เทคโนโลยีแจ้งตำแหน่ง

    มีเทคโนโลยีแจ้งตำแหน่งไว้ใช้ทำให้เสียความเป็นส่วนตัว

ถ้าเราสามารถรู้ได้ว่าบุคคลที่เราต้องการจะติดต่อในขณะใดขณะหนึ่งนั้นอยู่ ณ ที่ใดและโทรศัพท์ของเขามีสัญญาณดีพอที่เราจะติดต่อได้หรือไม่ก็คงจะดีไม่น้อย เพราะในปัจจุบันนี้เวลาเราจะโทรศัพท์ไปหาใครก็อาจจะพบกับปัญหาว่าสัญญาณโทรศัพท์ ณ ที่ที่เขาอยู่นั้นไม่แรงพอที่จะติดต่อได้ ความจริงถึงแม้สัญญาณจะดีพอต่อโทรศัพท์ แต่เขาอาจจะใช้โทรศัพท์อยู่เราก็โทรศัพท์ติดต่อไม่ได้ หรือเขาไม่ได้ใช้โทรศัพท์อยู่มีคนตอบโทรศัพท์แต่กลับกลายเป็นคนอื่นเพราะเขาวางโทรศัพท์เอาไว้ คนที่อยู่ใกล้ก็เลยตอบโทรศัพท์แทน หรือคนที่ต้องการจะโทรศัพท์ไปหาเป็นคนตอบโทรศัพท์เองแต่พูดกับเราได้สองสามคำเขาก็บอกว่าเขาติดธุระอื่นสำคัญกว่ามาก เพราะฉะนั้นพอเราโทร.ไปใหม่ในเวลาอีกสัก 1 ชั่วโมง หรืออะไรทำนองนั้น เมื่อถึงเวลานัดหมายเราจะโทรศัพท์ไปหาเขาอีกครั้งหนึ่งก็ไม่ทราบว่าเขาอยู่ที่ใดและมีสัญญาณแรงพอจะติดต่อกันหรือไม่ ฉะนั้นถ้ามีเทคโนโลยีมาบอกสถานที่ที่คนที่เราจะโทร.ไปถึงอยู่ ณ ขณะนั้นได้ก็คงจะเป็นประโยชน์แต่ก็อาจต้องสูญเสียความเป็นส่วนตัวไปบ้าง

ปัจจุบันมีซอฟต์แวร์ชื่อ "การแสดงตัว หรือการตระหนักตำแหน่งที่อยู่ (Presence Awareness)" ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์สำหรับการระบุตำแหน่งบนเครือข่ายที่สามารถดักจับสัญญาณของอุปกรณ์อื่นๆ ได้โดยอัตโนมัติ เช่น ถ้ามีโทรศัพท์ของใครอยู่ในเครือข่ายซอฟต์แวร์นั้นก็จะพบและแจ้งให้ทราบได้ว่าอยู่ที่ใด ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์หลายต่อหลายคนคาดว่าเทคโนโลยีการตระหนักตำแหน่งหรือเทคโนโลยีการแจ้งตำแหน่งที่อยู่นี้ จะกลายเป็นเทคโนโลยีมาตรฐานที่อยู่ในอุปกรณ์ติดต่อสื่อสารต่างๆ ดังจะเห็นได้จากการที่บริษัทโมโตโรล่าฯ จะเปิดตัวการสื่อสารระบบใหม่ที่เมื่อผู้ที่ต้องการจะโทรศัพท์ไปหาใครคนใดคนหนึ่งนั้นสามารถรู้ได้ว่าเครื่องโทรศัพท์ที่กำลังจะโทร.ไปหานั้นเปิดเครื่องอยู่หรือใช้งานอยู่หรือไม่ นอกจากนี้บริษัทโนเกียฯ บริษัทอีริคสันฯ และบริษัทผู้ผลิตโทรศัพท์อื่นๆ ต่างก็กำลังพัฒนาเทคโนโลยีตัวนี้เพื่อให้ใช้ได้ กับโทรศัพท์บ้านแบบธรรมดาและโทรศัพท์ไร้สายอีกด้วย

เทคโนโลยีการกำหนดตำแหน่งที่อยู่ตัวนี้ ยังจะมีการนำมาใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์แบบพกพา ใช้กับเว็บไซต์สำหรับอุปกรณ์ไร้สาย ใช้กับระบบการติดต่อสื่อสารในรถยนต์ และใช้กับเครื่องออกกำลังกายในสถานที่ออกกำลังกายที่สามารถจะเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ และสำหรับบางระบบนั้นยังสามารถที่จะใช้ร่วมกับระบบการค้นหาตำแหน่งหรือจีพีเอสในการหาตำแหน่งว่าอยู่ ณ ที่ใด ทำให้โอกาสที่จะได้รับรู้ข้อมูลว่าบุคคลนั้นๆ กำลังอยู่ ณ สถานที่ใดในโลกก็มีเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตามหลายคนรู้สึกว่าเทคโนโลยี การกำหนดตำแหน่งที่อยู่นี้มีทั้งข้อดีและข้อเสีย

อย่างไรก็ตามผู้ที่ใช้เทคโนโลยีนี้ก็เปรียบเสมือนว่าถูกเฝ้ามองอยู่ตลอดเวลา ตัวอย่างที่มีอยู่ขณะนี้ก็คือ การใช้โปรแกรมระบบส่งข้อความหรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า อินสแตนส์เมสเซจ หรือไอเอ็ม (IM = Instant Message) โดยการคอยเฝ้าดูการเข้าสู่อินเทอร์เน็ตของผู้ที่มีรายชื่อในโปรแกรมส่งข้อความ ซึ่งก็จะสามารถทราบได้ว่าบุคคลนั้นๆ มีกิจวัตรประจำวันอย่างไรบ้าง เช่น เวลาประมาณเท่าไรที่มาถึงที่ทำงาน เวลาใดถึงจะกลับบ้าน หรือการเข้ามาในอินเทอร์เน็ตในช่วงใดเมื่ออยู่บ้านในวันหยุดสุดสัปดาห์ หรือในบางกรณีที่ทราบได้ว่าบุคคลนั้นๆ ไม่ได้ใช้คอมพิวเตอร์เป็นระยะเวลานานกี่นาทีแล้ว เป็นต้น ข้อมูลที่เป็นส่วนตัวเหล่านี้ก็จะกลายเป็นข้อมูลที่เป็นที่รู้กันได้ง่าย โดยเพื่อนร่วมงาน เจ้านาย และอาจจะรวมถึงคนแปลกหน้าก็ได้ด้วยเช่นกัน

ในอนาคตเทคโนโลยีต่างๆ อาจจะประสานกันเป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ทำให้นักเดินทางที่กำลังเดินทางด้วยเครื่องบินสามารถที่จะใช้อุปกรณ์ไร้สายในการควบคุมคอมพิวเตอร์ที่ติดอยู่กับเบาะพนักพิงของตน ซึ่งเครื่องคอมพิวเตอร์จะทำงานก็ต่อเมื่อมีผู้โดยสารเข้ามานั่งที่เก้าอี้โดยสารและจะส่งข้อความต้อนรับมายังจอคอมพิวเตอร์ด้านหน้า หรือผู้โดยสารอาจจะส่งข้อความไปยังญาติสนิทมิตรสหายของตนว่าขณะนี้ได้อยู่บนเครื่องบินเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

อย่างไรก็ตามผู้ใช้โปรแกรมการส่งข้อความบางคนจะรู้สึกแปลกๆ ต่อการที่จะให้คนอื่นรู้ว่าตนเองอยู่ที่ใด ตัวอย่างเช่น พนักงานบริษัทคนหนึ่งที่ใช้โปรแกรมการส่งข้อความเอ็มเอสเอ็นเมสเซนเจอร์ (MSN Messagers) ซึ่งโปรแกรมนี้จะแสดงรูปนาฬิกาเล็กๆ ที่โปรแกรมเมื่อผู้ใช้ไม่ได้สัมผัสแป้นพิมพ์หรือเมาส์ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง และเมื่อผู้ใช้กลับเข้ามาใช้คอมพิวเตอร์หรือสัมผัสแป้นพิมพ์หรือเมาส์ รูปนาฬิกาเล็กๆ นั้นก็จะหายไป ซึ่งพนักงานผู้นี้กล่าวว่าบ่อยครั้งที่เมื่อเขากลับเข้ามาที่โต๊ะทำงานแล้วสัมผัสแป้นพิมพ์ก็จะมีผู้ร่วมงานหรือลูกค้าโทรศัพท์มาหาเขาทันที นั่นแสดงว่าผู้ที่โทรศัพท์มาหาเขานั้นเป็นผู้ที่เฝ้าดูการกระทำของเขาอยู่เงียบๆ โดยที่ตัวเขาเองไม่รู้ตัว

บริษัทลูเซ่นเทคโนโลยี่ส์ฯ ได้ทำโครงการชื่อ "กระจกส่องหลัง (Rear View Mirror)" ในการสำรวจพนักงานของลูเซ่นในอเมริกาและยุโรปถึงความเป็นส่วนตัวและการแสดงตัวโดยใช้โปรแกรมการส่งข้อความของเบลล์แล็บ เป็นระยะเวลามากกว่า 1 ปีผลปรากฏว่าพนักงานต่างกล่าวว่าการใช้โปรแกรมส่งข้อความนั้นเป็นเหมือนเครื่องมือที่จะต้องทำให้พวกเขาระมัดระวังตัวเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากพนักงานส่วนใหญ่ไม่ต้องการที่จะให้หัวหน้าทราบว่าพวกเขาทำอะไรอยู่และออนไลน์อยู่เป็นระยะเวลานานเท่าใดแล้ว

ดังนั้นทางเบลล์แล็บจึงได้แก้ไขโปรแกรมการส่งข้อความใหม่โดยการเพิ่มคุณลักษณะพิเศษที่ว่าผู้ใช้สามารถควบคุมโปรแกรมได้มากขึ้น โดยการเพิ่มตัวเลือกให้ผู้ใช้สามารถเลือกได้ว่า จะให้ผู้ร่วมงานเห็นว่าตัวเองออนไลน์หรือไม่ก็ได้ หรือถ้าต้องการให้ผู้ร่วมงานคนใดคนหนึ่งเห็นว่าออนไลน์ก็สามารถแสดงให้เห็นได้เฉพาะคนนั้นเช่นกัน แต่การแก้ไขโปรแกรมให้มีคุณลักษณะพิเศษนี้ก็ไม่มีประโยชน์อะไรถ้าผู้ใช้ต้องบอกให้อีกฝ่ายแสดงตัวออนไลน์เมื่ออีกฝ่ายหนึ่งตั้งค่าไว้ว่าไม่ให้ผู้ใดเห็นตนออนไลน์ นอกจากนี้การทำเช่นนี้ก็เป็นการขัดกับจุดประสงค์ของเทคโนโลยีการแสดงตำแหน่งที่อยู่ที่จะต้องสามารถบอกตำแหน่งที่อยู่ได้โดยที่ผู้ใช้ไม่ต้องทำอะไร

ในที่สุดผู้ค้นคว้าวิจัยกับผู้ใช้ต่างก็ต้องร่วมมือกันในการปรับปรุงเทคโนโลยีการบอกตำแหน่งที่อยู่ โดยการใช้ระบบการบอกตำแหน่งที่อยู่อัตโนมัติกับกลุ่มคนในที่ทำงาน และถ้าบุคคลภายนอกต้องการที่จะใช้ร่วมหรือต้องการทราบตำแหน่งที่อยู่ของกลุ่มคนในที่ทำงานคนใดคนหนึ่งนั้นจะต้องมีการขออนุญาตเสียก่อนถึงจะทราบตำแหน่งที่อยู่ได้

การที่เทคโนโลยีได้มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็วและการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ก็ทำให้ดูเหมือนว่าทันสมัย หลายต่อหลายคนยอมให้บุคคลอื่นรู้ตำแหน่งที่อยู่ของตนเพื่อใช้ในการติดต่อที่สะดวกง่ายดาย ถึงแม้ว่าจะเปรียบเสมือนว่าได้เปิดประตูหน้าบ้านไว้และอนุญาตให้คนอื่นเข้ามาในบ้านโดยไม่ต้องเคาะประตูเลยก็ตาม นักพัฒนาโปรแกรมกล่าวว่าพวกเขานั้นสามารถที่จะออกแบบระบบการแสดงตัวโดยใช้ได้ทั้งผู้ที่อยากมีความเป็นส่วนตัวและผู้ที่ต้องการที่จะให้คนอื่นติดต่อตนได้ง่าย อย่างเช่น โปรแกรมการส่งข้อความของยาฮูและไมโครซอฟท์ ที่ได้มีการติดตั้งคุณสมบัติพิเศษในการสร้างความเป็นส่วนตัวไว้ในโปรแกรมด้วย คือ ผู้ใช้จะเป็นผู้ให้อนุญาตบุคคลอื่นๆ ที่ต้องการที่จะใส่ชื่อของเขาไว้ในโปรแกรม ซึ่งจะไม่เหมือนกับของเอโอแอลที่ผู้ใช้ไม่สามารถควบคุมการเพิ่มชื่อของตนในโปรแกรมของคนอื่นได้ ซึ่งผู้ให้คำปรึกษาทางด้านสิ่งพิมพ์ผู้หนึ่งได้ใช้โปรแกรมส่งข้อความของเอโอแอล ได้กล่าวว่าเมื่อใช้โปรแกรมนี้ของเอโอแอลแล้วนั้นทำให้มีความเป็นส่วนตัวลดน้อยลง เมื่อเลิกจากงานกลับมาที่บ้านก็ไม่ต้องการให้ใครทราบว่าได้กลับมาถึงบ้านแล้ว ซึ่งถ้าเปิดอินเทอร์เน็ตแล้วโปรแกรมนี้ก็จะทำให้ไม่สามารถหลบซ่อนไม่ให้ผู้อื่นเห็นว่าออนไลน์ได้เลย

เมื่อเทคโนโลยีได้มีการพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ และเมื่อผู้ใช้ต้องการจะเป็นผู้ที่ก้าวทันเทคโนโลยี หรือต้องการได้รับความสะดวกสบายจากการใช้เทคโนโลยีบางครั้งก็จำเป็นต้องแลกกับความเป็นส่วนตัวไปบ้าง ซึ่งก็อาจจะต้องคิดดูกันให้ดีว่าสิ่งที่ได้มากับสิ่งที่จะต้องเสียไปนั้น สิ่งใดสำคัญมากกว่ากัน คุ้มค่าหรือไม่



แหล่งอ้างอิง : มีเทคโนโลยีแจ้งตำแหน่งไว้ใช้ทำให้เสียความเป็นส่วนตัว.[online]เข้าถึงได้จาก http://technology.co.th.29/3/2545

โดย : นางสาว นันธิดา ฟุ้งเฟื่อง, สถาบันราชภัฎเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ฯ, วันที่ 15 สิงหาคม 2545