อินเตอร์เน็ตไทยกับการศึกษา

      ในช่วงที่ผ่านมาแม้จำนวนผู้ใช้งานในบ้านเราจะเติบโตขึ้นแบบก้าวกระโดด ในช่วงรอยต่อของปีที่ผ่านมา แต่มันก็ยังเป็นตัวเลขผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตที่ต่ำมากอยู่ดี หากจะเทียบกับขนาดของประเทศหรือจำนวนประชากรจำนวนผู้ ใช้งาน 2.3 ล้านคน ที่เติบโตมาเท่าตัวนั้นยังต่ำมากหากเทียบกับประชากร 61-62 ล้านคนของเรา และถึงแม้จะมีตัวเลขประมาณการต่อไปว่าสิ้นปีนี้เราจะก้าวกระโดดได้อีกเป็น 4.6 ล้านคน

สัดส่วนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในบ้านเราก็ยังมาจากภาคการศึกษา แต่อย่างน้อยก็เป็นแนวโน้มที่ดีว่าเราเริ่มมีอินเทอร์เน็ตเชิงพาณิชย์ใช้งานกันมา 5-6 ปี เราสามารถผลิตบุคลากรที่มีความรู้และใช้งานอินเทอร์เน็ตออกไปกว่า 1 ล้านคนแล้ว และคนกลุ่มนี้หลัง

จากเข้าไปทำงานตามหน่วยงานต่างๆ ก็น่าจะสามารถผลักดันให้องค์กรเหล่านั้นตื่นตัวและปรับตัวเข้าหาเทคโนโลยีแบบนี้กันมากขึ้น โดยส่วนมากกลุ่มคนอายุต่ำกว่า 30 ปีลงมา จากสภาพแวดล้อมหน้าที่การงาน การศึกษาจะกึ่งๆ บังคับให้เขาจำเป็นต้องเข้าหาเรื่องนี้อยู่แล้ว ในขณะที่กลุ่มคนที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไปอาจจะมีโอกาสน้อยกว่า ผมจึงแบ่งปัญหานี้ออกเป็น 2 ส่วน กล่าวคือ 1. กลุ่มคนที่อยู่ในวัยทำงาน 2. ปัญหาของกลุ่มคนที่ยังอยู่ในวัยศึกษา

สำหรับในกลุ่มคนที่อยู่ในวัยทำงานนั้น เนื่องจากว่าบริษัท ห้างร้าน หรือหน่วยงานต่างๆ ก็ยังมีการนำอินเทอร์เน็ตมาใช้งานในองค์กรกันน้อย จากตัวเลขที่ได้มาเมื่อปลายปีที่แล้ว ในบ้านเรามีบริษัทจดทะเบียนอยู่ทั้งสิ้นประมาณ 5 แสนกว่า แต่ในจำนวนนี้มีบริษัทที่ใช้งานอินเทอร์เน็ตจริงๆ  น่าจะอยู่ในหลักหมื่น  คำถามก็คือว่า ทำไมบริษัทห้างร้านและหน่วยงานต่างๆ ที่เหลือถึงยังไม่ได้นำอินเทอร์เน็ตเข้าไปมีส่วนร่วมในองค์กร ซึ่งเรื่องนี้คงต้องให้ความรู้ การนำเสนอ และการพิจารณาถึงข้อดีข้อเสีย จากการนำเทคโนโลยีเข้าไปประยุกต์ใช้ให้กับผู้บริหารและเจ้าของกิจการให้เข้าใจมากขึ้น และผู้ประกอบกิจการด้านอินเทอร์เน็ตทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น ISP, Data Center, Web Developer, Consultant, System Integrator คงจะพยายามที่จะทำงานในส่วนนี้อยู่ทุกวันแล้ว

จำนวนประชากรที่เป็นนักเรียนนักศึกษา  พบว่าหากจะนับรวมตั้งแต่ชั้นอนุบาล ประถมศึกษา มัธยมศึกษา ไปจนถึงขั้นอุดมศึกษานั้น ในประเทศเรามีอยู่ทั้งสิ้นประมาณ 15 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้มีประมาณ 1 ล้านคนเศษ ที่อยู่ในระดับอุดมศึกษา ประมาณ 3.5 ล้านคน อยู่ในชั้นมัธยมศึกษา และเกือบประมาณ 11 ล้านคน อยู่ในระดับชั้นประถมศึกษา ในขณะที่เรามีจำนวนสถานศึกษา ดังนี้ สถานศึกษาระดับอุดมศึกษามีอยู่ไม่ถึง 200 แห่ง สถานศึกษาระดับมัธยมศึกษามีอยู่ไม่ถึง 4,000 แห่ง และสถานศึกษาระดับประถมศึกษาซึ่งมีมากที่สุด โดยมีจำนวนสถานศึกษาถึงเกือบ 40,000 แห่งทั่วประเทศ

ถึงแม้ว่าจากตัวเลขผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตจะบ่งบอกว่าครึ่งหนึ่ง ของผู้ใช้งานมาจากภาคการศึกษา นั่นคือแสดงว่าประมาณ 1 ล้านคนเศษๆ เป็นผู้ใช้งานที่เป็นนักเรียน นักศึกษาก็ตาม และจำนวนผู้ใช้งาน 1 ล้านคนเศษ ไปเปรียบเทียบกับจำนวนนักเรียนนักศึกษาทั่วประเทศที่มีอยู่ประมาณ 15 ล้านคน ดูแล้วเป็นจำนวนน้อยมากทั้งที่การเรียนการสอน การใช้งานอินเทอร์เน็ตน่าจะเป็นเรื่องที่กึ่งบังคับให้มีในทุกสถาบันอยู่แล้ว

ในบ้านเราก็มีโครงการหลายๆ อย่างที่เกี่ยวกับการศึกษาอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นโครงการการเชื่อมต่อระบบคอมพิวเตอร์ของสถาบันอุดมศึกษาเข้าด้วยกัน รวมถึงเชื่อมต่อเข้าสู่อินเทอร์เน็ตที่ชื่อว่า Uninet หรือแม้กระทั่งโครงการระดับโรงเรียน เช่น Schoolnet ก็น่าจะผลักดันให้การใช้งานอินเทอร์เน็ตในบ้านเราโตไปได้อย่างมาก แต่ทั้งสองโครงการก็ยังต้องการการพัฒนาอีกมากในการที่จะครอบคลุมฐานการใช้งานโรงเรียน และมหาวิทยาลัยได้

จากแนวความคิดใหม่ของคณะผู้บริหารรัฐบาลชุดนี้ ทำให้คิดขึ้นมาเป็นประเด็น สองสามประเด็นหลักที่ถูกจุดชนวนขึ้นมาแล้วนั้น น่าจะต้องถูกรีบนำไปสานต่อให้เกิดความเป็นไปได้จริงในทางปฏิบัติ เช่น แนวคิดการปฏิรูปการศึกษา การรวมกิจการของกระทรวงศึกษาธิการ และทบวงมหาวิทยาลัย แนวคิดด้านไอทีแห่งชาติ หรือโครงการต่าง ๆที่ต่อเนื่องกับเรื่องของการศึกษาและเทคโนโลยี ถ้าทุกอย่างประสานสอดคล้องกันไปด้วยดีและสามารถที่จะผลักดันเรื่องการศึกษาให้ควบคู่ไปกับการพัฒนาด้านเทคโนโลยี และการพัฒนาด้านการค้าและเศรษฐกิจ ซึ่งหากเราไปถึงจุดที่การศึกษาไล่ทันความต้องการด้านตลาดแล้ว การศึกษาและเทคโนโลยีเป็นสิ่งคู่กันและจะกลายเป็นรากฐานอันสำคัญที่จะนำไปพัฒนาด้านธุรกิจ เศรษฐกิจ และด้านอื่นๆ อีกมากมาย



แหล่งอ้างอิง : ศรีศักดิ์ จามรมาน.อินเตอร์เน็ตไทยกับการศึษา.[online]เข้าถึงได้จากhttp://technology.co.th.10/5/2544

โดย : นางสาว นันธิดา ฟุ้งเฟื่อง, สถาบันราชภัฎเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ฯ, วันที่ 15 สิงหาคม 2545