รวมสุดยอดเทคโนโลยีแห่งปีงูเล็ก

        

     

ปีเก่าผ่านไปอย่างรวดเร็ว แล้วปีใหม่ก็ผ่านมาเข้ามาแทน และสำหรับปีที่แล้วใครที่พลาดโอกาสหรือยังรับรู้ข่าวสารของโลกไอทีไม่ครบถ้วนนั้น ก็ไม่ต้องเสียอดกเสียใจกันนะคะ เพราะเราจะนำข้อมูลทั้งหมดมาให้ทราบกันว่าโลกไอทีได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง และรวมไปถึงวงการไอทีด้วย เผื่อว่าบางทีเราอาจจะได้เห็นเห็นทิศทางที่ชัดขึ้นว่าจะเป็นอย่างไรในปีนี้

โดยเราจะพูดถึงที่สุดของเทคโนโลยี เกี่ยวกับเครื่องคอมพิวเตอร์ในปีที่ผ่านมา โดยจะพูดถึงเฉพาะอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับเครื่องคอมพิวเตอร์เดสก์ท้อป และอุปกรณ์ต่อพ่วงบางชนิด อาทิ โปรเซสเซอร์ ฮาร์ดดิสก์ จอมอนิเตอร์ โมเด็ม พริ้นเตอร์ และสแกนเนอร์ เป็นต้น

 

เปิดขุมพลัง

                 เทคโนโลยีแรกที่เรานำมาพูดถึงกันก็คือเทคโนโลยีของโปรเซสเซอร์ ซึ่งในปีที่ผ่านมาบรรดาค่ายดังต่างก็หันมาพัฒนาเทคโนโลยีแข่งกันชนิดที่ว่าเฉือนกัน GHz ต่อ GHz เลยทีเดียว เริ่มจากอินเทลเป็นเจ้าแรกที่เริ่มสั่นสะเทือนวงการด้วยการส่งน้องใหม่ของ P4 ออกมา ด้วยความแรงตั้งแต่ 1.5, 1.7 และ 1.8 GHz เมื่อต้นปีจนมาถึง 2 GHz ตอนปลายปี โดยใช้เทคโนโลยี 0.13 ไมครอนเหมือนเดิม แต่มีการเปลี่ยนจำนวนพินในซ็อกเก็ตจากซ็อกเก็ต 423 ไปเป็นซ็อกเก็ต 478 ทำให้ชิพมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น จุดหนึ่งที่ทำให้อินเทลได้รับการพูดถึงมากสำหรับตัว P4 ก็คือการใช้แรมแบบRDram ซึ่งเป็นแรมแบบใหม่และมีราคาค่อนข้างต่ำ แต่พอมาถึงปลายปีอินเทลออกเมนบอร์ดที่รองรับแรมแบบ SDram แถมยังมีการปรับลดราคาชิพอีกด้วย ทำให้ราคาของ P4 ถูกลงมาก นับได้ว่าเป็นกลยุทธ์ทางการค้าที่ได้ผลที่สุดของอินเทล ส่วนในอนาคตอินเทลมีแผนที่จะเปลี่ยนแพ็คเก็จจาก Filp-Chip ไปเป็นแบบ BBUL ซึ่งจะทำให้แพ็คเก็จมีขนาดเล็กลงแต่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ฝ่ายทางค่าย AMD ก็ไม่ยอมน้อยหน้ากันส่ง Athlon 1.2 GHz ขึ้นไปต่อกร และในช่วงปลายปียังปล่อยหมัดเด็ด Athlon XP ออกมาให้อินเทลหงายหลังไม่เป็นกระบวน ด้วยการส่งชิพที่มีเมกะเฮิร์ตซ์ต่ำกว่าแต่มีประสิทธิภาพการทำงานเทียบเท่ากับ P4 รุ่นเด่นๆ เลยทีเดียว ซึ่งแค่การโฆษณาอย่างเดียวคงไม่พอที่จะทำให้อินเทลหนักใจ แถมยังมีผลการทดสอบจากแล็บต่างๆ ออกมาด้วย ยิ่งทำให้ Athlon XP ดูแรงขึ้นไปอีก ยังมีความจริงอีกอย่างหนึ่ง ที่คนส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยจะรู้กันก็คือ จริงอยู่แม้ว่า Athlon XP ใส่ชุดคำสั่ง SSE เข้าไปในชิพด้วย แถมยังมีคำสั่ง 3D Now! และ 3D Now Enhance อีกด้วย เลยทำให้ประสิทธิภาพของ Athlon XP จึงอยู่ในระดับที่สูงกว่า P4 แต่ P4 มีการใส่คำสั่ง SSE2 ลงไป และในตอนนี้แอพพลิเคชั่นต่างๆ ยังไม่รองรับกับคำสั่ง SSE2 รวมไปถึง Benchmark ที่ใช้ทดสอบประสิทธิภาพก็ยังไม่รองรับคำสั่งนี้ด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตามแม้ว่าทาง AMD จะออกมาบอกว่าชิพของตัวเองเหนือกว่าอินเทล แต่จุดอ่อนที่ AMD เองยังแก้ไม่ตกคือเรื่องของความร้อนของชิพและราคาที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับ P4

กำลังเสริม

                 หลังจากที่ดูในส่วนของโปรเซสเซอร์กันไปแล้ว ทีนี้มาดูในส่วนของแรมบ้าง ในปีนี้ในส่วนเทคโนโลยีของแรมมีการแข่งขันกันพอสมควรแต่ก็ไม่มากนัก เนื่องจากกลุ่มของคนที่ใช้งานแยกออกจากกันอย่างชัดเจนตามโปรเซสเซอร์ที่ใช้ โดยเทคโนโลยีของแรมที่โดดเด่นมีให้เห็นกันอยู่สองแบบคือ RDram (Direct Rambus Ram) และ DDRram (Double Data Rate Ram) ซึ่งในตอนนี้ก็ยังเป็นข้อถกเถียงกันไม่จบว่าแรมชนิดไหนเร็วกว่ากัน แม้ว่าในอดีตจะมีการบอกว่า DDRram นั้นเร็วกว่า RDram แต่ RDram จะสามารถส่งผ่านข้อมูลได้ดีกว่า เมื่อไม่นานมานี้มีการทดลองในต่างประเทศ เพื่อวัดความสามารถระหว่างแรมทั้งสองชนิด โดยใช้โปรเซสเซอร์ P4 2GHz กับเมนบอร์ดสามชนิดคือ ABIT TH7-II RAID (Intel 850), Shuttle AV40R (VIA P4X266) และ SiS Engineering Sample 645 Motherboard (SiS 645) กับแรมสองชนิด สามยี่ห้อคือ 256MB PC800 Mushkin RDRAM, 256MB DDR333 Kingmax (CAS 2.5) DDR SDRAM และ 256MB DDR266 Crucial (CAS2) DDR SDRAM แล้วทำการทดสอบโดยใช้ Benchmark ต่างๆ อาทิ Sisoft Sandra 2001, Sysmark 2001, Specviewperf 6.1.2, Bussiness Winstore และ QuakeIII เป็นต้น ซึ่งผลการทดสอบที่ออกมาปรากฏว่า RDram มีประสิทธิภาพการทำงานได้ดีกว่า DDRram ในหลายด้าน อย่างไรก็ตามยังมีเหตุการณ์ที่แรมทั้งสองชนิดกำลังประสบอยู่โดยเฉพาะ RDram นั่นคือเรื่องของราคาขายในตลาดที่ยังสูงอยู่ในขณะนี้ แต่ถ้าวันไหนราคาของแรมทั้งสองลงมาอยู่ในระดับที่ไม่ต่างกันมากนัก เราอาจจะลืมเรื่องราวของ SDram ไปเลยก็เป็นได้ แล้วในตอนนั้นเราจะเห็นการแข่งขันในตลาดแรมที่รุนแรงกว่านี้แน่นอน

หน่วยคลัง

                  หน่วยคลังที่พูดถึงก็คือ ฮาร์ดดิสก์นั่นเอง เมื่อตอนต้นปีในแวดวงไอทีค่อนข้าง จะตื่นตัวกับฮาร์ดดิสก์ ที่มีมาตรฐานการรับส่งข้อมูลแบบใหม่ (Ultra ATA) และการปรับปรุงความเร็วรอบให้สูงขึ้น โดยที่แต่เดิมเราใช้ฮาร์ดดิสก์กันที่ความเร็วรอบ 5400 รอบต่อนาที และมีมาตรฐานการรับส่งข้อมูลที่ 33 เมกะไบต์ต่อวินาที ซึ่งต่อมาได้มีการปรับเปลี่ยนมาตรฐานการรับส่งข้อมูลไปอยู่ที่ 66 เมกะไบต์ต่อวินาที ณ ความจุ 10.2 กิกะไบต์ ในเวลาเพียงไม่นานความเร็วในการรับส่งข้อมูลถูกเปลี่ยนจาก 66 เมกะไบต์ต่อวินาที ไปอยู่ที่ 100 เมกะไบต์ต่อวินาที ส่วนความเร็วรอบก็ดีดขึ้นไปถึง 7200 รอบต่อนาที ในด้านของความจุก็ขยับขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 10.2 กิกะไบต์ ขึ้นมาที่ 40 กิกะไบต์ภายในเวลาไม่นาน และหลังจากนั้นอีกไม่ถึงสามเดือนความจุของฮาร์ดดิสก์ก็พุ่งขึ้นไป 80 กิกะไบต์ ส่วนระบบการรับส่งข้อมูลก็ขยับไปที่ 133 เมกะไบต์ต่อวินาที (ATA/133) ซึ่งระบบการรับส่งข้อมูลใหม่นี้เป็นเทคโนโลยีที่อยู่ขั้นกลางระหว่าง ATA/100 เดิมกับมาตรฐาน SerialATA ซี่งเป็นมาตรฐานการรับส่งข้อมูลแบบใหม่ที่กำลังจะออกสู่ตลาดในเวลาอีกไม่นาน

ซึ่งรายละเอียดของมาตรฐาน SerialATA เราจะนำมาเสนออย่างละเอียดอีกครั้งหนึ่งว่า มีที่มาที่ไปอย่างไร ดีแค่ไหน จะช่วยให้ระบบการทำงานดีขึ้นแค่ไหน และรายละเอียดของโครงสร้างเป็นอย่างไร

เชื่อมต่อสานสัมพันธ์

                 ที่นี้เรามาดูเรื่องการเชื่อมต่อกันบ้าง ซึ่งการเชื่อมต่อนี้ก็คือระบบอินเทอร์เฟสต่างๆ ที่มีอยู่ ในต้นปีระบบเชื่อมต่อต่างๆ เริ่มมีการปรับเปลี่ยนไปบ้าง จากเมื่อก่อนอินเทอร์เฟสบนเมนบอร์ดมีทั้งสล็อต PCI และ ISA แถมเริ่มมีการใช้พอร์ต USB กันบ้าง แต่พอมาในปีนี้เมนบอร์ดต่างๆ หันไปใช้สล็อต PCI กันหมด รวมถึงการใช้พอร์ต USB กันมากขึ้น และมีการนำสล็อต CNR (Communication Network Rizer) ซึ่งเป็นการเชื่อมต่อแบบใหม่ที่ออกแบบโดยอินเทล สำหรับโมเด็มและการ์ดแลน โดยที่อินเทลตั้งใจนำมาแทนสล็อต AMR (Audio Modem Rizer) ในส่วนของรายละเอียดเกี่ยวกับ CNR สามารถหาดูได้ที่ http://developer.intel.com/technology/cnr/ สำหรับแนวโน้มของอินเทอร์เฟสต่างๆ ยังคงจะไม่เปลี่ยนแปลงไปในปีหน้า แต่ในปีต่อๆ จะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากอินเทลตัดสินใจที่จะหันมาใช้พอร์ต USB 2.0 ในเมนบอร์ดของตัวเอง แต่ก็มีผู้ผลิตอีกหลายๆ เจ้าที่จะหันไปใช้พอร์ต IEEE 1394 แล้วในอนาคตจริงๆ จะมีการหันไปใช้พอร์ตอะไรเป็นหลักคงต้องรอดูกันต่อไปครับ ส่วนในเรื่องของสล็อต PCI จะมีการปรับเปลี่ยนไปใช้มาตรฐาน 3GIO ซึ่งคาดว่าน่าจะออกมาให้เห็นในตลาดได้ในปี 2005

เปิดโลกสีสัน

               สำหรับการ์ดจอ ในปีนี้เรื่องราวของการ์ดจอถือว่าเป็นสีสันของแวดวงไอที เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงมากที่สุด จากการเข้ามาของ GeForce2 GTS ที่เข้ามาปั่นป่วนกระเป๋าตังค์ได้พักไม่ใหญ่นักก็มีการ์ด GeForce2 MX เข้ามาเขย่ากระเป๋าตังค์ด้วยราคาที่ถูกกว่ามาก และเพียงไม่นาน GeForce2 MX ก็เข้ามาเป็นมาตรฐานการ์ดจอของการซื้อเครื่องคอมไปโดยปริยาย ด้วยเทคโนโลยีของ nVidia ที่ได้พัฒนา GPU ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก ทำให้การเปิดโลกสีสัน และจินตนาการทางด้านกราฟฟิกของทั้งเหล่านักพัฒนา และยูสเซอร์ขยายตัวขึ้นอย่างมาก บรรดานักพัฒนาก็สามารถใส่จินตนาการและความต้องการของตัวเองลงไปได้เต็มที่ ส่วนยูสเซอร์ก็ได้ประโยชน์ไปเต็มๆ หลังจากนั้นในช่วยกลางปีวงการก็เลื่อนลั่นไปกับ GeForce3 ซึ่งเป็น GPU ที่มีระบบการประมวลผลที่สูงมาก รวมไปถึงการส่งผ่านข้อมูลที่เร็วขึ้นกว่า GeForce2 GTS แถมยังมีการเพิ่มฟังก์ชั่น Programmable vertex shaders และ Programmable pixel shaders ลงไปเพื่อสนับสนุนการทำงานของ 3D ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และเมื่อไม่นานมานี้ nVidia ก็ไม่พัฒนาซีรี่ส์ใหม่ของ GeForce ออกมา โดยใช้ชื่อของซีรี่ส์ว่า Ti ซึ่งการ์ดในซีรี่ส์ Ti ได้มีการปรับปรุงในหลายๆ ส่วน เช่น การผลิตชิพด้วยเทคโนโลยี 0.15 ไมครอนของ TSMC ซึ่งจะช่วยให้ชิพสามารถทำงานด้วยสัญญาณนาฬิกาที่สูงขึ้นกว่าเดิม เป็นผลให้การ์ดสามารถทำงานได้ดีขึ้นกว่าเดิม

พิมพ์ พิมพ์ พิมพ์

              หลังจากที่ดูส่วนประกอบต่างๆ ของเครื่องไปบ้างแล้วทีนี้มาดูเรื่องของอุปกรณ์ต่อพ่วงกันบ้าง อย่างแรกที่เราจะพูดถึงเลยก็คือ พริ้นเตอร์ ในปีนี้เทคโนโลยีด้านการพิมพ์ไม่ได้มีการแข่งขันกันหนักหน่วง แต่ก็มีบ้างประปราย เช่น การแข่งกันด้านความเร็วในการพิมพ์ สำหรับการแข่งด้านนี้คงต้องยกให้กับ Epson สามารถผลิตพริ้นเตอร์อิงค์เจ็ตที่พิมพ์เร็วที่สุดในโลกออกมานั่นคือ Epson C80 ที่สามารถพิมพ์ได้สูงสุดถึง 20 แผ่นต่อนาที ส่วนค่าย HP ตามมาติดๆ ที่ 17 แผ่นต่อนาทีของ HP deskjet 990cxi การแข่งขันอีกอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือเรื่องของราคา ที่มีการตัดราคาขายกันอย่างมาก รวมไปถึงการผลิตพริ้นเตอร์รุ่นเล็กราคาประหยัดออกสู่ตลาดด้วย แต่ในส่วนเรื่องของเทคโนโลยีการฉีดพ่นหมึกพิมพ์แต่ละค่ายก็ยังใช้เทคโนโลยีเดิมอยู่ นี่ก็เป็นการประมวลเหตุการณ์ทางด้านสุดยอดเทคโนโลยีคร่าวๆ ของปีที่ผ่านมาที่นำมาฝากกัน ซึ่งก็ถือว่าเป็นส่วนน้อยของเทคโนโลยีที่มีมาทั้งหมดในปีนี้ ซึ่งเราเองก็ยังไม่ได้พูดถึงอีกหลายตัว ไม่ว่าจะเป็น Windows XP, Office XP, PDA, Linux ตระกูลต่างๆ สแกนเนอร์ และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งถ้าจะพูดทั้งหมดก็คงจะบรรยายกันอีกหลายหน้าแน่ๆ เนื่องจากปีที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงที่คึกคักจริงๆ งั้นเราก็คงต้องติดตามกันต่อไปนะคะว่าความเคลื่อนไหวของวงการไอทีในปีนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป


ที่มา : รวมสุดยอดเทคโนโลยีแห่งปีงูเล็ก. [online] available. URL://http://technology.mweb.co.th/articles/9407.html 16/01/45

โดย : นางสาว พนิชา มิลินทากาศ, สถาบันราชภัฎเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์, วันที่ 11 สิงหาคม 2545