เพื่อทดสอบเทคนิคในการประเมินดังกล่าว

งานนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ปฏิบัติงานทางรังสี และประชาชนทั่วไป ทำให้ผลการตรวจวัดปริมาณรังสีมีค่าถูกต้องเป็นที่น่าเชื่อถือ ทำให้เกิดความปลอดภัยในการใช้นิวเคลียร์เทคโนโลยี

กองการวัดกัมมันตภาพรังสี สำหนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ ได้เห็นความสำคัญของเรื่องนี้ จึงเข้าร่วมกิจกรรมในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องและเป็นหน่วยกลางเพื่อจัดให้มีการเปรียบเทียบภายในประเทศระหว่างหน่วยงานที่ทำหน้าที่นี้


ที่มา : สำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ