10 คำถาม-คำตอบ การรับจดทะเบียน

สองสามสัปดาห์ที่ผ่านมา เน็ตเวิร์ก โซลูชั่นส์ บริษัทผู้ให้บริการจดทะเบียนต่างชาติรายใหญ่รายหนึ่งได้เข้ามารุกตลาดให้บริการรับจดทะเบียนโดเมนภาษาไทย คำถามแรกๆ ที่ผมได้รับ ก็คือ ทำไมยักษ์ใหญ่อย่างเน็ตเวิร์ก โซลูชั่นส์ จึงหันมาสนใจโดเมนภาษาท้องถิ่น ทั้งที่เน็ตเวิร์ก โซลูชั่นส์ก็มีฐานลูกค้าโดเมนภาษาอังกฤษนับสิบล้านชื่อ สาเหตุสำคัญประการหนึ่งก็คือ ผลจากการเปิดเสรีธุรกิจโดเมนทำให้ยอดการรับจดทะเบียนใหม่ของเน็ตเวิร์ก โซลูชั่นส์ตกลงอย่างฮวบฮาบ ในขณะที่ลูกค้าเก่าก็ย้ายโดเมนไปอยู่กับผู้ ให้บริการรายอื่นที่มีราคาถูกกว่า ทำให้เน็ตเวิร์ก โซลูชั่นส์ จำต้องมอง หาตลาดใหม่ๆ เพื่อสร้างรายได้เข้าบริษัท ลองดูสถิติส่วนแบ่งร้อยละของยอดโดเมนและอัตราการรับจดทะเบียนใหม่ได้จากตาราง
นอกจากนี้ผมได้รับคำถามจำนวนพอสมควรเกี่ยวกับบริการรับ จดทะเบียนโดเมนภาษาไทยของเน็ตเวิร์ก โซลูชั่นส์ ว่ามีความแตกต่าง กับของชื่อไทย.คอม อย่างไร ค่าบริการถูกแพงกว่ากันอย่างไร ผมจึงขอถือโอกาสประมวลข้อซักถามที่ผมได้รับเป็นคำถาม-คำตอบไว้ 10 ข้อ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาให้รอบคอบก่อนตัดสินใจใช้บริการ ดังนี้

1. การให้บริการของเน็ตเวิร์ก โซลูชั่นส์ กับ ชื่อไทย.คอม มีรูปแบบที่แตกต่างกันอย่างไร

ความแตกต่างระหว่างเน็ตเวิร์ก โซลูชั่นส์ กับ ชื่อไทย.คอม คือ รูปแบบโดเมนของชื่อไทย.คอม จะเป็นโดเมนภาษาไทยเต็มรูปแบบ โดยทั้งชื่อโดเมนและสกุลโดเมนจะเป็นภาษาไทยทั้งหมด (ตัวอย่าง : กขค.คอม) ในขณะที่ของเน็ตเวิร์ก โซลูชั่นส์ ยังพัฒนาได้ไม่เต็มรูปแบบ คือ ชื่อเป็นภาษาไทย แต่สกุลยังต้องเขียนด้วย .com ในภาษาอังกฤษ (ตัวอย่าง : กขค.com) ถือเป็นโดเมนลูกผสมที่ยังต้องรอการพัฒนาไปสู่โดเมน ไทยอย่างสมบูรณ์ในอนาคต

2. บริการของเน็ตเวิร์ก โซลูชั่นส์ ใช้งานได้จริงหรือไม่

ปัจจุบัน บริการโดเมนภาษาไทยลูกผสมของเน็ตเวิร์ก โซลูชั่นส์ นี้ ยังเป็นเพียงโครงการทดลอง (Testbed) เท่านั้น ชื่อโดเมนที่รับจดยัง ไม่สามารถใช้งานได้ทันที และยังไม่มีกำหนดการที่แน่นอนว่า การใช้งานโดเมนภาษาไทยลูกผสมของ (Domain Resolution) เน็ตเวิร์ก โซลูชั่นส์ จะใช้งานได้จริงเมื่อไร เนื่องจากรูปแบบและมาตรฐานของระบบ Resolution ยังไม่มีความชัดเจน

3. หากมีผู้ที่พยายามเรียกใช้โดเมนภาษาไทยลูกผสมนี้จะเห็นอะไรบ้าง

เนื่องจากระบบ Resolution ยังใช้งานไม่ได้ ดังนั้น หากมีผู้เรียก ใช้โดเมนภาษาไทยลูกผสมนี้ผ่านเว็บบราวเซอร์ จะปรากฏข้อความว่า 404-error (the site could not be found) ซึ่งผู้จดทะเบียนต้องยอมรับว่า ระบบการรับ จดทะเบียนโดเมนภาษาท้องถิ่นของเน็ตเวิร์ก โซลูชั่นส์ ยังเป็นเพียงขั้นทดลองเท่านั้น ขอให้ ผู้จดทะเบียนกรุณาอ่านหมายเหตุพิเศษที่ปรา-กฏอยู่ใน "ข้อตกลงการบริการโดเมนภาษาท้องถิ่นของเน็ตเวิร์ก โซลูชั่นส์" (http://global.networksolutions.com/en_US/legal/service-agreement.jhtml) อย่างรอบคอบ

4. จริงหรือไม่ ที่บริการของเน็ตเวิร์ก โซลูชั่นส์ ไม่ต้องดาวน์โหลดโปรแกรม

ไม่จริง การเรียกใช้โดเมนภาษาไทยลูกผสมของเน็ตเวิร์ก โซลูชั่นส์ ในระหว่างนี้ ยังต้องอาศัยการดาวน์โหลดโปรแกรม ซึ่งทาง Verisign Global Registry Services ได้จัดเตรียมโปรแกรมที่เรียกว่า Multi- lingual Resolution Client ไว้ในหน้าเว็บไซต์ http://www.verisign-grs.com/multilingual/client

5. ถ้าต้องการทดลองจดทะเบียนโดเมนภาษาไทยลูกผสมของเน็ตเวิร์ก โซลูชั่นส์จริงๆ จำเป็นต้องจดผ่านพันธมิตรในประเทศไทยหรือไม่

ไม่จำเป็น ท่านสามารถดำเนินการทดลองจดทะเบียนโดยตรงกับเน็ตเวิร์ก โซลูชั่นส์ ที่ http://global.networksolutions.com โดย เสียค่าธรรมเนียมถูกกว่าราว 15-30% และไม่ต้องถูกหักค่าดำเนินการ ใดๆ อีก

6. ทำไมจึงค้นหาชื่อโดเมนภาษาไทยลูกผสมนี้ไม่พบในฐานข้อมูล ของ WHOIS

ปัจจุบันฐานข้อมูล WHOIS ยังไม่สามารถค้นหาข้อมูลที่เป็นตัวอักษรภาษาอื่นได้ และจำเป็นต้องถูกปรับปรุง ระหว่างนี้ชื่อโดเมนภาษาไทยลูกผสมจะปรากฏใน WHOIS ในรูปรหัส RACE เท่านั้น

7. ชื่อไทย.คอม มีความคิดเห็นอย่างไรกับการเปิดให้บริการของเน็ตเวิร์ก โซลูชั่นส์ ในครั้งนี้

ไม่เห็นด้วยกับการเก็บเงินค่าจดทะเบียนกับชื่อโดเมนที่ยังไม่สามารถใช้งานได้ เป็นการไม่เป็นธรรม ที่ผู้บริโภคจะต้องจ่ายเงินเพื่อให้เน็ตเวิร์ก โซลูชั่นส์ ได้ประโยชน์ฝ่ายเดียวจากการทดสอบระบบรับจดทะเบียนของตัวเอง ในขณะที่ผู้เสียเงินจดทะเบียนยังใช้งานไม่ได้

8. การรุกเข้าไปเปิดตลาดของเน็ตเวิร์ก โซลูชั่นส์ ในประเทศ อื่น อาทิ ในจีน เป็นอย่างไร

เท่าที่ทราบ การเข้าไปรุกตลาดในจีนของเน็ตเวิร์ก โซลูชั่นส์ ก็ไม่ได้ รับการยอมรับจากจีน CNNIC (China Net-work Information Center) ซึ่งเป็นหน่วย งานที่กำกับดูแลนโยบายโดเมนอินเทอร์เน็ตของจีน ประกาศไม่รับรองระบบที่เน็ตเวิร์ก โซลูชั่นส์ให้บริการ ในขณะเดียวกัน CNNIC กลับเปิดให้บริการโดเมนภาษาจีนเต็มรูปแบบของตนเองขึ้น และอนุญาตให้เฉพาะบริษัท ท้องถิ่นเป็นผู้ให้บริการ

9. หน่วยงานมาตรฐานอินเทอร์เน็ต มีทรรศนะอย่างไรต่อการทดลองเปิดให้บริการของเน็ตเวิร์ก โซลูชั่นส์

ISOC (The Internet Society) ซึ่ง เป็นหน่วยงานนานาชาติที่มีหน้าที่ในการพัฒนา ดูแล ตรวจสอบ และเผยแพร่มาตรฐาน ระเบียบ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีในอินเทอร์เน็ต ได้แจ้งเตือนถึงการทดลองเปิดให้บริการโดเมนภาษาท้องถิ่น ว่าสมควรให้คณะทำงาน Internet Engineering Task Force (IETF) ในกลุ่มทำงาน ด้านโดเมนนานาชาติ (Internationalized Domain Name) ประกาศมาตรฐานให้เสร็จสิ้นก่อนที่จะเปิดให้สาธารณชนดำเนินการจดทะเบียน โดเมนภาษาท้องถิ่นดังกล่าว รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถอ่านได้จาก เอกสารของ ISOC เรื่อง "Domain Names Complicated by Non-English Character Sets" (http://www.isoc.org/isoc/media/releases/001108pr.shtml)

10. แล้วการเปิดตลาดในไทยครั้งนี้ มีความเคลื่อนไหวจากหน่วยงานภาครัฐหรือไม่

เป็นที่น่าเสียดาย ที่หน่วยงานด้านนี้ของไทยไม่ได้ออกมาแสดง บทบาทเพื่อกำกับดูแลการให้บริการในเรื่องโดเมนภาษาไทยได้อย่าง เข้มแข็งเหมือนอย่างในประเทศจีน เราเลยต้องปล่อยให้ต่างชาติเข้ามา ทำอะไรก็ได้กับโดเมนที่เป็นภาษาไทยของเราเอง

นายพิพัฒน์ ยอดพฤติการ จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะ วิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และปริญญาโท สาขาเทค โนโลยีสารสนเทศทางธุรกิจ (MIS) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตเคย เป็นที่ปรึกษาอาวุโสในบริษัทแอนเดอร์เซ่น คอนซัลติ้งฯ (Andersen Consulting) ด้านการจัดการและการบริหารเทคโนโลยี โดยเฉพาะด้านอี-คอมเมิร์ซและการประยุกต์ใช้อินเทอร์เน็ตในเชิงธุรกิจให้แก่หน่วยงานเอกชนต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัด การ บริษัทชื่อไทย.คอม จำกัด และยังเป็นผู้เขียนบทความด้านอินเทอร์เน็ต, อี-คอมเมิร์ซเผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆ มากกว่า 300 ชิ้น เป็นผู้แต่งหนังสือ "เริ่มต้นธุรกิจอินเทอร์เน็ต" และยังเป็นวิทยากรพิเศษ ด้านอี-คอมเมิร์ซให้แก่หน่วยงานและสถาบันการศึกษาต่างๆ


แหล่งอ้างอิง : 10 คำถาม-คำตอบ การรับจดทะเบียนโดเมนภาษาไทย[online]available.URLhttp://technology.mweb.co.th/articles/4435.html 26/03/2544

โดย : นางสาว จิรวรรณ เพ็งภาค, สถาบันราชภัฏเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ ในพระราชูปถัมภ์, วันที่ 15 สิงหาคม 2545