ยุคสังคมดิจิทัล
|
ทุกวันนี้โลกกำลังก้าวเข้าสู่ยุคสังคมดิจิทัล (Digital Economy) หรือ ยุคเศรษฐกิจใหม่ (New Economy) ชีวิตประจำวันของผู้คนในสังคม เริ่มได้สัมผัสกับการทำธุรกรรมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (E-Business) เริ่มคุ้นเคยกับการใช้ระบบสื่อสารข้อมูล คอมพิวเตอร์ และระบบสารสนเทศ (IT) ซึ่งเข้ามาอำนวยความสะดวกให้ทุกชีวิตอย่างไม่เคยมีมาก่อน
ทิศทางของโทรคมนาคมยังคงพัฒนาต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง และก้าวกระโดดอย่างรวดเร็วมาก ในอนาคตอันใกล้นี้ จะมีการรวมตัวเป็นหนึ่งเดียวของเทคโนโลยี ทั้งมีสายและไร้สาย มีการนำเทคโนโลยีสื่อสารโทรคมนาคมมาสร้างสรรค์บริการใหม่ๆ สำหรับประชาชนอย่างหลากหลาย และมีประสิทธิภาพยิ่งๆ ขึ้น อนาคตของโทรคมนาคมไทยจึงจะขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญ 6 ประการ หรือ "6 C" ดังต่อไปนี้
ประการแรก เนื้อหาและการใช้งานผ่านอุปกรณ์สื่อสารและ IT (Content & Application) การที่มีระบบข้อมูล และเนื้อหาสาระจำนวนมากที่สอดคล้องกับความต้องการของสังคม จะผลักดันให้เกิดการบริโภคผ่านเครือข่ายโทรคมนาคม (Bandwidth) อย่างมากมาย และทำให้เกิดธุรกรรม (E-Business) และการบริหารธุรกิจแบบ on-line ต่อคู่ค้าและลูกค้า ซึ่งเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผู้ใช้บริการ เป็นประโยชน์ต่อชีวิตประจำวันของทุกคน ทั้งชีวิตครอบครัว และชีวิตการทำงาน
ประการที่ 2 การแข่งขัน (Competition) เมื่อเปิดเสรีโทรคมนาคมแล้ว มีการจัดตั้งคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) มีการกำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนแล้ว จะทำให้เกิดการแข่งขันบริการจากผู้ให้บริการที่หลากหลายทั้งในและต่างประเทศ ดังนั้น อัตราค่าใช้บริการ และช่วงของความคุ้มทุน (Magin) จะลดลง ขณะที่ฐานผู้ใช้บริการและการตลาด (Economy of scale) จะใหญ่ขึ้นและเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะเป็นลักษณะของโลกาภิวัตน์ (Globalization) ผู้ให้บริการจะมีความเป็นอิสระมากขึ้น แต่ภายใต้ความกดดันจากการแข่งขัน ในเวลาเดียวกัน จะทำให้เกิดการยุบรวมกิจการ ทั้งระหว่างบริษัทในประเทศ และกับต่างประเทศ
ประการที่ 3 ความร่วมมือกัน (Cooperation) ในอนาคตจะเกิดความร่วมมือกันอย่างกว้างขวาง ทั้งระหว่างอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ไอที อุปกรณ์เชื่อมต่อ (Customer device) ตลอดจนอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยที่ความร่วมมือนี้จะเป็นไปเพื่อแสวงหาคำตอบต่อความต้องการที่หลากหลายมาให้ผู้ใช้บริการ ไม่ว่าจะเป็นการสนองตอบความต้องการของลูกค้าในระดับองค์กร หรือแม้แต่รายบุคคลก็ตาม
ประการที่ 4 ความคิดใหม่ๆ (Creativity) การคิดสร้างสรรค์ และนำเสนอคุณค่าใหม่ๆ ของบริการโทรคมนาคม รวมทั้งการนำไปใช้งานในรูปแบบใหม่ๆ ให้กับสังคม สิ่งนี้มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการเจริญเติบโตของธุรกิจและการแข่งขัน ซึ่งหากเทียบกับสมัยก่อนนั้น การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ที่หลากหลายอาจจะไม่จำเป็นมากนักในธุรกิจสื่อสาร
ประการที่ 5 การบริหารความสัมพันธ์ (Customer Relations Management) ผู้ให้บริการแต่ละราย จะต้องมีแนวนโยบายที่ให้ความสำคัญกับลูกค้า และรักษาความสัมพันธ์อันดีแบบยั่งยืน เพื่อที่จะเอาชนะใจลูกค้าให้มีความภักดีต่อบริการ
ประการที่ 6 ความพร้อมของสังคม (Compatibility) การศึกษา การมีระดับความรู้ความเข้าใจ ในการใช้งานเครื่องมือสื่อสารคอมพิวเตอร์ (Computerliteracy) รวมทั้งภาษาอังกฤษ จะมีบทบาทมากต่อชีวิตประจำวัน และต่อการเจริญเติบโตในระบบสังคมยุคใหม่ (New Economy) ซึ่งประสิทธิผลต่อเวลาจะเพิ่มขึ้นอย่างเท่าทวีคูณ เพื่อการเรียนรู้ในโลกไร้พรมแดน ซึ่งการเจริญเติบโตของสังคมลักษณะนี้ จะทำให้มีการใช้ประโยชน์จากเครือข่ายโทรคมนาคม และระบบข้อมูลข่าวสารอย่างมีประสิทธิภาพ
อุตสาหกรรมโทรคมนาคมยังคงเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐาน ซึ่งนอกจากจะสร้างความสะดวกสบายและประสิทธิภาพแล้ว ยังเป็นดัชนีบ่งบอกถึงความเจริญเติบโตของเศรษฐกิจของบ้านเรา และยังเป็นพื้นฐานสำคัญสู่สังคมแห่งภูมิปัญญา
การใช้พลังแห่งเทคโนโลยีสื่อสารในการเผยแพร่และถ่ายเทข้อมูลความรู้ ทำให้เกิดการสื่อสารโต้ตอบสองทางอย่างทั่วถึง จะสร้างให้เกิดการเรียนรู้ของสังคมโดยพร้อมเพรียงกันทั้งระบบ และจะลดช่องว่างระหว่างความคิด ความเข้าใจ ซึ่งจะนำไปสู่การลดช่องว่างระหว่างสังคม ผมเชื่อว่าการกระจายรายได้ที่แท้จริงคือ การกระจายความรู้และข้อมูลอย่างทั่วถึง และการโต้ตอบระหว่างความคิดที่แตกต่างอย่างสร้างสรรค์
ระบบสื่อสารที่ทั่วถึงจะเป็นตัวผลักดันที่สำคัญ ในอันที่จะทำให้เกิดการพัฒนาดังกล่าว แต่แรงผลักดันที่สำคัญยิ่งกว่าคือ "ความตระหนัก" ของรัฐบาล สังคม บริษัท และตัวเรา ในการที่จะใช้ระบบเทคโนโลยีสื่อสารให้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างไร
ท้ายที่สุดนี้ ผมขอฝากข้อคิดไว้ว่า แม้เทคโนโลยีสื่อสารโทรคมนาคมจะก้าวไปไกลเพียงใด แม้ว่าจะก่อให้เกิดความเป็นอยู่ที่ทันสมัยและความสะดวกสบายถึงเพียงไหน แต่หากไม่มีการกำกับดูแลที่ดี (Good Governance) ในทุกระดับตั้งแต่สังคม (กฎหมาย) บริษัท (Corporate Governance) ครอบครัว หากขาดการดูแลเอาใจใส่ ความมีคุณธรรม และการเคารพกติกาของสังคม สังคมนั้นๆ ก็คงจะไม่มีคุณค่าชีวิตที่สูงขึ้นเท่าใดนัก
|
|
แหล่งอ้างอิง : ชัชวาลย์ เจียรวนนท์.\"สังคมยุคดิจิทัล\"[online]avaible.URLhttp://http://www.thaitelecom.com/News/Techfocus/Techfocus-Generate.pl?2545/01/1-09-39-0002
|
|
โดย : นางสาว นิศา นวลขำ, รภ.เพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ฯ, วันที่ 15 สิงหาคม 2545
|