เทคโนโลยีเวบเซอร์วิส
เทคโนโลยีเวบเซอร์วิสคลื่นลูกใหม่ธุรกิจออนไลน์




ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งต่อการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอที)ในภาคธุรกิจ คือ การแสวงหาวิธีการหรือเครื่องมือต่างๆ เพื่อทำให้ธุรกิจสามารถดำเนินการได้คล่องตัว และมีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์การแข่งขันที่ร้อนแรง รวมทั้งสามารถนำธุรกิจของตนเข้าสู่การแข่งขันในระดับโลกได้

ในสังคมแห่งข้อมูลข่าวสารเช่นนี้ เทคโนโลยีทางด้านไอทีที่จะเข้ามาตอบสนองความต้องการดังกล่าว คงหลีกไม่พ้น ระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต และเวบเซอร์วิส ซึ่งปัจจุบันได้มีต่อยอดการพัฒนา โดยการผนวกเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้าไปใช้ร่วมกันอย่างลงตัว และก้าวหน้า

นายอัครเดช อรรถจินดา ที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมลุ่มน้ำแม่โขง กล่าวว่า เวบเซอร์วิส (Web Services) เป็นซอฟต์แวร์ประยุกต์สำหรับการทำธุรกิจผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-Business) เพื่อจัดการบริหารงานในระบบอัตโนมัติ ตลอดจนทำให้ลูกค้า หรือพันธมิตรของธุรกิจสามารถเข้าถึง หรือ แลกเปลี่ยนบริการ และข้อมูลกันได้สะดวกขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำธุรกิจผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ แบบออนไลน์ เรียลไทม์ หรือ อี-บิสสิเนส

"ตัวอย่างของเวบเซอร์วิส อย่างง่ายๆที่เห็นและรู้จักกันทั่วไปก็คือระบบไปรษณีย์อิเล็กโทรนิกส์ หรือที่เรียกกันว่า อี-เมล์ (E-Mail)และการสนทนากันผ่านระบบอินเทอร์เน็ต หรือ แชท (Chat) แต่ในปัจจุบันเทคโนโลยีทางด้านนี้ได้รับการพัฒนาจนสามารถสนทนาด้วยเสียง และมองเห็นภาพของคู่สนทนาได้ ยิ่งไปกว่านั้นยังก้าวหน้าจนสามารถสั่งซื้อสินค้า และบริการผ่านทางอินเทอร์เน็ต การสำรองที่นั่งสายการบิน การจองที่พักโรงแรม ตลอดจน การซื้อขายหุ้นของตลาดหลักทรัพย์ เป็นต้น"

ปัจจุบัน เทคโนโลยีเวบเซอร์วิสในต่างประเทศมีความตื่นตัวอย่างมาก แต่ในประเทศไทยการนำไปใช้ในธุรกิจจริงยังอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคเดียวกัน เช่น ไต้หวัน สิงคโปร์ มาเลเซีย และญี่ปุ่น ทั้งนี้ผู้ใช้ในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดใหญ่ ที่มีเครือข่ายการค้ากว้างขวางหรือกระจายไปทั่วประเทศ หรือ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศทั้งสินค้าและบริการ การนำเข้าและส่งออก เป็นต้น ทว่าขณะนี้หลายหน่วยงาน โดยเฉพาะบริษัทผู้พัฒนาเวบเซอร์วิสต่างๆ ก็เร่งให้ความรู้และกระตุ้นให้ผู้ประกอบการเข้าใจถึงประโยชน์จากการนำเวบเซอร์วิสไปใช้ให้มากขึ้น

" ธุรกิจทุกประเภทโดยเฉพาะกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการค้าขาย มีความจำเป็นจะต้องใช้บริการ ของเวบเซอร์วิสทั้งสิ้น ที่ผ่านมานักธุรกิจหลายคนคิดว่า ตนเป็นธุรกิจขนาดเล็กจึงไม่มีความจำเป็น ต้องเป็น อี-บิสสิเนส ซึ่งเป็นความคิดที่ไม่ถูกนัก เพราะธุรกิจที่จะนำเสนอบนอินเตอร์เน็ต ไม่จำเป็นต้องเป็นธุรกิจระดับร้อยล้านเสมอไป แม้จะเป็นกิจการเล็กๆ แต่มีความโดดเด่นในตัวของตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นกิจการผลิตสินค้าที่หาไม่ได้ในประเทศอื่นๆ เช่น ผลิตภัณฑ์ที่เป็นของพื้นเมืองประเภท ตุ๊กตา เฟอร์นิเจอร์ เซรามิค เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ ของกระจุกกระจิกที่ได้รับการออกแบบ ให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เป็นที่ต้องการในตลาดโลกเป็นอย่างมากพอๆ กับสินค้าหลักประเภทผลิตภัณฑ์ อุตสาหกรรมหนักและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร " นาย อัครเดช กล่าว

นายอัครเดช กล่าวเพิ่มเติมว่า การนำเวบเซอร์วิสไปใช้ควรคำนึงต้นทุน และความพร้อมในการนำ เทคโนโลยีทางด้านคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ในกิจการ ตลอดจนความรู้และความสามารถของบุคลากร ในการจัดการกับเทคโนโลยีเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย นอกจากนี้สิ่งสำคัญที่สุด คือ ความสนใจ และความมุ่งมั่นของผู้บริหาร เพราะการนำกิจการเข้าสู่แวดวงของอี-บิสสิเนสนั้น ผู้บริหารเองจะต้อง มีความรู้ด้านไอทีพอ ที่จะสามารถควบคุมการประชุมวางแผนงานให้ดำเนินควบคู่ไปกับเทคโนโลยีได้

นายมนู อรดีดลเชษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดาต้าแมท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภาคธุรกิจที่จะนำเวบเซอร์วิสไปใช้ในระยะแรกๆ มีอยู่ด้วยกัน 3 กลุ่มคือ 1. กลุ่มขององค์กร ธนาคารและการเงิน (Financial and Bank) โดยสามารถตั้งระบบเตือน (Alert) ราคาหุ้น เงินฝาก ตลอดจน สถานะของบัตรเครดิต ให้กับลูกค้าธนาคารด้วยบริการส่งข้อความสั้นผ่านโทรศัพท์มือถือ หรือ เอสเอ็มเอส ทั้งนี้ธนาคารจะได้ประโยชน์ คือ สามารถให้บริการที่ดีและรวดเร็วยิ่งขึ้น ขณะที่ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ ก็จะได้รายได้จากปริมาณการใช้เอสเอ็มเอสที่สูงขึ้นตามไปด้วย

" 2.กลุ่มธุรกิจค้าปลีก (Retailer) สามารถตรวจสอบข้อมูลรายงานความเคลื่อนไหว ของสินค้าคงคลังได้สะดวกรวดเร็วผ่านอุปกรณ์ต่างๆได้ อาทิ ตรวจสอบผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์แบบพกพา หรือ พีดีเอ เป็นต้น และ 3.กลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มที่จะได้รับประโยชน์สูงสุดหาก ใช้เวบเซอร์วิส ตัวอย่างการใช้ประโยชน์ เช่น นำเสนอบริการข้อมูลสายการบินให้กับลูกค้าได้หลากหลาย โดยร่วมมือกับธนาคารต่างๆ ในการให้บริการข้อมูลผ่านระบบเอทีเอ็ม ซึ่งผู้ใช้อาจไปใช้บริการสอบถามข้อมูล เที่ยวบินที่กำลังจะบินได้ เป็นต้น "

"จุดเด่นของเวบเซอร์วิส คือการใช้ภาษาเอ็กซ์เอ็มแอล (XML) ในการติดต่อสื่อสารผ่านโปรโตคอล ต่างๆ เพราะ XML เป็นมาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่ทำให้สามารถทำงานข้ามระบบกันได้ อีกทั้งการติดต่อกันระหว่างโปรแกรมกับโปรแกรม (Application to Application) เป็นไปโดยอัตโนมัติ จึงช่วยให้ลูกค้าลงทุนต่ำ ส่งผลต่อการให้บริการใหม่ๆ ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ทั้งยังสามารถแบ่งปัน การใช้ทรัพยากรระบบร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย"

นายมนู แสดงความเห็นว่า เวบเซอร์วิส ถือเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดประโยชน์กับภาคธุรกิจโดยรวม ทั้งฝ่ายผู้พัฒนา ภาคธุรกิจที่นำไปใช้ ตลอดจนลูกค้าที่ใช้บริการ ทั้งนี้หากธุรกิจต่างๆ มีการนำเทคโนโลยีเวบเซอร์วิส ไปใช้ในระบบการบริหารงานของธุรกิจมากขึ้น ก็จะขยายโอกาสตลาดไอทีสำหรับธุรกิจเช่นกัน เนื่องจากปัจจุบันธุรกิจต่างๆ เริ่มนำไอทีมาเป็นเครื่องมือในการนำพาธุรกิจ ส่งผลให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องมีการปรับตัว หันมาใช้ไอทีเพิ่มขึ้นตามไปด้วย คาดว่าเทคโนโลยีเวบเซอร์วิสจะทำให้ยอดการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอที) ในภาคธุรกิจสูงขึ้นจากอัตราเดิมคือ 10 -15 เปอร์เซ็นต์ต่อปี เป็น 30 เปอร์เซ็นต์ต่อปีในปีหน้า

แม้ว่าเทคโนโลยีเวบเซอร์วิสในประเทศไทยยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่ถือเป็นการดีต่อการพัฒนา เพราะทำให้ภาคธุรกิจของไทยมีโอกาสที่จะเรียนรู้ และพัฒนาบุคลากรของไทยเพื่อพัฒนาเวบเซอร์วิส ให้ตรงกับสภาพธุรกิจของตนได้มากที่สุด โดยอาศัยประสบการณ์ และกรณีศึกษาจากต่างประเทศ มาเป็นแนวทาง ซึ่งช่วยให้เกิดการพัฒนา ตลอดจนสามารถนำเวบเซอร์วิสไปใช้ได้อย่างมีทิศทาง ที่ถูกต้องเหมาะสม

ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวน ทั้งในระดับประเทศ และระดับโลกเช่นนี้ คงจะเป็นการดีไม่น้อย หากประเทศเราจะค่อยๆ ก้าวอย่างช้าๆ แต่แข็งแรงและมั่นคงดีกว่าตามกระแสแห่กันไป เพียงเท่านั้น …




แหล่งอ้างอิง : http://www.thaitelecom.com/News/Techfocus/Techfocus-Generate.pl?2545/07/23-09-32-0001

โดย : นาย ณรงค์ อินตาพวง, สถาบันราชภัฏเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์, วันที่ 15 สิงหาคม 2545