เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการด้วย Proxy Server

ลองนึกดูว่า ถ้ามีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในองค์กรหนึ่งต้องการใช้ข้อมูลจากภายนอกที่เป็นข้อมูลเดียวกัน เช่น เมื่อใช้เบราเซอร์โหลดข้อมูลซีเอ็นเอ็นที่ตั้งอยู่ที่ www.cnn.com โดยหลายคนในองค์กรเรียกไปยังเซอร์ฟเวอร์นี้สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ข้อมูลที่เรียกก็จะต้องวิ่งผ่านสายส่งสัญญาณมาเท่ากับจำนวนผู้เรียก หรือถ้ามีผู้ใช้ในองค์กรเรียกใช้ไฟล์ซอฟต์แวร์ที่มีผู้บริการให้ โดยใช้ FTP และเรียกไปยังที่เดียวกันหลายคนเช่นกัน ปัญหาในเรื่องการคับคั่งของปริมาณข้อมูลบนสายส่งย่อมเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

การใช้งานอินเทอร์เน็ตเพิ่มปริมาณขึ้นอย่างรวดเร็ว ลองพิจารณาที่ประเทศไทยปริมาณผู้ใช้เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันมีจำนวนผู้ให้บริการที่เรียกว่า ISP หลายราย แต่หากนับอัตราการเพิ่มของผู้ใช้กับอัตราการเพิ่มของขนาดสายสัญญาณเชื่อมโยง เช่นสายเชื่อมโยงไปต่างประเทศ พบว่าอัตราการเพิ่มของผู้ใช้เพิ่มสูงกว่ามาก ดังนั้นจึงพบได้ว่าความเร็วในการเรียกข้อมูลจากต่างประเทศจะมีแนวโน้มที่ลดความเร็วลง หลายองค์กรก็เช่นเดียวกันเมื่อเชื่อมโยงเข้าสู่ ISP ด้วยความเร็วคงที่อันหนึ่งต่อมาผู้ใช้งานมากขึ้นความเร็วในการใช้ก็ลดลงถึงแม้จะมีการขยายสัญญาณให้เร็วขึ้น แต่ก็รองรับจำนวนผู้ใช้ไม่ได้อยู่ดี

ด้วยจำนวนข้อมูลที่เรียกใช้มีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณ ทำให้เครือข่ายที่มีเดิมนั้นต้องรับภาระในการบริการข้อมูลจำนวนมาก จึงต้องมีการพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ

แนวทางในการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ

ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตจึงต้องแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นโดยเน้นให้บริการภายใน ผู้ใช้ข้อมูลสามารถเรียกใช้ข้อมูลได้จากภายใน โดยไม่ต้องโหลดจากภายนอก การแก้ปัญหานี้หน่วยงานไอเอสพีหรือผู้ดูแลอินเทอร์เน็ตขององค์กรจึงต้องทำดังนี้
1. ตั้ง FTP เซอร์ฟเวอร์เก็บข้อมูลที่ใช้บ่อย จากหลักการที่ต้องพาข้อมูลที่ต้องใช้บ่อย ๆ มาเก็บไว้ให้ใกล้ที่สุด นั่นคือ ต้องนำเอาข้อมูลมาบริการสมาชิกภายในองค์กรหรือโลคัลเน็ตเวิร์ก การตั้ง FTP เซอร์เวอร์ภายในหน่วยงานกระทำได้ด้วยการใช้หลักการ mirror จาก FTP เซอร์ฟเวอร์ที่ใช้บ่อย ๆ เช่น มีโปรแกรมที่ใช้ไดรเวอร์ที่มีอยู่ใน ftp.microsoft.com เป็นต้น
2. การตั้งเซอร์ฟเวอร์พร็อกซี ในองค์กรมีผู้ใช้จำนวนมากที่ใช้งานประเภทออนไลน์ เช่น ใช้เบราเซอร์ หรือโปรโตคอล http การเรียกข้อมูลจากภายนอกจึงเป็นการทำงานแบบไคลเอนต์เซอร์ฟเวอร
ในกรณีนี้สามารถลดปริมาณข้อมูลที่วิ่งอยู่ในสายสัญญาณเชื่อมโยง ด้วยการตั้งเซอร์ฟเวอร์ที่องค์กรเพื่อเป็นบัฟเฟอร์รองรับข้อมูล เมื่อมีผู้เรียกข้อมูลจากภายนอกคนแรก ข้อมูลนั้นจะนำมาเก็บไว้ที่เซอร์ฟเวอร์นี้ด้วย ดังนั้นถ้ามีผู้ใช้ในองค์กรอื่นต้องการใช้ก็จะนำจากเซอร์ฟเวอร์นี้ได้ทันที เราเรียกว่าเซอร์ฟเวอร์ว่า Proxy
การเก็บข้อมูลใน Proxy มีลักษณะเป็นการเก็บแบบเรียงกันไปในเซอร์ฟเวอร์ ครั้นเมื่อเต็มที่เก็บก็จะลบส่วนที่เคยนำมาก่อนสุดออก เช่น ถ้ามีเซอร์ฟเวอร์ Proxy ขนาด 1 กิกะไบต์ ก็จะเก็บข้อมูลในบัฟเฟอร์นี้และเมื่อข้อมูลเต็มก็จะลบออกแบบ round rubin หรือวนรอบ
การเชื่อมต่อด้วย Proxy ทำให้ระบบลดปริมาณข้อมูลที่อยู่ในสายสัญญาณเข้าองค์กรลดลงได้มาก ตังอย่างเช่น ผู้ใช้ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์สามารถเซตการเชื่อมผ่าน Proxy ชื่อ proxy.ku.ac.th ดังนั้นการค้นหาข้อมูลจะดูจากที่นี่ก่อน ถ้าพบจะได้ข้อมูลอย่างรวดเร็วทำให้ผู้ใช้ได้ข้อมูลเร็ว และลดปริมาณข้อมูลที่จะวิ่งผ่านสายสัญญาณเข้าองค์กร
ปกติการติดตั้ง Proxy ขององค์กรจะมีการเชื่อมโยงกับ Proxy ในระดับที่อยู่เหนือขึ้นไปอีก โดย Proxy ที่อยู่เหนือขึ้นไปจะมีข้อมูลให้เรียกใช้ได้ เช่น proxy.ku.ac.th มีการเซตให้เชื่อมโยงกับ proxy.nectec.or.th ซึ่งเป็น Proxy ของเครือข่ายไทยสาร ซึ่งทำให้ได้ข้อมูลมากขึ้นและเป็นการทำให้ประสิทธิภาพในประเทศไทยดีขึ้น


รูปที่ 1 การตั้ง ftp ในองค์กรเพื่อลดปริมาณข้อมูลที่เชื่อมอินเทอร์เน็ต


รูปที่ 2 ผู้ใช้ในองค์กรต้องการใช้เวบเซอร์ฟเวอร์เดียวกันจะต้องเรียกผ่านสายเชื่อมโยงทำให้ปริมาณข้อมูลบนสายมีมาก


รูปที่ 3 การใช้ Proxy เป็นบัฟเฟอร์ขององค์กร

การติดตั้งค่าในเบราเซอร์ให้เชื่อมเข้าหา PROXY

สำหรับในองค์กรที่มีการวางตัวเซอร์ฟเวอร์ประเภท Proxy ไว้ผู้ใช้จำเป็นจะต้องติดตั้งโปรแกรมในไคลเอนต์ เช่น เบราเซอร์ หรือftp ให้ใช้ Proxy ได้


สำหรับผู้ใช้เน็ตสเคป เราสามารถเซตได้ เช่น ในเน็ตสเคปเวอร์ชัน 3 ให้คลิกที่ option จากนั้นเลือกเมนู Network จากนั้นเลือก Proxy ให้คลิกเลือก Proxy แล้วจึงป้อนข้อมูล เช่น ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ป้อน proxy.ku.ac.th/autoconfig.pac
แต่สำหรับเน็ตสเคปเวอร์ชัน 4 ให้คลิก Edit และเลือก preference จากนั้นดับเบิลคลิกที่ advance จะพบคำว่า Proxy ให้คลิก Proxy ให้คลิกที่ Automatic Proxy configulation โดยป้อนข้อมูลชื่อ Proxy server เช่นถ้าเป็นของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ก็ป้อน proxy.ku.ac.th/autoconfig.pac

ต้องได้รับความร่วมมือ

การใช้งานอินเทอร์เน็ตในองค์กรต้องได้รับความร่วมมือเพื่อประโยชน์ร่วมกัน ผู้ใช้ก็ได้ข้อมูลเร็วขึ้น ทางองค์กรก็ลดปริมาณข้อมูลที่วิ่งอยู่ในสายหลัก ซึ่งมีความเร็วจำกัดอยู่แล้ว เพื่อทุกคนจะได้ประโยชน์ร่วมกัน แต่หากผู้ใช้ไม่เซตโปรแกรมเบราเซอร์ของตนให้เชื่อมกับ Proxy การติดตั้ง Proxy ก็จะไม่มีประโยชน์เพราะทุกครั้งผู้ใช้จะวิ่งไปยังเซอร์ฟเวอร์ปลายทางเสมอ


เขียนโดย : รศ.ยืน ภู่วรวรรณ
นิตยสารไมโครคอมพิวเตอร์ ฉบับเดือนมีนาคม 2541
Last update : 06/07/1999