ฉลาดใช้คอมพิวเตอร์

        สหรัฐอเมริกา ประเทศซึ่งถือว่ามีจำนวนผู้ใช้คอมพิวเตอร์อยู่ในลำดับต้นๆ ของโลก จำนวนผู้ใช้กว่า 75 เปอร์เซ็นต์ ล้วนมีปัญหาด้านสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นอาชีพโปรแกรมเมอร์ เสมียนพิมพ์ดีด หรืออาชีพอื่นๆ

RSI ทำอะไรซ้ำๆ ซากๆ

         เป็นภัยร้ายที่จะเกิดขึ้นกับผู้ใช้คอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะกับลักษณะการทำงานที่ซ้ำๆ เป็นเวลานานเราเรียกว่า RSI เช่น ผู้ที่ต้องใช้คีย์บอร์ดพิมพ์งานอยู่ตลอดเวลา ด้วยการที่ต้องออกแรงซ้ำๆ อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ ทำให้อาการของ RSI เพิ่มขึ้นอยู่ตลอดเวลา เวลา 6 ชั่วโมง ที่นิ้วของผู้ใช้คอมพิวเตอร์ใช้พิมพ์งานอยู่ตลอดนั้น เชื่อหรือไม่ว่าไม่ต่างอะไรกับการเดินด้วยระยะทาง 40 กิโลเมตรด้วยขา การต้องนั่งอยู่กับที่เพื่อทำงานใดงานหนึ่ง ยังส่งผลให้ระบบกล้ามเนื้อและกระดูกถูกบังคับให้อยู่ในบริเวณที่จำกัด โดยเฉพาะส่วนศรีษะ คอ ไหล่ กระดูกสันหลัง แขน และขา สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิด RSI ทั้งสิ้น

ผลกระทบที่คุณไม่รู้ตัว

         การจำกัดขอบเขตการทำงานของอวัยวะในร่างกายไม่ว่าจะเป็นกล้ามเนื้อ เอ็น และเส้นประสาทต่างๆ จะส่งผลให้ระบบการไหลเวียนของเลือดที่จะไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายนั้นถูกจำกัดไปด้วย

        เนื้อเยื่อต่างๆ ที่เป็นส่วนประกอบของร่างกายนั้น ต้องการการบำรุงเลี้ยงจากสารอาหารและใช้ออกซิเจน ซึ่งจะได้รับจากการหมุนเวียนของกระแสเลือด ยิ่งกว่านั้นของเสียต่างๆ ที่เกิดขึ้นในกระบวนการทำงานของเนื้อเยื่อ ยังถูกขับออกไปกับเลือดด้วย ของเสียเหล่านี้มักเป็นสาเหตุของการปวดเมื่อยทั้งหลาย  โดยเฉพาะกรดแลกติคและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

อาการที่เกิดจาก RSI จะค่อยๆ สะสมและแสดงผลออกมาให้เห็นจากอาการเหล่านี้

  • การปวด บวม เมื่อยล้า ชา ตามส่วนต่างๆ เช่นมือ ข้อมือ ศอก ไหล่ หลัง และคอ
  • ความกระฉับกระเฉง และความคล่องตัวลดลง
  • เกิดอาการไม่สบายตัว เช่น หากวันนั้นเราทำงานอย่างหนัก ในเช้าวันรุ่งขึ้นเราจะรู้สึกระบมตาแขน

พิษร้ายจากจอภาพ

           จอภาพจะมีไอระเหยออกมา ซึ่งสามารถดมกลิ่นได้ แต่ปริมาณที่ระเหยออกมามีน้อยมากทำให้ผู้ใช้ไม่รู้สึกตัวและไม่ทราบว่ากลิ่นที่ระเหยออกมานี้มีอันตรายเพียงใด

หลายๆ หน่วยงานที่ดูแลงานเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพ ได้ออกมาเตือนและแนะนำให้หลีกเลี่ยงกลิ่นซึ่งเป็นแก๊สที่ระเหยออกมาจากจอภาพนี้โดยเฉพาะจอภาพรุ่นเก่าๆ เนื่องจากไอระเหยนี้เป็นพิษสะสมในร่างกายคนเราได้นั่นเอง

ไอระเหยจากจอภาพมีขื่อเรียกว่าโพลีโบรไมต์ เป็นสารที่เกิดจากปฏิกิริยาเคมีจากกรดโบรมิก ไม่มีสี  มีคุณสมบัติต้านทานความร้อนได้ดี จึงนิยมใช้สารนี้เป็นวัสดุส่วนหนึ่งของจอภาพ

            การป้องกัน :  ยากที่จะหลีกเลี่ยงเนื่องจากสารเหล่านี้มีอยู่ในทุกจอภาพ และเราจำเป็นต้องใช้จอภาพในการทำงาน สิ่งที่ทำได้คงมีเพียงแค่พยายามให้พื้นที่บริเวณที่ตั้งจอภาพสามารถถ่ายเทอากาศได้สะดวกและไม่คับแคบจนเกินไป

อย่าจ้องมองจอนานๆ

            การเพ่งมองจอภาพเป็นเวลานานๆ จะทำให้เกิดการเมื่อยล้าของดวงตา เนื่องจากว่าภาพในจอภาพจะมีการสั่นไหวตลอดเวลา แม้ว่ามองเผินๆ จะดูว่านิ่งก็ตาม การสั่นไหวบนจอภาพนั้นเกิดขึ้นด้วยความเร็วสูงเกินกว่าสายตาจะจับได้ ผลกระทบที่เห็นได้ชัดเจนคือ เปลือกตาบนจะตก แสบตาและเคืองตาหลังจากเพ่งมองจอภาพเป็นเวลานานๆ บางคนอาจจะถึงขั้นสายตาพร่ามัว มองสิ่งรอบข้างไม่ชัดและยังทำให้น้ำที่หล่อเลี้ยงอยู่ในตานั้นแห้งซึ่งจะเป็นอันตรายต่อกระจกตาโดยตรง

            การป้องกัน : คงต้องเลือกจอภาพที่เป็นแบบนอนอินเทอร์เลซ จอภาพประเภทนี้จะมีอัตรารีเฟรชสูง มีการสั่นไหวต่ำ และในการใช้งานควรปรับอัตรารีเฟรชของจอภาพไม่ต่ำกว่า 75Hz

สภาพแสงในบริเวณที่ทำงานควรจะสว่างเพียงพอ ไม่มีเงาหรือแสงสะท้อนใดๆ โดยเฉพาะแสงจากดวงอาทิตย์ และที่สำคัญควรจะพักสายตาอย่างสม่ำเสมอ ด้วยการมองสิ่งอื่นที่อยู่รอบข้างหรือทิวทัศน์อื่นๆ เป็นระยะๆ เพื่อเป็นการผ่อนคลายและลดความเมื่อยล้าของดวงตาให้น้อยลง

ท่านั่งเพื่อสุขภาพ

  • ไหล่ จะต้องผ่อนคลาย ไม่เกร็ง หรือฝืนจนเกินไป
  • ข้อศอก ต้องอยู่ในตำแหน่งที่สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ
  • ตำแหน่งของข้อมือ ควรอยู่ในแนวตรง
  • ศรีษะ ไม่ควรอยู่ในตำแหน่งที่ยื่นไปทางด้านหน้า แนวสายตา ควรอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าแนวระดับ
  • ตำแหน่งของลำตัว ควรอยู่ในแนวตรง และจะต้องสามารถเปลี่ยนแปลงอิริยาบทได้ตลอดเวลา
  • ระยะห่างระหว่างดวงตากับจอภาพไม่ควรต่ำกว่า 60 เซนติเมตร

    ป้องกันตัวเองง่ายๆ

               การบริหารร่างกาย : เริ่มต้นง่ายๆ ด้วยการเคลื่อนไหวคอไปมาหรือยืดตัวขึ้น เพื่อให้ระบบไหลเวียนโลหิตทำงานได้ดีขึ้น  การบริหารนี้ยะช่วยคลายจุดประสาทต่างๆ ที่อยู่บริเวณหลังและแขนด้วย

               การผ่อนคลายอารมณ์ : ความเหนื่อยและความเครียด เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิดอาการ RSI มากขึ้น พยายามผ่อนคลาย ลดความวิตกกังวลต่างๆ หรือแม้แต่การนั่งหลับตาสักครู่ จะช่วยให้สุขภาพดีขึ้น

              การออกกำลังกาย : มีความสำคัญอย่างยิ่ง แต่ควรทำเป็นประจำเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

    ทั้งสามสิ่งนี้ควรทำควบคู่กันไป ควรทำอย่างสม่ำเสมอให้เป็นความเคยชิน เพื่อสุขภาพของตัวคุณเอง

    เปลี่ยนแปลงเพื่อสุขภาพที่ดีกว่า

                ตำแหน่งท่านั่ง : ท่านั่งที่รู้สึกสะดวกสบายที่สุดเป็นท่านั่งที่ดีที่สุด  โต๊ะทำงานควรสูงราว 67 เซนติเมตร อย่างไรก็ดีควรหลีกเลี่ยงการนั่งในท่าใดท่าหนึ่งเป็นเวลานานๆ  แม้ว่าคุณจะรู้สึกว่าท่านั่งนั้นสบายที่สุดก็ตาม

                เปลี่ยนอุปกรณ์ใหม่ : สำหรับผู้ที่ต้องใช้คีย์บอร์ดหรือว่าเมาส์เป็นประจำเป็นเวลานานๆ ขอให้เลือกรุ่นหรือแบบที่ถนัดมือที่สุด เพื่อลดความเมื่อยล้าจากการฝืนหรือเกร็งขณะใช้งานคีย์บอร์ดหรือเมาส์รุ่นที่ไม่เหมาะสมกับตัวเอง

                หยุดพัก เป็นครั้งคราว : อาจจะไม่ถูกใจเจ้านายหรือหัวหน้างานนัก แต่เป็นสิ่งจำเป็นในการลดความเมื่อยล้าและความเครียดต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างการทำงาน อาจจะลุกขึ้นเดินไปรอบๆ หรือพักสายตา มองที่อื่นบ้างนอกจากจอภาพ หรือหากเป็นไปได้ การยืดแข้งยืดขาหรือบิดตัวไปมา  ก็จะช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อได้เป็นอย่างดี ซึ่งจะช่วยป้องกันสาเหตุของ RSI ได้อีกด้วย


ที่มา : ฉลาดใช้คอมพิวเตอร์. [online] available. URL://http://technology.mweb.co.th/articles/11802.html 17/07/45

โดย : นางสาว พนิชา มิลินทากาศ, สถาบันราชภัฎเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์, วันที่ 11 สิงหาคม 2545