"มือถือ" เป้าหมายใหม่แฮคเกอร์

ชี้เป็นเหตุให้โทรศัพท์เคลื่อนที่ทำงานผิดพลาด รวมทั้งยังสามารถลบข้อมูลจากเครื่องได้ทั้งหมด

ผู้เชี่ยวชาญ เตือนผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ระวัง "ไวรัสมือถือ" หลังพบรายงานแฮคเกอร์ และผู้สร้างไวรัสคอมพิวเตอร์เปลี่ยนเป้าหมายโจมตีจากคอมพิวเตอร์มาสู่โทรศัพท์เคลื่อนที่ ระบุเป็นสาเหตุหลักให้ทำงานผิดพลาด รวมทั้งยังสามารถลบข้อมูลภายในเครื่องได้ทั้งหมด

ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบรักษาความปลอดภัย เปิดเผยว่า เนื่องจากในปัจจุบันเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งเรียกว่า "สมาร์ทโฟน" (Smartphone) ทำให้ผู้ใช้สามารถท่องอินเทอร์เน็ต รับและส่งอี-เมล์ รวมถึงดาวน์โหลดข้อมูลได้เช่นเดียวกันเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ส่งผลให้โทรศัพท์เคลื่อนที่รุ่นใหม่กลายเป็นเป้าโจมตีเหมือนกับคอมพิวเตอร์ทั่วไป

ตัวอย่างการโจมตีที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่น เมื่อหน่วยงานกู้ภัยของภาครัฐได้รับโทรศัพท์เรียกเข้าตลอดเวลาจนต้องระงับการให้บริการ และจากผลการตรวจสอบพบว่า โทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งติดไวรัสจะโทรเรียกเลขหมายกู้ภัยดังกล่าวโดยอัตโนมัติ

ด้านนักวิเคราะห์ในอุตสาหกรรม มองว่า ผู้สร้างหรือพัฒนาโปรแกรมไวรัสโจมตีโทรศัพท์เคลื่อนที่ ต้องการแค่อวดความสามารถเท่านั้น แต่สิ่งที่บริษัทไฮเทคทั้งหลายกำลังกังวลมากที่สุด คือ โปรแกรมไวรัสจะเข้าไปควบคุมโทรศัพท์ได้โดยตรง รวมทั้งขโมยข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ และนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ในทางไม่ดีเหมือนที่เกิดขึ้นแล้วบนอินเทอร์เน็ต

"เอาท์ลุค" อีกหนึ่งพาหะ

พร้อมกันนี้ ผู้เชี่ยวชาญยังเตือนว่า การให้บริการโปรแกรมไมโครซอฟท์เอาท์ลุค (Microsoft Outlook) ผ่านโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่อาจเป็นสาเหตุให้เกิดไวรัสมือถือได้อีกด้วย

กระนั้น บริษัท ไมโครซอฟท์ บริษัท โวดาโฟน กรุ๊ป และบริษัท ฮิวเลตต์-แพคการ์ด ประกาศลงนามเปิดให้บริการโปรแกรม "เอาท์ลุค" ผ่านโครงข่ายไร้สายในประเทศนิวซีแลนด์เมื่อเดือนที่ผ่านมา

ตัวแทนของบริษัท ฮิวเลตต์-แพคการ์ด เปิดเผยว่า ในช่วงแรก บริการดังกล่าวจะครอบคลุมถึงโทรศัพท์เคลื่อนที่และอุปกรณ์ไร้สายแบบพกพาอื่นๆ ด้วย ไม่จำกัดเฉพาะอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ของบริษัทเท่านั้น

ขณะที่ นายสตีฟ แฮดด็อค ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจของบริษัท ไมโครซอฟท์ คาดหวังว่า ผู้ดำเนินการด้านอุปกรณ์ไร้สายอื่นๆ จะนำระบบนี้มาให้บริการในอนาคต

อันตรายเทียบเท่าไวรัสคอมพิวเตอร์

นายริชาร์ด บัทเชอลาร์ ผู้จัดการบริษัท ไซมานเทค กล่าวว่า ไวรัสและอันตรายต่างๆ ที่โจมตีโปรแกรมเอาท์ลุคสามารถแพร่กระจายในโลกของอุปกรณ์ไร้สายได้เช่นเดียวกับที่เป็นอยู่ในเครือข่ายคอมพิวเตอร์ แต่ประเด็นสำคัญ คือ "เมื่อไร" ที่ไวรัสดังกล่าวจะแพร่เข้าสู่ระบบนี้ รวมทั้งโปรแกรมประยุกต์ด้านข้อมูล และการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตกับอุปกรณ์ไร้สายอื่นๆ

สำหรับแนวคิดพื้นฐานของบริการนี้ อยู่ที่คอมพิวเตอร์แม่ข่ายข้อมูลไร้สายรุ่นล่าสุด ของบริษัท ไมโครซอฟท์ หรือเอ็มไอเอส 2002 (MIS 2002) ซึ่งประกอบด้วย เอาท์ลุค โมบาย แอคเซส (Outlook Mobile Access) โปรแกรมประยุกต์ที่บรรจุคุณสมบัติการทำงานต่างๆ ของโปรแกรมเอาท์ลุค เช่น การอ่านจดหมายอิเล็กทรอนิกส์, บันทึกการติดต่อ , ปฏิทิน, ตารางการทำงาน และโปรแกรมประยุกต์ระบบเครือข่ายภายในหน่วยงานอื่นๆ โดยเอ็มไอเอส 2002 จะมีพัฒนาการสูงกว่า เอ็มไอเอส 2001 (MIS 2001) อุปกรณ์เครือข่ายเวอร์ชั่นก่อนหน้านี้ เนื่องจากทำให้อุปกรณ์ไร้สายและอุปกรณ์แม่ข่ายสามารถปฏิบัติการพร้อมกันได้

การรับส่งข้อความไม่แพร่ไวรัส

ขณะที่นายอาร์เจน เดอ แลนด์กราฟ เจ้าของบริษัท โค-โลจิก อี-ซีเคียว ไอที เปิดเผยว่า การส่งข้อความทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ "น่าจะปลอดภัยกว่า" การส่งทางอินเทอร์เน็ต เนื่องจากด้วยพัฒนาการของบริการที่ใช้ระบบเอ็มไอเอส 2002 ดังกล่าว ทำให้แฮคเกอร์หันไปโจมตีจุดอ่อนทั่วๆ ไปของโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งได้เกิดขึ้นแล้ว แต่ระดับความปลอดภัยในปัจจุบันยังไม่สูงพอ จึงไม่สามารถป้องกันการโจมตีเหล่านี้ได้

กระนั้น นายเดอ แลนด์กราฟ เสริมว่า การใช้อุปกรณ์เคลื่อนที่เชื่อมต่อกับโปรแกรมเอาท์ลุค และบริการอี-เมล์อื่นๆ นับเป็นหลักการที่ดี แต่เมื่อเกิดปัญหาขึ้น ก็ต้องทำการแก้ไข เช่นเดียวกับรูปแบบการสื่อสารทั่วๆ ไป

ขณะที่ นายดอน พอยทัน โฆษกของบริษัทโวดาโฟน เปิดเผยว่า มาตรฐานความปลอดภัยในการถ่ายโอนข้อมูลผ่านอุปกรณ์ไร้สายของเทคโนโลยีแวพนั้น ครอบคลุมการส่งข้อมูลด้วยเทคโนโลยีแวพทุกรูปแบบ และการส่งข้อความไม่สามารถแพร่ไวรัสได้



แหล่งอ้างอิง : http://www.thaitelecom.com/News/Techfocus/Techfocus-Generate.pl?2545/03/26-07-19-0001

โดย : นาย ณรงค์ อินตาพวง, สถาบันราชภัฏเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์, วันที่ 15 สิงหาคม 2545