ยุทธศาสตร์กำจัดความขัดแย้งในอง

e-MANUFACTURING ยุทธศาสตร์กำจัดความขัดแย้งในองค์กร

การแข่งขันกันทำกำไรในยุคพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ตั้งอยู่บนปัจจัยสำคัญหลายประการ เช่น ความรวดเร็วในการติดต่อสื่อสาร ความมั่นคงเชื่อใจได้ของกระบวนการ ไม่ว่าจะเป็นงานผลิตสินค้า หรือนบริการตลอดจนความสามารถในการประมาณการกำหนดการส่งมอบงานได้อย่างเที่ยงตรง แม่นยำ โดยหลายบริษัททุ่มงบประมาณ ในการพัฒนาระบบไอทีจำนวนมหาศาล เพื่อที่จะพัฒนาประสิทธิภาพในการส่งมอบ พัฒนาระบบ "โซ่อุปทาน" และระบบบริหารงานลูกค้าสัมพันธ์ แต่ไม่ว่างบประมาณในการพัฒนาระบบไอทีดังกล่าวจะสูงเพียงใด ประเด็นสำคัญที่จะเพิ่มศักยภาพ ในการส่งมอบสินค้าถึงมือลูกค้าได้อย่างรวดเร็วทันใจ ขึ้นอยู่กับการที่ว่า "คุณมีความสามารถในการติดต่อประสานงานภายในให้ลื่นไหลอย่างไม่สะดุด รวดเร็วและถูกต้อง อย่างแท้จริงแค่ไหน?" โรงงานหรือหน่วยผลิต มักจะถูกมองเป็นจุดอ่อนที่อันตรายในการประสานงานภายในองค์กรอยู่ตลอดเวลา โรงงานถูกเปรียบเปรยเสมือนกับว่า เป็นแดนสนธยาของข้อมูล เช่น ไม่รู้ว่าควรจะเริ่มผลิตเมื่อไร? (เพราะว่าหากเริ่มผลิตเร็วเกินไปก็จะสร้างปัญหาเกิดงานระหว่างทำมากเกินความจำเป็น หากเริ่มช้าเกินไปก็อาจจะทำให้ผลิตไม่ทัน) ผลิตแล้วจะเสร็จวันไหน? กำลังการผลิตที่มีพอเพียงหรือไม่? นอกจากนี้ หากไม่พอต้องเพิ่มช่วงเวลาทำงานพิเศษ หรือไม่สำหรับหน่วยงานไหน? คำถามซ้ำซากเหล่านี้อยู่คู่กับนักอุตสาหกรรมมาโดยตลอด โดยที่หลายโรงงานยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่า จะหาทางออกให้กับปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไร สาเหตุหลักที่สำคัญเป็นเพราะว่า นักอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ไม่ได้ประยุกต์ใช้ระบบไอที สำหรับควบคุมโรงงาน ทั้งๆ ที่โรงงานคือ ศูนย์กลางคือหัวใจของการประกอบกิจการ วันนี้เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต เข้ามามีบทบาทอย่างมากมายในชีวิตส่วนตัวและธุรกิจของเรา เราทุกคนคงคุ้นเคยกับตัวอักษร "e" ในโลกของการทำการค้ายุคพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) ผู้อ่านบทความนี้แทบทุกคนมี e-mail ไว้ใช้กันที่บ้านหรือที่ทำงาน คราวนี้เราลองเอาเจ้าอักษรตัว "e" นี้ใส่ลงไปในกระบวนการผลิตบ้าง เพื่อจะได้เป็น e-Manufacturing แล้วมาเรียนรู้กันว่าเทคโนโลยี e-Manufacturing นี้คือ อะไรและจะมาแก้ไขปัญหาต่างๆ ของโรงงานรวมถึงช่วยให้กระบวนการติดต่อสื่อสารในโรงงานให้ลื่นไหลไม่สะดุดได้อย่างไร?

e-Manufacturing เป็นคำตอบสำหรับทุกปัญหาที่กล่าวมา เป็นระบบไอทีสำหรับการเฝ้าระวัง ดูแลการใช้ทรัพยากรการผลิตในพื้นที่การผลิตอย่างใกล้ชิด บวกกับการนำอินเทอร์เน็ตมาใช้ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข้ามองค์กร เมื่อคำสั่งซื้อของลูกค้าเข้ามาสู่ระบบ e-Manufacturing จะถูกจัดลำดับการผลิตในตารางการผลิต (Scheduler) โดยอ้างอิงข้อมูลจากพื้นที่การผลิตแบบ real time ว่า ณ ขณะนี้เครื่องจักรเครื่องใดว่างบ้าง พร้อมที่จะเริ่มผลิตได้เมื่อไร? เมื่อมีการผลิตเสร็จข้อมูลก็จะ on-line ไปที่แผนกคลังสินค้าพร้อมที่จะจัดส่งไปยังลูกค้าได้ทันที จะเห็นได้ว่ากระบวนการอัตโนมัติในลักษณะนี้ จะใช้ อุปกรณ์ต่างๆ เช่น สวิตช์ ระบบพีแอลซี หรืออุปกรณ์ควบคุมต่างๆ รวมไปจนถึง Barcode เป็นตัวรายงานผล การใช้บุคลากรที่เป็นคนรายงานเกิดขึ้นน้อยมาก จึงเป็นการเพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการประสานงาน สื่อสาร และส่งต่อข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ ความขัดแย้งในการติดต่อสื่อสาร จึงถูกกำจัดออกไปจากโรงงานอย่างสิ้นเชิง เวลาและกิจกรรมอันไม่เกิดประโยชน์ถูกกำจัดต้นทุนของกระบวนการโดยรวมก็จะลดลงไปโดยอัตโนมัติ และที่สำคัญคือ โรงงานมีความสามารถในการตอบสนองต่อลูกค้าสูงขึ้นด้วย บริษัทที่มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีทางด้าน e-Manufacturing ส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่มีอินเทอร์เน็ตเป็นฐานในการค้าขายอยู่แล้ว แต่เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตเป็นเสมือนดาบสองคม ผู้ซื้อส่วนใหญ่มักจะมองหาผู้ขายรายใหม่ที่เสนอทางเลือกที่ดีกว่าเสมอ แรงกดดันทางด้านราคาจะเกิดขึ้นตลอดและจะสูงขึ้นมากเรื่อยๆ ผู้ประกอบการต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการของตัวเอง เพื่อรองรับความคาดหวังดังกล่าว ผู้ผลิตหลายรายหันมาสร้างความสามารถในการแข่งขัน คือ เปลี่ยนรูปแบบการผลิตเป็นแบบสร้างตามสั่ง (Build-To-Order) ให้รองรับความต้องการของลูกค้าได้หลากหลาย และสร้างกระบวนการผลิตแบบ Non-stop นั่นคือ โรงงานสามารถที่จะผลิตได้ตลอดเวลาหรือ 7x24 ซึ่งหมายถึง 7 วันต่อสัปดาห์ และ 24 ชั่วโมงต่อหนึ่งวันนั่นเอง เพื่อที่จะบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวองค์กรจะต้องสร้างความสามารถที่สำคัญ 4 ข้อ ให้กับโรงงาน ดังนี้

1. ความสามารถในการออกแบบกระบวนการผลิต (Design) กระบวนการผลิตจะต้องถูกวางรากฐานให้สามารถปรับเปลี่ยนได้ง่าย ยืดหยุ่นรองรับกับความต้องการที่เปลี่ยนไปของลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว

2. ความสามารถในการดำเนินงาน (Operate) กระบวนการผลิตต้องสามารถดำเนินงานได้อย่างสม่ำเสมอ มีความสูญเสียในกระบวนการผลิตน้อยที่สุด ดังที่รู้กันอยู่ในปัจจุบันว่าบริษัทข้ามชาติจำนวนมากจะกระจายฐานการผลิตไปตามประเทศต่างๆ ทั่วโลก เพื่อแสวงหาการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด โดยบริษัทเหล่านี้ จะต้องมีการคำนวณตัวเลขอย่างรอบคอบถึงตัวเลขกำลังการผลิตของแต่ละสถานที่ ไม่ว่าโรงงานนั้นจะตั้งอยู่ที่แห่งใดการดำเนินงานจะต้องสร้างผลผลิตได้ในอัตราเท่าๆ กัน จึงเป็นโจทย์ให้ผู้บริหารต้องศึกษาเทคนิคการผลิตแนวใหม่เพื่อนำมาใช้ปรับปรุงโรงงาน เช่น การผลิตแบบกระแส (Flow Manufacturing) ที่ถูกนำมาใช้ปรับปรุง เพิ่มความสามารถในการตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าอย่างรวดเร็ว หรือการประยุกต์ระบบ Six Sigma ลดความแปรปรวนของกระบวนการผลิต เพื่อให้ได้มาซึ่งคุณภาพสูงสุด เป็นต้น

3. ความสามารถในการซ่อมบำรุง (Maintain) คือ ความสามารถที่ในการดูแลรักษาทรัพยากรการผลิตต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เครื่องจักร เครื่องไม้เครื่องมือในการผลิต รวมถึงบุคลากร เพื่อเป็นการค้ำประกันได้ว่าโรงงานจะไม่หยุดชะงักงัน เพราะเครื่องจักร หรือทรัพยากรการผลิตอื่น เสียหายเนื่องจากขาดการซ่อมบำรุงที่ดีพอ

4. ความสามารถในการจัดกระบวนการทำงานให้คล้องจองเป็นจังหวะเดียวกัน (Synchronize) คือ การสร้างความสัมพันธ์ของกระบวนการธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับกระบวนการผลิตให้แน่นแฟ้นตาม "โซ่อุปทาน" ทั้งในส่วนงานที่เกี่ยวข้องกับลูกค้า คือกระบวนการขาย และส่วนงานที่เกี่ยวข้องกับผู้ขาย (Supplier) คือ กระบวนการจัดซื้อ ความสามารถในส่วนนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากความสามารถใน 3 ส่วนด้านบน (Design/Operate/Maintain) ยังทำได้ไม่ดีพอ

บทสรุป

e-Manufacturing เป็นเทคโนโลยีใหม่สำหรับผู้ประกอบการอุตสาหกรรม การสร้างความสามารถในการแข่งขันทั้ง 4 คือ Design, Operate, Maintain และ Synchronize ให้กับโรงงานเป็นการเชื่อมโยงกระบวนการทางธุรกิจเข้าหากันอย่างนิ่มนวล ยิ่งไปกว่านั้นยุทธศาสตร์การนำ e-Manufacturing มาใช้สามารถให้คำตอบที่ถูกต้องในการประสานงานทั้งภายในและภายนอกองค์กร ด้วยเทคโนโลยี e-Manufacturing คุณสามารถเชื่อมข้อมูลโรงงานเข้ากับระบบไอทีอย่างระบบบริหารลูกค้าสัมพันธ์ (CRM) หรือระบบโซ่อุปทาน (SCM) ได้โดยตรง ถูกต้องและแม่นยำ ข้อมูลข่าวสารทั้งองค์กรเป็นหนึ่งเดียวกัน และนี่คือคำตอบของคำจำกัดความที่ว่า e-Manufacturing คือระบบไอทีที่กำจัดความขัดแย้งในองค์กรให้หมดไปอย่างถาวร



แหล่งอ้างอิง : e-MANUFACTURING ยุทธศาสตร์กำจัดความขัดแย้งในองค์กร. [online] available URL : http://www.bangkokbiznews.com/2002/kit/2002kit/0731/06.html. 15/08/45.

โดย : นาย ชวลิต กิ่งบัวหลวง, สถาบันราชภัฏเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์, วันที่ 15 สิงหาคม 2545