กฎหมายปกป้องลิขสิทธิ์
กฎหมายปกป้องลิขสิทธิ์บนอินเทอร์เน็ต




หลายชาติตบเท้าลงนามร่วมสัตยาบันรับรองสนธิสัญญาคุ้มครองผู้ถือครองสิทธิ์ยุคดิจิทัล

สนธิสัญญาระหว่างประเทศ ซึ่งร่างขึ้นเพื่อปกป้องผู้ถือครองลิขสิทธิ์ใน "ยุคดิจิทัล" กลายเป็นกฎหมายที่มีผลบังคับใช้แล้ว หลังจาก 30 ประเทศทั่วโลก ซึ่งรวมถึงญี่ปุ่นและสหรัฐ ลงนามให้สัตยาบันรับรองสนธิสัญญาดังกล่าว

สนธิสัญญาองค์การพิทักษ์สิทธิทรัพย์สินทางปัญญาของโลก หรือดับบลิวซีที (WCT) เป็นสนธิสัญญาที่ร่างขึ้น เพื่อปกป้องสิทธิ์ของนักแต่งเพลง, ศิลปิน, นักเขียน และผู้ที่มีผลงานเผยแพร่ในโลกอินเทอร์เน็ต หรือสื่อดิจิทัลรูปแบบอื่น

เพื่อวัฒนธรรม-อุตฯข่าวสาร

เจ้าหน้าที่ขององค์การพิทักษ์สิทธิทรัพย์สินทางปัญญาของโลก หรือดับบลิวไอพีโอ (WIPO) กล่าวว่า ประเทศกาบอง ได้ให้สัตยาบันรับรองสนธิสัญญาดังกล่าวเมื่อวันพฤหัสบดี (8 ธ.ค.) และจะเริ่มมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 6 มีนาคม ปีหน้า

"วันนี้ คือวันที่ยิ่งใหญ่อีกวันหนึ่ง และไม่ใช่แค่เพื่อลิขสิทธิ์เท่านั้น แต่ยังเพื่อวัฒนธรรม และอุตสาหกรรมข้อมูลข่าวสารด้วย รวมทั้งพวกเราต้องการวัฒนธรรม ดนตรี นอกจากนี้ พวกเรายังต้องการดูหนังผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต และเพื่อให้ทุกอย่างเกิดขึ้นได้จริง อินเทอร์เน็ตต้องเปลี่ยนจากยุคตะวันตกแดนเถื่อน เป็นยุคแห่งความศิวิไลซ์ โดยมีสนธิสัญญาเหล่านี้ เป็นพื้นฐานในการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้" นายจอร์เกน บลอมควิสต์ ผู้อำนวยการแผนกกฎหมายลิขสิทธิ์ของดับบลิวไอพีโอ กล่าว

สหรัฐ-ญี่ปุ่นนำทีม

แม้ว่าในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ จะมีเพียงสหรัฐและญี่ปุ่นเท่านั้นที่ให้สัตยาบันรับรองสนธิสัญญาดับบลิวซีที แต่ถึงกระนั้น นายบลอมควิสต์ คาดว่า สหภาพยุโรป (อียู) จะทำเช่นนั้นในไม่ช้านี้ แต่สิ่งแรกที่รัฐสภาของชาติสมาชิกอียูทั้ง 15 ประเทศต้องทำ คือ อนุมัติข้อเสนอแนะที่มาพร้อมกับบทบัญญัติในลักษณะเดียวกัน ซึ่งเป็นกระบวนการที่คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์อย่างช้าภายในปลายเดือนธันวาคม ปี พ.ศ.2545

ดับบลิวซีทีกำหนดบรรทัดฐานระหว่างประเทศ เพื่อปกป้องลิขสิทธิ์ในบทประพันธ์และชิ้นงานทางด้านศิลปะ รวมถึงหนังสือ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ดนตรี ศิลปะ และภาพยนตร์

นอกจากนี้ บทบัญญัติดังกล่าว ยังเป็นการปรับปรุงแก้ไขสนธิสัญญาลิขสิทธิ์สำคัญที่ใช้อยู่ในปัจจุบันให้มีความทันสมัยมากขึ้น ซึ่งสนธิสัญญาที่ว่านี้ คือ อนุสัญญาเพื่อการปกป้องงานศิลปะและวรรณกรรมแห่งเบอร์น (the Berne Convention for the Protection of Literary and Artistic Works) ซึ่งอนุมัติใช้เมื่อปี พ.ศ.2429 และได้รับการปรับปรุงแก้ไขล่าสุดเมื่อปี พ.ศ.2514

ขยายความสิทธิในการคัดลอก

สนธิสัญญาดับบลิวซีที มีการขยายความคำว่า สิทธิในการคัดลอก ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในโลกของอนาล็อก เพื่อให้ประยุกต์เข้ากับอินเทอร์เน็ตและสื่อดิจิทัล ซึ่งนายบลอมควิสต์กล่าวว่า "เมื่อคุณก๊อบปี้ชิ้นงานจากฮาร์ดดิสก์ไปเก็บไว้ในเครื่องแม่ข่าย ก็จะถือเป็นการคัดลอกทันที"

ปัจจุบัน อินเทอร์เน็ต ทำให้สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากผู้ใช้ทั่วไป ดึงงานมาใช้ได้ด้วยตัวเอง ซึ่งนายบลอมควิสต์กล่าวว่า อาจมีบางคนอ้างเหตุผลโต้แย้งว่า การทำเช่นนั้น เป็นการสื่อสารแบบปิด และเป็นเรื่องส่วนตัว ที่ไม่เกี่ยวข้องกับสาธารณชน ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องป้องกันลิขสิทธิ์

ว่าด้วยเรื่องของการบันทึกเสียง

ขณะเดียวกัน ข้อตกลงอีกฉบับหนึ่งที่มีความเกี่ยวข้องกัน คือ สนธิสัญญาดับบลิวพีพีที หรือสนธิสัญญาว่าด้วยการแสดงและการบันทึกเสียงของดับบลิวไอพีโอ ซึ่งร่างขึ้นเพื่อปกป้องสิทธิของการบันทึกเสียงในสื่อดิจิทัล ของผู้ผลิตและผู้แสดง ซึ่งสนธิสัญญานี้ ปรับปรุงแก้ไขจากสนธิสัญญาเมื่อปีพ.ศ.2504 ที่มี 28 ประเทศ จาก 30 ประเทศภาคีสมาชิก ที่ได้ลงนามรับรองแล้ว ขณะที่ดับบลิวไอพีโอคาดว่า สนธิสัญญาดับบลิวพีพีที จะมีผลบังคับใช้ในอนาคตอันใกล้นี้

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในสนธิสัญญาทั้งสองฉบับ ไม่ได้ระบุชัดเจนถึงมาตรการบังคับใช้ แต่ทั้งสนธิสัญญาดับบลิวซีทีและดับบลิวพีพีที ได้มีข้อกำหนดให้ประเทศที่ลงนามเป็นภาคีสนธิสัญญา ต้องยอมรับมาตรการที่เหมาะสมหลายอย่าง ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำได้

หนทางที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

นายบลอมควิสต์กล่าวว่า ยังมีอุปสรรคยุ่งยากอีกมาก หากเทียบกับเรื่องอื่นๆ เช่น การละเมิดลิขสิทธิ์ซีดี และซีดี-รอม เพราะในอินเทอร์เน็ต การคุ้มครองในทางกฎหมาย จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากการคุ้มครองในทางเทคนิคด้วย

ทั้งนี้ สนธิสัญญาดับบลิวซีทีและดับบลิวพีพีที กำหนดให้ประเทศที่เป็นภาคีสนธิสัญญา ต้องจัดเตรียมมาตรการป้องกันในทางกฎหมาย รวมถึงแนวทางแก้ไขที่มีประสิทธิภาพต่อปัญหาในทางเทคนิค อาทิ การเข้ารหัสข้อมูล เป็นต้น



แหล่งอ้างอิง : http://www.thaitelecom.com/News/Techfocus/Techfocus-Generate.pl?2544/12/22-20-20-0003

โดย : นาย ณรงค์ อินตาพวง, สถาบันราชภัฏเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์, วันที่ 15 สิงหาคม 2545