ททท. กับอี-คอมเมิร์ซ
เหตุที่ต้องนำเรื่องนี้กลับมาเขียนกันอีกรอบหนึ่งนั้น ก็เพราะว่า ทางททท.ร่วมกับบริษัทแมกซ์ เซฟวิ่งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะผู้พัฒนาระบบอี-คอมเมิร์ซ หรือ Online Reservation System ให้กับเว็บไซต์นี้ ได้เดินสายจัดสัมมนากันทั่วประเทศให้กับผู้ประกอบการสองกลุ่มคือ สถานพักแรม และบริษัทนำเที่ยว ซึ่งได้รับการตอบสนองมากมายทีเดียว ในขณะเดียวกันก็ทำให้ได้ฟีดแบ็กสะท้อนกลับมาในหลายด้านทีเดียว ซึ่งถือเป็นประเด็นที่ภาครัฐต้องนำไปทบทวนในหลาย ๆ เรื่อง

แต่ก่อนที่จะลงลึกในรายละเอียด คงต้องขอเกริ่นนำกันอีกสักรอบว่า โครงการพัฒนาระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของททท. บนเว็บไซต์ www.tourismthailand.org นี้ เกิดขึ้นจากความตระหนักของททท. เมื่อสองปีที่แล้ว ที่เล็งเห็นความสำคัญในการนำเอาอินเทอร์เน็ต และระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เข้ามาสนับสนุนด้านการท่องเที่ยว จึงได้เริ่มทำงานด้วยการเข้าไปสำรวจวิจัยความต้องการของผู้ประกอบการ และก็วิเคราะห์ออกมาพบว่า กลุ่มสถานพักแรม และบริษัทนำเที่ยวทั้งหลาย ต่างก็มีปัญหาในการลงทุนทำระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือระบบจองห้องพัก หรือจองทัวร์ด้วยตนเอง เพราะต้องลงทุนสูง และที่สำคัญยิ่งก็คือ ไม่มีงบประมาณในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ด้วย

ว่าแล้ว ทางททท. ก็เลยได้ริเริ่มโครงการนี้ขึ้นมา และก็ได้พัฒนาระบบรับจองห้องพักหรือทัวร์นี้ จนแล้วเสร็จ โดยภายใต้ระบบนี้ ผู้ประกอบการ คือ โรงแรม รีสอร์ต หรือบริษัททัวร์ทั้งหลาย สามารถเข้ามาสร้าง เว็บไซต์ของตนเองได้โดยไม่ยุ่งยาก เรียกว่า เป็นประเภท DIY หรือ Do-It-Yourself คือเพียงแค่นั่งกรอก ๆ ข้อมูล และนำรูปภาพอัพโหลดผ่านขึ้นทางหน้าจอบราวเซอร์ก็ทำให้สามารถสร้างเว็บไซต์ที่พร้อมรับจองห้องพัก และทัวร์ได้ทันที

สำหรับเว็บไซต์ที่สร้างเสร็จนี้ ก็จะเข้าไปอยู่ใน Portal Site ของ ททท. คือ เว็บไซต์ www.tourismthailand.org โดยอัตโนมัติ โดยนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชมเว็บไซต์นี้ จักสามารถค้นหาเว็บไซต์ของผู้ประกอบการเหล่านี้ได้โดยง่าย เพราะระบบจะทำการเชื่อมลิงก์กับสถานที่ท่องเที่ยว กับจังหวัด และ/หรือกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวต่าง ๆ ไว้เลยโดยอัตโนมัติ

เช่น หากนักท่องเที่ยวต้องการอยากไปดำน้ำ ก็สามารถค้นได้ว่ามีบริษัทนำเที่ยวใดบ้างที่จัดพาไปดำน้ำ แล้วก็สามารถคลิกเข้าไปดูรายละเอียดของรายการทัวร์ที่พาไปดำน้ำนั้นได้ ซึ่งเมื่อดูแล้วพอใจก็สามารถสั่งจองและชำระเงินได้ทันที โดยสามารถชำระผ่านบัตรเครดิตแบบออนไลน์หรือเรียลไทม์ได้ ซึ่งระบบจะนำเงินที่ได้ฝากเข้าบัญชีของผู้ประกอบการได้เลยโดยตรง

ทั้งหมดนี้ ระบบจะเป็นผู้ทำการต่อเชื่อมโยงข้อมูล รูปภาพ และฐานข้อมูลของ ททท. ให้เลยโดยอัตโนมัติ ผู้ประกอบการมีหน้าที่เพียงหา รายการทัวร์ หรือบริการใหม่ ๆ ใส่เข้าไปเท่านั้น ที่เหลือระบบจะทำการขายบริการและเก็บเงินให้เอง ซึ่งการแก้ไขข้อมูลที่ว่านี้สามารถทำได้ตลอด 24 ชั่วโมง และในขณะเดียวกัน มันก็ทำหน้าที่ขายบริการให้ผู้ประกอบการ ตลอด 24 ชั่วโมงเช่นกัน

เชื่อหรือไม่ขอรับว่า ระบบที่แสนรู้ที่ทำงานได้อย่างครบวงจรนี้ ทางททท. กำหนดให้ผู้ประกอบการที่ผ่านการคัดเลือกเสียค่าใช้จ่ายเพียงปีละ 1,000 บาทเท่านั้นเอง โดยในปีแรกเก็บค่าแรกเข้า หรือติดตั้งระบบครั้งเดียวแค่ 1,000 บาทเท่านั้น ฉะนั้นปีต่อ ๆ ไป จึงชำระแค่ปีละ 1,000 บาทเท่านั้น โดยไม่มีการเรียกเก็บค่าคอมมิสชันใด ๆ อีกทั้งสิ้น เรียกว่า ถูกและคุ้มอย่างนี้ ไม่มีอีกแล้ว !!

และที่สำคัญเหนืออื่นใดก็คือ ใครได้เข้ามาลิสต์อยู่ภายใต้เว็บไซต์ แห่งนี้ ก็เท่ากับได้รับการโปรโมตให้เสร็จสรรพ เพราะททท.มีเงินใช้ในการโฆษณาให้ผู้ประกอบการอีกไม่ต่ำกว่าปีละ 100 ล้านบาท ฉะนั้น จึงทั้งประหยัด ทั้งคุ้ม และเท่ากับเปิดโอกาสให้บรรดา SME ด้านการท่องเที่ยว ที่ทุนน้อยทั้งหลาย ได้ลืมตาอ้าปากและสู้กับผู้ประกอบการรายใหญ่ได้

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ www.tat.or.th/ecom/index.htm ซึ่งในนั้นจะมีรายละเอียดตั้งแต่ความเป็นมา คุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์ที่จะสมัคร และใบสมัครที่ท่านสามารถพิมพ์ออกมาได้ แล้วกรอกส่งไปยังททท. ซึ่งทางททท. จะมีคณะกรรมการในการคัดเลือก ซึ่งหากได้รับการคัดเลือกก็จะมีการแจ้งล็อก อินและรหัสผ่านไปให้ เพื่อให้ท่านกรอกข้อมูลประเมินว่า ในอีกไม่เกินสองเดือนข้างหน้านี้ ก็คงจะเปิดตัวให้นักท่องเที่ยวเข้ามาใช้งานได้ และคาดว่าจะมีเว็บไซต์ของผู้ประกอบการจำนวนมากเพียงพอที่จะทำให้นักท่องเที่ยวมาค้นหาข้อมูลและจองที่พัก หรือรายการทัวร์ได้ และเชื่อว่าในที่สุดเราก็จะมี Portal Site ด้าน การท่องเที่ยวที่มีระบบ Interactive และระบบอี-คอมเมิร์ซที่สมบูรณ์ แบบ และนำหน้าประเทศอื่น ๆ อีกหลายประเทศ ซึ่งก็คงจะมีส่วนให้ความฝันในการสร้างรายได้จากท่องเที่ยว 50,000 ล้านบาท ของรัฐบาลใกล้เคียงความจริงมากขึ้น

คราวนี้ ที่ผมเกริ่นไว้ในตอนต้นก็คือว่า มันเกิดประเด็นปัญหาใหม่ ๆ ขึ้นมาในกลุ่มผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวที่เข้ามาร่วมโครงการนี้ คือ พวกเขาเป็นห่วงว่า ระบบการจองที่พัฒนาขึ้นนี้จะถูกแทรกแซงโดยกลุ่ม บุคคลที่อาจจะเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ ซึ่งอาจจะเป็นเจ้าหน้าที่ททท.เอง หรือบริษัทที่เข้ามาบริหารระบบคือ อาจจะมีการให้ใต้โต๊ะ หรือคอมมิสชันแก่ผู้ที่ดูแลระบบ เช่น บริษัท ก. อาจจะแอบให้ค่าคอมมิสชันผู้บริหารระบบ ก็อาจจะทำให้มีการแอบส่งลูกค้าจากของรายอื่นไปให้บริษัท ก. ได้ ประเด็นนี้ ทางททท.ขอย้ำว่า ระบบมันจะทำงานเองโดยอัตโนมัติ และตรงไปตรงมา และไม่มีการแทรกแซงจากบุคคล รวมทั้งเพื่อป้องกันการคอร์รัปชันในเรื่องคอมมิสชัน ทาง ททท. จึงไม่มีนโยบายที่จะเก็บค่าคอมมิสชันแต่อย่างใด ทั้งนี้เพราะเมื่อเก็บคอมมิสชัน ก็อาจจะมีการเชียร์เฉพาะรายที่ขายดี ๆ เท่านั้น ซึ่งอาจจะไม่ยุติธรรมกับรายที่อยู่ในทำเลที่ ไม่ดี หรือขายบริการได้น้อยๆ (เรื่องนี้ได้มีการพูดคุยมาตั้งแต่ก่อนการพัฒนาระบบแล้ว)

อีกปัญหาหนึ่งที่ผู้ประกอบการห่วงกันมาก ก็คือ การทำ "สงครามราคา" ของผู้ประกอบการด้วยกัน เพราะทุกคนเชื่อมั่นว่า เมื่อมารวมอยู่ในเว็บไซต์เดียวกัน นักท่องเที่ยวจะสามารถเทียบราคาได้ และคนที่ขายถูก ก็จะขายได้ ปัญหานี้ ผมขอตอบว่า "ไม่จริง" เสมอไป ทั้งนี้เพราะนักท่องเที่ยวมีหลายเกรด และพวกเขาเองก็ไม่เชื่อว่า "ของถูกหมายถึงของดี" และอีกประการหนึ่ง ถึงพวกท่านจะไม่มารวมตัวกันอยู่ที่เว็บไซต์ ของ ททท.แห่งนี้ หลายท่านก็ไม่รวมอยู่ในเว็บไซต์ต่างชาติ หรือของคนไทยอีกมากมาย และก็คงจะหนีไม่พ้นการทำสงครามราคาอยู่ดี หรือหากมีสงครามราคาเกิดขึ้นจริง มันก็จะเป็นกลไกของตลาดอยู่ดี ที่จะทำให้ สุดท้ายแล้วก็จะสร้างการขาดทุนให้กับผู้ที่เล่นสงครามนี้

เพราะถึงแม้ว่า จะสายป่านยาว และกะว่า จะฆ่าคนอื่นให้ตาย แต่สุดท้ายบทเรียนจากการค้าบนเว็บที่ผ่านมา พบว่า สายป่านที่ว่านี้ต่อให้ยาวแค่ไหนก็มีวันหมดได้ ทั้งนี้เพราะหากท่านไปจับลูกค้าที่ชอบของถูก แล้ว ลูกค้าเหล่านี้ก็จะไม่ใช่ลูกค้าที่จงรักภักดีต่อท่านเสมอไป เพราะหากมีรายอื่นที่ดัมพ์ราคาสู้ต่ำกว่า พวกเขาก็จะเฮโลไปทันที และจากประสบการณ์ของหลายท่านที่ค้าด้านการท่องเที่ยวผ่าน เว็บ ต่างก็พบว่าลูกค้าที่ชอบของถูกผ่านเว็บ มักจะเป็นลูกค้าประเภทไม่เคยพอ จะขอฟรีทุกอย่างที่ขวางหน้า ซึ่งผมได้เล่ารายละเอียดให้ฟังไปแล้วในฉบับก่อนๆ

ความจริงแล้ว ต้นเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้ค้าบนเว็บทั้งหลายอยู่ไม่ได้ เมื่อเกิดสงครามราคานั้น ก็เป็นเพราะว่าเขาเหล่านั้นไม่ใช่เจ้าของสินค้าหรือบริการนั้นๆ เอง คือ ไปซื้อคนอื่นมาอีกต่อหนึ่ง ฉะนั้นทางออกหนึ่งที่จะทำให้การค้าผ่านเว็บอยู่รอดได้ก็คือ ต้องพัฒนาสินค้าเอง เช่น เป็นบริษัทนำเที่ยวก็ต้องสร้างกิจกรรมการนำเที่ยวนั้นขึ้นมาเอง ซึ่งจะทำให้ เราสามารถควบคุมต้นทุนได้ดีกว่า

อีกปัญหาหนึ่งที่ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวเป็นห่วงก็คือ ระบบที่ททท.สร้างขึ้นนี้ จะทำให้ "ปลาใหญ่กินปลาเล็ก" คือ บริษัท ใหญ่ ๆ จะยิ่งได้เปรียบมากขึ้น เพราะมีคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ต ใช้อยู่แล้ว ก็จะทำให้เข้ามาตักตวงประโยชน์ได้เร็วกว่าบริษัทเล็กซึ่งขาด ทั้งบุคลากร และอุปกรณ์ รับประเด็นนี้ ก็ต้องขอตอบว่า แม้ททท.ไม่สร้างระบบนี้ขึ้น มา บรรดา SME ทั้งหลายก็เสียเปรียบในด้านนี้อยู่เต็มประตูอยู่แล้ว เพราะบริษัทใหญ่ๆ เขามีระบบเหล่านี้อยู่แล้ว ตรงข้ามกับบรรดา SME ที่ไม่มีปัญญาพัฒนาเองเลย แม้จะมีเครื่องคอมพิวเตอร์และระบบอินเตอร์ เน็ตใช้งานอยู่แล้วก็ตาม

ฉะนั้น การสร้างระบบนี้ จึงเท่ากับสร้างโอกาสและทางออกให้กับบริษัทที่มีอินเทอร์เน็ตใช้ได้มีระบบ Online Reservation ได้ใช้งานในทันที อย่างน้อยก็เท่ากับลดจำนวนของ SME ที่เสียเปรียบให้ลดน้อยลง ส่วนบริษัทขนาดเล็กที่ไม่มีอะไรเลย ก็เท่ากับได้เห็นว่า ช่องว่าง หรือความห่างไกลที่จะได้ใช้ระบบ Online Reservation ที่ว่านี้ มันอยู่แค่เอื้อมเท่านั้นเอง เรียกว่า แวะใช้บริการของอินเทอร์เน็ตคาเฟ่เท่านั้น ก็สามารถสร้างเว็บไซต์ของตนเองกับททท.ได้แล้ว (เพราะอีเมล์ท่านสามารถใช้ของบรรดาพวกอีเมล์ฟรีทั้งหลายได้)



แหล่งอ้างอิง : วัชรพงศ์ ยะไวทย์.\"ททท. กับอี-คอมเมิร์ซ\".[online]http://technology.mweb.co.th/articles/5768.html 04/06 /44

โดย : นางสาว saowanee lertjatupornchai, สถาบันราชภัฎฯ, วันที่ 15 สิงหาคม 2545