Telecommute
เมื่อสังคมการทำงานเปลี่ยนไปในรูปของ Telecommute

- แนวคิดเรื่องของ Telecommute เริ่มเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ถูกพัฒนาจากระบบอนาล็อกมาเป็นระบบดิจิตอล โดยมีการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ประเภทโน๊ตบุ๊คและโทรศัพท์เคลื่อนที่มาต่อพ่วง เพื่อให้ผู้ใช้สามารถติดต่อสื่อสารได้ หากผมจำไม่ผิด ยักษ์สีฟ้าเป็นบริษัทไอทีรายแรกในประเทศไทยที่ให้ความสนใจ ทั้งในส่วนที่สร้างโซลูชั่นสำหรับเปลี่ยนการทำงานให้อยู่ในรูปสำนักงานเคลื่อนที่เพื่อนำเสนอลูกค้า และในขณะเดียวกันก็ได้มีการนำแนวคิดนี้มาใช้ภายในองค์กรเอง ก่อนที่จะลดความสำคัญลงไปเป็นลำดับ จุดประสงค์แรกเริ่มคือ ความต้องการที่จะลดขนาดของสำนักงานลง และให้พนักงานไปอยู่ในที่ๆทำงานสะดวกขึ้นและใกล้ชิดลูกค้ามากขึ้น เพื่อสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าเอง ปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นเท่าที่ได้รับฟังมาอยู่ที่พนักงานเองมากกว่า ซึ่งแม้ว่าในตอนแรกจะมีผู้อาสาเข้ามาอยู่ในโครงการสำนักงานเคลื่อนที่เป็นจำนวนพอสมควรเนื่องจากเห็นว่าสะดวก โดยเฉพาะในกรณีของเจ้าหน้าที่ด้านซอฟท์แวร์ที่อาจทำงานที่บ้านเสียด้วยซ้ำ แต่ภายหลังก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงการทำงานในลักษณะดังกล่าวมาทำงานในรูปแบบปกติ เนื่องจากเกิดความเบื่อหน่ายและมีความต้องการที่จะพบปะกับผู้คน อย่างไรก็ตาม สังคมที่มีลักษณะเป็น “Telecommute” ในสหรัฐอเมริกาเองกลับมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยถือได้ว่าผ่านช่วงเวลาแห่งการทดลองไปแล้ว และในหลายๆองค์กรกลับนำเข้ามาใช้เป็นส่วนหนึ่งของการทำงานปกติอีกด้วย ศูนย์วิจัยทางสังคมศาสตร์ของมหาวิทยาลัยโอล์คโดมีเนี่ยน ได้ทำการวิจัยพบว่า สังคมของชาวอเมริกันในทุกวันนี้นั้น ทุกๆ 1 คนใน 5 คน ได้มีส่วนร่วมไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ที่มีการทำงานในลักษณะที่เรียกว่า “Teleworking” นอกจากนี้ผลการวิจัยจากองค์กรแกลลัพท์ได้แสดงให้เห็นว่า ในปัจจุบันนี้มีคนจำนวนถึง 8 ล้านคน ที่มีการติดต่อในลักษณะ “Telecommute” อย่างเต็มรูปแบบ สำหรับคนที่มีการติดต่อสื่อสารและทำงานในลักษณะนี้มีการนิยามศัพท์ที่จะใช้เรียกกันว่า “Mobile Worker” ซึ่งมีความหมายครอบคลุมถึงคนที่ทำงานที่บ้านหรือจากบ้านตลอดจนคนที่ทำงานในพื้นที่ต่างๆ แม้แต่ในถิ่นที่ห่างไกล ซึ่งเราเรียกสำนักงานเหล่านี้ว่า Satellite Offices
การมอง Telecommute เป็นเพียงเรื่องของเทคโนโลยีแต่เพียงอย่างเดียวเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากผู้คนที่ทำงานในลักษณะนี้จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงทั้งในส่วนของพฤติกรรมและทางสังคมอีกด้วย เราจึงพบว่าผู้คนส่วนใหญ่ที่ต้องการทำงานในลักษณะที่เป็น Mobile Worker เนื่องจากมีความต้องการความเป็นอิสระหรืออยู่ใกล้ชิดครอบครัวแล้ว ในที่สุดก็อาจเรียกร้องกลับเข้ามาอยู่ในการทำงานลักษณะเดิมดังที่กล่าวมาข้างต้น นอกจากนี้พนักงานมักจะมอง Telecommute ในด้านของความคล่องตัวและเวลาที่ตนสามารถบริหารและจัดการได้ โดยลืมไปว่า Telecommute อาจไม่ใช่การทำงานในลักษณะ 5 วันทำการและทำงานวันละ 8 ชั่วโมงต่อไป แต่เป็นการทำงานในลักษณะที่เป็น 24 ชั่วโมงต่อวันและไม่มีวันหยุดก็ได้ ความก้าวหน้าในเทคโนโลยีการสื่อสารและไอทีที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และแนวโน้มของค่าใช้จ่ายที่ลดลง น่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันให้สังคม Telecommute ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง นอกเหนือจากความกดดันจากสภาวะการแข่งขันและการลดต้นทุนขององค์กร ที่ทำให้บริษัทต่างๆจำเป็นต้องผลักดันให้พนักงานอยู่ในพื้นที่หรือใกล้ชิดลูกค้ามากขึ้น ขณะเดียวกันก็เป็นการลดขนาดพื้นที่ของสำนักงานไปโดยปริยายอีกด้วย



แหล่งอ้างอิง : พงษ์ชัย ศิรินฤมิตร. เมื่อสังคมการทำงานเปลี่ยนไปในรูปของ Telecommute. [online] available URL : http://www.thaitelecom.com/News/Techfocus/Techfocus-Generate.pl?2545/07/31-09-28-0001. 14/08/2545.

โดย : นาย ชวลิต กิ่งบัวหลวง, สถาบันราชภัฏเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์, วันที่ 14 สิงหาคม 2545