ทำความรู้จักกับซี-คอมเมิร์ซ
 

ซี คอมเมิร์ซ (c-Commerce) หรือ Collaborative Commerce เป็นที่รู้จักกันในต่างประเทศได้เป็นเวลานานพอควรแล้วภายหลังจากการเกิดขึ้นของอินเทอร์เน็ต เนื่องจากได้สร้างข้อได้เปรียบทางการแข่งขัน (Competitive advantage) แก่บริษัทที่นำไปใช้อย่างเห็นได้ชัด

อุตสาหกรรมที่ริเริ่มใช้ ได้แก่ อุตสาหกรรมรถยนต์ และอุตสาหกรรมอากาศยาน และในปัจจุบันได้แพร่ขยายไปยังอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น อิเล็กทรอนิกส์ ก่อสร้าง เครื่องจักร รวมไปถึงอุตสาหกรรมบริการต่างๆ

สำหรับในประเทศไทยซี-คอมเมิร์ซ เริ่มมีการกล่าวถึงมากขึ้น เนื่องจากการตระหนักถึงความสำคัญของการลงทุนทางด้านเทคโนโลยี เพื่อเตรียมความพร้อมในการต่อสู้กับสภาวะการแข่งขันที่รุนแรงของตลาดโลก และตัวอย่างของความสำเร็จที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ Wasserstein Perella Securities, Inc. ได้ออกรายงานการศึกษาว่า นับจากนี้ไปถึง 5 ปีข้างหน้า บริษัทยักษ์ใหญ่ทางด้านอุตสาหกรรมรถยนต์ทั้งสามของสหรัฐอเมริกา จะสามารถ

1. ลดต้นทุนในการพัฒนารถยนต์ได้รวมกัน 19,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

2. เวลาที่ใช้ในการพัฒนารถยนต์รุ่นหนึ่งๆ จะลดลง 50%

3. ต้นทุนการผลิตต่อคันจะลดลง 900 ถึง 1,300 ดอลลาร์สหรัฐ

Southwest Securities Inc. ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจและอุตสาหกรรมแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา ได้ให้คำจำกัดความของซี-คอมเมิร์ซไว้ว่า

"A new business strategy that leverages the ubiquity of the Internet, allowing various members of the supply chain to collaboratively design, build, market and deploy products and services"

เมื่ออ่านมาตรงนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเห็นคำว่า อินเทอร์เน็ต (Internet) หลายท่านคงรู้สึกสงสัยในใจว่า จะไปต่างกับอี-คอมเมิร์ซ (e-Commerce) ที่ตรงไหน ส่วนที่เหมือนกัน ก็คือ การใช้ประโยชน์ของอินเทอร์เน็ตที่เป็นเครือข่ายพื้นฐานที่ครอบคลุมอยู่เกือบทุกส่วนทั่วโลกในการเชื่อมโยงสื่อสารระหว่างผู้เกี่ยวข้องต่างๆ

ความแตกต่าง อยู่ที่ข้อความถัดจากนั้น ที่กล่าวถึงการทำงานร่วมกัน (Collaboration) ของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในผลิตภัณฑ์นั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นนักออกแบบ วิศวกรที่ดูแลการผลิต ซัพพลายเออร์ชิ้นส่วน ฝ่ายขายฝ่ายการตลาด และอาจจะรวมไปถึงลูกค้าด้วยในกรณีที่เป็นผลิตภัณฑ์ตามสั่ง โดยการทำงานร่วมกันจะเริ่มตั้งแต่จุดกำเนิดของผลิตภัณฑ์ โดยการออกแบบ (Design) ไปจนตลอดวงจรชีวิต (Lifecycle) ของผลิตภัณฑ์นั้นๆ อันได้แก่ การผลิต (Build), การตลาดรวมไปถึงการขาย (Sales) และการบริการหลังการขาย (After sales)

วัตถุประสงค์หลักของความพยายาม ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้มีโอกาสทำงานร่วมกันตั้งแต่ช่วงต้นๆ ของวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ โดยต้องการลดเวลาที่ผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาด (Time to Market) เพราะในการพัฒนาผลิตภัณฑ์หนึ่งๆ จำเป็นต้องประกอบด้วย ความรู้ความชำนาญในหลายสาขางาน

นักออกแบบที่คำนึงถึงความสวยงามของรูปลักษณ์ภายนอก อาจจะไม่ได้นำปัจจัยที่จะเกี่ยวข้องกับการผลิตมาใช้ประกอบการออกแบบ เช่น ความพร้อมของเครื่องมือเครื่องจักร ความสามารถที่ซัพพลายเออร์จะผลิตหรือจัดหาชิ้นส่วนมาให้ได้ เมื่อมาถึงฝ่ายผลิต และฝ่ายจัดหาชิ้นส่วน ก็เลยจะต้องขอให้ปรับแก้แบบ ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นหลายครั้ง ทำให้เวลาที่ผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดต้องยืดออกไป หากเวลายืดเยื้อออกนานจนเกินไป อาจทำให้สนองตอบความต้องการของผู้บริโภคไม่ทัน ทำให้เสียเปรียบทางธุรกิจได้

ในแง่ของต้นทุน มีผลการวิจัยจากหลายแห่งสอดคล้องกันว่า กว่า 70-80% ของต้นทุนผลิตภัณฑ์หนึ่งๆ อยู่ในช่วงของออกแบบ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ ดังนั้นการมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพตั้งแต่ช่วงต้นๆ คือ การออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์ ย่อมจะหวังผลและลดต้นทุนได้เป็นกอบเป็นกำมากกว่ามาเริ่มทำที่การซื้อการขาย ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากนั้น




แหล่งอ้างอิง : http://www.thaitelecom.com/News/Techfocus/Techfocus-Generate.pl?2545/01/12-09-18-0002

โดย : นาย ณรงค์ อินตาพวง, สถาบันราชภัฏเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์, วันที่ 15 สิงหาคม 2545