E-Government สู่ E-APEC

     E-Government หนทางสู่ E-APEC 
    รัฐบาลคุณทักษิณนั้นมีวิสัยทัศน์ในด้าน ไอซีที (Information Communication Technology) นี้เป็นอย่างดี และถ้ามีโอกาสได้ทำโครงการต่างๆ ตามที่วางแผนการเอาไว้ เราคงจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในระยะเวลาอันใกล้นี้ แล้วทำไมต้อง E-Government?

ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน พ.ศ. 2540 มาตรา 78 ระบุว่า เป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องพัฒนา "โครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศ" (National Information Infrastructure : NII) ให้ทั่วถึง และเท่าเทียม กันทั่วประเทศ เช่นเดียวกับระบบสาธารณูปโภค

และสาธารณูปการ อื่นๆ อันส่งผลให้ต้องมีการยกร่างกฎหมายลำดับรองเฉพาะ เพื่อให้เกิดการดำเนินการตามที่กำหนดดังกล่าว ดังนั้น "รัฐ" จะต้องมีความเข้าใจกับสิ่งนี้เป็นอย่างดี มีความตั้งใจที่จะสร้างบริการโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศให้เป็นบริการสาธารณูปโภค เช่นเดียวกับไฟฟ้า น้ำประปา หรือโทรศัพท์ และถ้ารัฐไม่มีงบประมาณ ที่จะทำผมเห็นว่ารัฐเองก็ไม่ควรที่จะยึดตัวโครงการเอาไว้ ไม่ให้ใครเข้าไปแตะ รัฐเองควรจะวางตัวเป็นผู้ควบคุมกฎระเบียบ และเปิดทางให้เอกชนเข้ามาดำเนินการ ซึ่งจะทำให้มีประสิทธิภาพกว่าการที่รัฐต้องดำเนินการเอง ตัวอย่างเช่น ระบบโทรศัพท์สมัยก่อน กับยุคที่เปิดสัมปทานให้เอกชนเข้ามาดำเนินการเบอร์โทรศัพท์ จากเดิมเบอร์ละหลายๆ หมื่น อีกทั้งต้องรอนานเป็นปีกว่าจะได้ ถูกลงมาเหลือไม่กี่พันบาทแล้วยังสามารถดำเนินการได้ทันทีด้วย

ฉะนั้นถ้าเรามีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี มีกฎหมายออกมากำกับดูแล สร้างความมั่นใจให้กับการใช้งาน รัฐบาลเองก็สามารถส่งเสริมระบบการแลกเปลี่ยนข้อมูล ใช้ข้อมูลร่วมกัน และอีกหลายๆ อย่าง เพื่อให้การควบคุมและดูแลบริษัทประเทศไทยที่มีคุณทักษิณเป็น CEO ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถ้าหากรัฐบาลสามารถสร้าง E-Government ขึ้นมาได้สำเร็จ โครงสร้าง หรือระบบตัวนี้ จะเป็นตัวขับสำคัญที่จะทำให้เราไปสู่โครง การ E-Thailand เป็นจริงขึ้นมาได้

ขณะนี้เองทางรัฐบาลได้ตั้งคณะทำงานเพื่อจัดทำโครงงาน (Framework) ของโครงการ E-Government ขึ้น โดยแบ่งออกเป็น 4 หัวข้อใหญ่ๆ คือ

  1. ระบบข้อมูลออนไลน์
  2. การบริหารข้อมูลของรัฐบาล
  3. ระบบการชำระเงิน
  4. ระบบการจัดซื้อแบบอิเล็กทรอนิกส์

หวังว่าโครงงานเหล่านี้จะสำเร็จให้เราได้ชื่นชมในเร็ววัน และมีการนำมาใช้อย่างได้ผล เมื่อเดือนที่แล้วผมได้เห็นข่าวว่าประเทศมาเลเซียนั้นก้าวหน้าไปกว่าเราแล้ว ในแง่ของความพร้อมในการเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจใหม่ หรือระบบเศรษฐกิจเครือข่าย (Net Economy) นั่นก็คือระบบการประเมินความพร้อมสำหรับระบบอี-คอมเมิร์ซของกลุ่มการค้า APEC (Asia Pacific Economic Cooperation) ซึ่งบิ๊กทางการค้าของกลุ่ม APEC นั้นมีขนาดใหญ่มากประมาณครึ่งหนึ่งของมูลค่าการค้าของทั่วโลกทีเดียว

เพราะฉะนั้นจะสร้าง E-Government ให้สำเร็จอย่างเดียวไม่ได้ คงต้องมองให้ไกลไปถึง E-Thailand และสร้างความพร้อมเพื่อเข้าสู่สนามการค้าระดับโลก ขอเรียก "E-APEC"  สำหรับรายละเอียดเพื่อเตรียมความพร้อม เหมือนเด็กเตรียมตัวสอบเพื่อเข้าสู่สมรภูมิ อี-คอมเมิร์ซ APEC แบ่งเป็น 6 หัวข้อใหญ่ๆ ที่พิจารณาตั้งแต่โครงสร้างพื้นฐาน และเทคโนโลยีไปจนถึงกลยุทธ์การวางตำแหน่งตัวเองในระบบเศรษฐกิจยุคดิจิตอล (Digital Economy)



แหล่งอ้างอิง : ศรีศักดิ์ จามรมาน.[online]เข้าถึงได้จาก http://technology.mweb.co.th.24/4/2544

โดย : นางสาว นันธิดา ฟุ้งเฟื่อง, สถาบันราชภัฎเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ฯ, วันที่ 15 สิงหาคม 2545