ขนมไทย(ประเภทไข่)(ตอนที่ 1)

 

ความเป็นมาของขนมไทย (ประเภทไข่)

ขนมไทยประเภทไข่ เราเรียกว่า ขนมไทยแปลงเพราะมีส่วนผสมของไข่ด้วย เช่น ฝอยทอง ทองหยิบ ทองหยอด ส่วนขนมไทยแท้ ไม่มีส่วนผสมของ ไข่ เช่น ขนมถ้วย ขนมเปียกปูน และลอดช่อง เดิม ขนมไทยเรามีส่วนผสม ของแป้ง น้ำตาล กะทิ เป็นส่วนใหญ่ ต่อมามีผู้นำไข่มาใช้เป็นส่วนผสมในการทำขนมไทยเพิ่มขึ้น จึงทำให้มีขนมไทยชนิดต่างๆ เพิ่มขึ้น ทั้งยังได้ ประดิษฐ์คิดค้นจากฝีมือของ “ ท้าวทองกีบม้า ” ภริยา เจ้าพระยาวิไชเยนทร์ ( คอนสแตนตินฟอนคอน ) ข้าราชการผู้ใหญ่เชื้อสายกรีก ในสมัยแผ่นดิน สมเด็จพระนารายมหาราช แห่งกรุงศรีอยุธยา ขนมที่คุณท้าวคิดค้นและดัดแปลงมักมีคำนำหน้าว่า “ทอง ” จนเป็นที่นิยมมาจนถึงปัจจุบันนี้ ได้แก่ ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ทองพลุ ทองเอก ฯลฯ ซึ่งเดิมขนมเหล่านี้มักเรียกว่า “ขนมชาววัง” เพราะมีการทำเฉพาะในวัง ปัจจุบันมีการทำกันแพร่หลายและนิยมกันทั่วไป ทั้งยังมีวิธีการทำการจัดหาวัสดุ อุปกรณ์ที่หาง่าย ควรแก่การนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับการนำมาใช้ในท้องถิ่น

ขนมฝอยทอง

ส่วนผสม

ไข่เป็ด 40 ฟอง ไข่ไก่ 20 ฟอง

ไข่น้ำค้างของไข่ไก่และไข่เป็ด 1 ถ้วยตวง น้ำตาลทราย 1 ½ ก.ก. น้ำมันพืช 2 ช้อนโต๊ะ น้ำลอยดอกมะลิ 6-8 ถ้วยตวง

วิธีทำ

การฟอกน้ำตาล

    1. ขยำเปลือกไข่ที่ล้างสะอาดแล้วกับน้ำตาลทรายใส่น้ำลอยดอกมะลิ ตั้ง

      ไฟเดือด เคี่ยวจนน้ำตาลละลาย ยกลงกรอง นำไปตั้งไฟ หมั่นตักฟองออก

    2. ต่อยไข่แยกไข่แดงออก และเก็บไข่น้ำค้าง (คือไข่ขาวส่วนที่ใส่ไม่เป็นลิ่ม) รีดไข่แดงออกจากเยื่อที่หุ้ม ผสมกับไข่น้ำค้างพอเข้ากัน กรองด้วยผ้าขาวบาง ใส่น้ำมันพืชเล็กน้อยเมื่อน้ำเชื่อมเดือด ตักไข่ใส่กรวยทองเหลือหรือใบตอง โรยบนน้ำเชื่อมไปรอบ ๆ ประมาณ 30-40 รอบ ให้ฝอยทองสุก ประมาณ 2 นาทีใส่น้ำเติมนิดหน่อย ใช้ไม้แหลมพายทับเป็นแพส่ายในน้ำเชื่อม 3-4 ครั้ง เพื่อให้เส้นตรง อบควันเทียน มะลิ หรือกระดังงา

ข้อสังเกต

  1. เมื่อใส่ไข่ลงในกรวยแล้วเส้นไหลมากเป็นตอนๆ ให้เติมไข่น้ำค้างหรือกรองไข่ด้วยผ้าขาวบางอีกครั้ง
  2. จะได้ขนม 60-70 แพ

ข้อเสนอแนะ

< การใส่ไข่ไก่ ผสมไปด้วยเพื่อทำให้ฝอยทองมีลักษณะนุ่ม ไข่เป็ดมีความ

ข้นมากไข่ไก่มีความข้นน้อย ควรใช้ไข่ทั้ง 2 ชนิด เพื่อคลายความเหนียว

< ขนมประเภทไข่ภาชนะต้องสะอาดและแห้งสนิท มิฉะนั้นจะเหม็นคาวควรใช้ไข่ใหม่ ขนมจะมีรสชาติที่อร่อย

        

ขนมทองหยิบ

ส่วนผสม

ไข่เป็ด 30 ฟอง น้ำตาลทราย 1 ½ ก.ก.

ไข่ไก่ 20 ฟอง น้ำลอยดอกมะลิ 7 ถ้วยตวง

วิธีทำ

    1. ผสมน้ำตาล น้ำลอยดอกมะลิ ตั้งไฟพอละลายแล้วกรอง น้ำตั้งไฟเคี่ยวพอข้น (เป็นน้ำเชื่อมข้น)
    2. ต่อยไข่ ใช้แต่ไข่แดง รีดเอาเยื่อออกนำไปกรองตีให้ขึ้น ประมาณ 10 นาที อย่าตีนานจะทำให้เปื่อยและยุ่ย
    3. นำน้ำลอยดอกมะลิ 3 ถ้วย ผสมน้ำตาล ½ ก.ก. ตั้งไฟให้เดือด แล้วกรองทิ้งไว้ให้เย็น เป็นน้ำเชื่อมใส
    4. ตักไข่หยอดลงในน้ำเชื่อมข้น ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 ½ นิ้ว (ประมาณ 1 ช้อน) 6-7 อัน เปิดไฟพอสุกตักข้างหนึ่งลง พอสุกทั้งสองข้าง ตักขึ้นวางบนถาดที่มีน้ำเชื่อมใส ใช้มือจับ จีบ 3-5-6-8 จีบ ใส่ถ้วยตะไลหรือถ้วยวุ้น (พลาสติก) ตักน้ำเชื่อมใส่ตรงกลาง ทิ้งให้เย็นและอยู่ตัว จึงนำออกจากถ้วย อบ ควันเทียนหรือมะลิ

ข้อเสนอแนะ

เวลาหยอดทดลองหยอด 1 อัน ก่อน ถ้าฟูเกินไปใส่ไข่แดงอีก 1 ฟอง คนให้เข้ากันถ้ากลับแล้วไข่ยังบางอยู่ ตีไข่อีกเล็กน้อย

  • อาจใช้ไข่เป็ดอย่างเดียวก็ได้ ถ้าใช้ไข่ไก่ ผสมด้วยขนมจะเนื้อนุ่มขึ้น
  • ถ้าเนื้อขนมฟูเปื่อย ให้เติมไข่แดงลงไข่คนให้เข้ากันถ้ายังใช้ไม่ได้ต้องเบาไฟขณะที่ขนมกำลังเดือดแล้วจึงกลับขนม

 

 

 

 

 

 

 


ที่มา : หนังสืออ่านเพิ่มเติมการทำขนมไทย(ประเภทไข่) โดยนางสาวสุทัศน์ อัครเดชากุล อาจารย์ 2 ระดับ 7 โรงเรียนบางระจันวิทยา อำเภอบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี

โดย : นางสาว สุทัศน์ อัครเดชากุล, โรงเรียนบางระจันวิทยา, วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2546