ศูนย์วัฒนธรรมโลก

เทคโนโลยีการสื่อสารเป็นสิ่งหนึ่งที่มีความโดดเด่นและมีบทบาทในสังคมมาก ทำให้การนำเสนอเรื่องราวของข่าวสารทั่วทุกมุมโลกให้รับรู้กันได้อย่างรวดเร็ว ทำให้โลกที่เคยมีระยะทาง ระยะเวลาภาษา วัฒนธรรม เป็นปัญหาและอุปสรรคกลายเป็นโลกไร้พรมแดน หรือที่เรียกกันว่าโลกาภิวัตน์ (Blobolization) อินเทอร์เน็ตเป็นเทคโนโลยีการสื่อสารที่นับว่าโดดเด่นที่สุด และ อินเทอร์เน็ตได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมโลกรวมทั้งสังคมไทยด้วย

อินเทอร์เน็ต ศูนย์วัฒนธรรมโลก

ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกได้นำเสนอวัฒนธรรมของตนเองผ่านทางสื่อต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของหนังสือ สารคดี บทความ ภาพยนตร์ ละคร หรือแม้แต่การ์ตูน ที่มีเรื่องราวของวัฒนธรรมแฝงอยู่ อย่างเช่นการ์ตูนญี่ปุ่นก็แฝงเรื่องราวชีวิตความเป็นอยู่ สังคม วัฒนธรรมการกิน การแต่งกาย และอื่น ๆ ไว้มากมาย ซึ่งทำให้ผู้รับสื่อจะเกิดความซึมซับโดยอัตโนมัติ

การเผยแพร่วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่ทุกประเทศดำเนินการกันเพื่อวัตถุประสงค์ที่มี ทั้งเหมือนและแตกต่างกัน เช่น เรื่องของการสร้างภาพพจน์ที่ดี เพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ หรืออะไรก็ตาม ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นกับสังคมก็คือการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมท้องถิ่นกับวัฒนธรรมของชาติต่าง ๆ

อินเทอร์เน็ตเป็นอีกสื่อหนึ่งที่ใช้เผยแพร่วัฒนธรรมของชาติต่าง ๆ ดังจะเห็นได้ว่า มีการถ่ายทอดทั้งในเรื่องของศิลปะ วัฒนธรรมของชาติต่าง ๆ ผ่านทางสื่ออินเทอร์เน็ต ทำให้ อินเทอร์เน็ตกลายเป็นศูนย์รวมวัฒนธรรมที่ใหญ่ที่สุดจนกล่าวได้ว่าอินเทอร์เน็ตเป็นศูนย์วัฒนธรรมโลก

ผลกระทบกับวัฒนธรรมเดิม

ผลกระทบต่อวัฒนธรรมท้องถิ่นเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เมื่อมีการเข้ามาของวัฒนธรรมต่างชาติ ทำให้วัฒนธรรมท้องถิ่นบางอย่างถูดบทบาทและความสำคัญลงไปและอาจถึงกับสูญหายได้ หลายประเทศถึงกับมีการรณรงค์ต่อต้านวัฒนธรรมของต่างชาติที่เข้ามาแล้วมี ผลกระทบกับวัฒนธรรมท้องถิ่น

การที่จะดำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรมท้องถิ่นของแต่ละสังคมนั้น จำเป็นต้องให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญของวัฒนธรรมท้องถิ่นกับสมาชิกของสังคมนั้น ๆ ดังจะเห็นได้จากประเทศต่าง ๆ มีการรณรงค์ให้เกิดกระแสอนุรักษ์วัฒนธรรมของตนเองมากขึ้นในรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงการเผยแพร่วัฒนธรรมของตนเองให้ผู้อื่นได้รับรู้ด้วย

อินเทอร์เน็ตกับสังคมไทย

สังคมไทยเป็นอีกสังคมหนึ่งที่น่าอยู่ ใครได้สัมผัสกับสังคมไทยก็รู้สึกอบอุ่น รู้สึกรัก ดังที่ว่าสยามเมืองยิ้ม สังคมไทยเป็นสังคมของชาวพุทธ (แต่ว่าปัญหาอาชญากรรมมากเหลือเกิน) และเป็นสังคมที่ให้อภัยและลืมง่าย สังเกตได้จากเหตุการณ์บ้านเมือง เคยมีผู้กล่าวไว้ว่า ไม่มีลัทธิอะไรที่สามารถครอบงำคนไทยได้ เพราะคนไทยเปลี่ยนไปเรื่อย เรียกว่ามีอะไรใหม่ อะไรที่คิดว่าดีก็ทำกันเป็นพัก ๆ แล้วก็เลิกกันไป ที่กล่าวแบบนี้ไม่ใช่ว่าเป็นการดูถูกคนไทยนะครับ ผมก็เป็นคนไทยคนหนึ่งเหมือนกัน

สังคมไทยเป็นอีกสังคมหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากกระแสวัฒนธรรมของต่างชาติ ไม่ใช่แต่เพียงวัฒนธรรมตะวันตกเท่านั้น วัฒนธรรมของประเทศในเอเซียอย่างญี่ปุ่นและจีนก็มีผลกับสังคมไทยไม่น้อย ดังที่ปรากฏพฤติกรรมเลียนแบบทั้งการแต่งกายอาหารการกิน การใช้ชีวิต และอื่น ๆ ประเทศไทยไม่ใช่เป็นเพียงผู้รับแต่วัฒนธรรมต่างชาติเท่านั้น เรื่องราวของสังคมไทยทั้งในเรื่องของภาษา วัฒนธรรม ก็ได้มีการเผยแพร่ออกไป ดังจะเป็นได้ว่ามีแผนกวิชาภาษาไทยในมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก และการเผยแพร่ภาษา ศิลป และวัฒนธรรมของไทยโดยผ่านเทคโนโลยีนั้น ประเทศไทยนับว่าไม่ล้าหลัง ใครในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ได้มีการเผยแพร่ผ่านทางกลุ่มข่าวที่เรียกว่า soc.culture.thai มาเป็นเวลาเกือบ 10 ปีแล้ว

การขยายขอบเขตและบทบาทของอินเทอร์เน็ตสำหรับสังคมไทยเริ่มมีสูงมากขึ้น ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ หลังจากที่ให้มีการเปิดให้เอกชนสามารถประกอบธุรกิจเป็นผู้ให้บริการ อินเทอร์เน็ตได้ จำนวนผู้ใช้งานได้ขยายจากกลุ่มบริการอินเทอร์เน็ตได้ จำนวนผู้ใช้งานได้ขยายจากกลุ่มนักวิชาการในมหาวิทยาลัย ไปสู่นิสิต นักศึกษา พนักงาน ลูกจ้างตามหน่วยงานและบริษัทต่าง ๆ ตลอดจนถึงนักเรียนในโรงเรียน

อัตราการขยายตัวทางด้านระบบเครือข่ายที่เพิ่มขึ้นนั้น หากเป็นเพราะว่าเห็นคุณค่าของประโยชน์และข้อได้เปรียบต่าง ๆ ที่จะได้รับจากการใช้อินเทอร์เน็ตก็นับว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก แต่หากเป็นเพียงการขยายเพื่อสร้างภาพให้ดูเหมือนกับประเทศที่เจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีหรือเป็นเรื่องของผลประโยชน์ที่บางคนได้รับก็นับเป็นเรื่องที่น่าเสียใจและผิดหวังอย่างยิ่ง การลงทุนในส่วนของเทคโนโลยีนี้เป็นการลงทุนสูงากและอายุการใช้งานสั้น เนื่องจากเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งหากการลงทุนไปแล้วนั้นมีการใช้งานที่ไม่คุ้มค่าก็เป็นการลงทุนที่เสียเปล่าแทนที่จะเอาไปใช้ในส่วนอื่นที่ได้เห็นข่าวการมอบคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตให้กับเด็ก ในประเทศที่ยากจนคงมีความต้องการในปัจจัยสี่และการศึกษาจากคุณครูมากกว่าต้องการใช้ อินเทอร์เน็ต)

ผลกระทบกับสังคมไทย

อินเทอร์เน็ตเริ่มเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย ดังจะเห็นได้จากหนังสือพิมพ์ วารสาร รายการทางโทรทัศน์ วิทยุต่าง ๆ ได้นำเรื่องของอินเทอร์เน็ตเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหาที่ นำเสนอต่อสาธารณะในแง่มุมต่าง ๆ มีทั้งการนำเสนอในมุมมองของผู้รับและผู้ที่ไม่รู้แต่อยากนำเสนอ ดังที่ปรากฏเรื่องราวที่ไม่เป็นความเป็นจริงไม่ถูกต้องอยู่บ่อย ๆ จึงเป็นเรื่องที่ต้องมีพิจารณากันให้ถี่ถ้วนมากยิ่งขึ้น กระแสต่อต้านอินเทอร์เน็ตมีปรากฏบ้างแต่ไม่มากนัก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นความเข้าใจในอินเทอร์เน็ตที่เกิดจากการนำเสนอของข่าวสาร เช่นการนำเสนอข่าวในด้านลบ เช่นการโจมตีในเรื่องของการเผยแพร่ภาพลามกอนาจาร ทำให้เข้าใจว่าอินเทอร์เน็ตมีแต่เรื่องราวของภาพโป๊ ลามกอนาจารเท่านั้น หรือความเข้าใจผิดที่บางรายการในโทรทัศน์มีการนำเสนอประโยชน์ของอินเทอร์เน็ตในเรื่องของการส่งข่าวสารผ่านอินเทอร์เน็ต และนำข้อความเหล่านั้นนำเสนอในรายการโดยส่วนใหญ่ไม่มีข้อความอะไรสร้างสรรค์ มีเพียงแต่ข้อความจีบกันแซวกันของเด็กวัยรุ่นที่ส่วนใหญ่ยังอยู่ในวัยเรียน

ในประเด็นต่าง ๆ นี้จึงเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วนและเสนอให้คนทั่วไปเข้าใจว่าอินเทอร์เน็ตเพียงสื่อหนึ่งเหมือนกับสื่อทั่วไป จะดีหรือเลวนั้นขึ้นอยู่กับผู้ใช้

แนวโน้มในอนาคต

แนวโน้มการเผยแพร่ข้อมูลผ่านทางอินเทอร์เน็ตมีมากยิ่งขึ้น และรูปแบบที่หลากหลายมากกว่าเดิมการห้ามไม่ให้มีการเผยแพร่วัฒนธรรมต่างชาติเข้ามานั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

ดังนั้นแต่ละสังคมหรือประเทศจำเป็นต้องมีการดำเนินการบางประการเพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ดีไม่ให้ถูกกลืนหรือสูญหายไปจากสังคม วิธีการหนึ่งก็คือการส่งเสริมและให้มีการเผยแพร่วัฒนธรรม และการเผยแพร่วัฒนธรรมผ่านทางสื่ออินเทอร์เน็ตสามารถทำได้ง่ายและได้กลุ่มผู้รับข่าวสารมากยิ่งขึ้น

การดำรงไว้ซึ่งศิลปะ วัฒนธรรมท้องถิ่น ไม่ใช่เป็นการต่อต้านวัฒนธรรมอื่น และ การศึกษาวัฒนธรรมต่างชาติไม่นับว่าเป็นเรื่องที่เสียหายอะไร แต่กลับเป็นเรื่องที่ดีที่จะได้สามารถเข้าใจถึงการดำรงชีวิต สังคมของชนชาติอื่น ตลอดจนสร้างสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน

การส่งเสริมวัฒนธรรมไทยทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเป็นทั้งการนำเสนอให้เยาวชน กลุ่มหนึ่งที่ใช้อินเทอร์เน็ตได้มีโอกาสเรียนรู้รูปแบบของวัฒนธรรมไทย และเป็นการประชาสัมพันธ์ประเทศด้วย

สรุป

อินเทอร์เน็ตทำให้สังคมทั่วทุกมุมโลกกลายเป็นสังคมเดียวกัน ส่วนการที่จะดำรงไว้ซึ่งศิลปะวัฒนธรรม และรูปแบบของสังคมท้องถิ่นนั้น ๆ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของทุกคน




แหล่งอ้างอิง : http://www.ku.ac.th/e-magazine/august45/it/inside.html

โดย : นางสาว พจนีย์ เครื่องสาย, รภ.เพชรบุรีฯ, วันที่ 15 สิงหาคม 2545