ประดู่ส้ม ผลกินได้ |
มีหลายคนอยากทราบว่า ต้น ประดู่ส้ม มีคุณค่าทางสมุนไพรหรือไม่ ซึ่งความจริงแล้วไม้ต้นนี้ไม่ใช่ไม้ใหม่หรือไม้หายากอย่างใด เพราะมีต้นพันธุ์ขายทั่วไปในตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ ราคาไม่แพงนัก มีทั้งต้นเล็ก ต้นใหญ่ ขนาดหน้าลำต้นกว้าง 7 8 ฟุต นำไปปลูกให้โตได้รวดเร็วทันใจ ส่วนใหญ่จะปลูกเพื่อเอาร่มเงาเท่านั้น เนื่องจากใบดกหนาทึบ และกิ่งก้านแผ่กระจายกว้างดี แต่ไม่ไม่ค่อยมีใครทราบว่า ผล ของประดู่ส้ม สามารถรับประทานได้อร่อยไม่แพ้ผลไม้ป่าชนิดใด ๆ ที่สำคัญ ดอกจะบานสะพรั่งพร้อมกันทั้งต้น ทำให้ดูสวยงามมาก แก่นไม้ของ ประดู่ส้ม ยังมีกลิ่นหอมแปลก ๆ ด้วย แต่ไม่มีสรรพคุณทางสมุนไพร
|
|
|
ประดู่ส้ม หรือ BISCHOFIA JAVAVANICA BLUME อยู่ในวงศ์ PAPILIONEAE เป็นไม้กึ่งผลัดใบยืนต้นขนาดใหญ่ สูง 20 30 เมตร เรือนยอดหนาทึบ ลำต้นอ้วน เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาลเข้มเกือบดำ ไม่แตกร่องเกลี้ยง เปลือกชั้นในเป็นสีดำอมชมพู มียางสีแดง แก่นเป็นสีเหลืองหรือสีน้ำตาล มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ชื่นใจดี
ใบ เป็นใบประกอบ มีใบย่อย 4 5 ใบ รูปรีแกมรูปขอบขนาน ปลายและโคนใบแหลมเกือบมน สีเขียวเข้ม ใบแก่จะบางเหนียว ใบแห้งเป็นสีน้ำตาลเข้ม หูใบคล้ายกระดาษหลุดร่วงไว ใบที่มีอายุมากเป็นสีแดงสดงดงามมาก เวลาใบดกจะให้ร่มเงาและร่มรื่นมาก
ดอก เป็นสีเหลืองอมเขียว ออกเป็นช่อยาว แยกเพศและแยกต้น ดอกตัวผู้มีกาบเป็นรูปหอก กลีบเลี้ยง 5 กลีบ ไม่มีกลีบดอก เกสรตัวผู้ 5 อัน เกสรตัวเมียที่เป็นหมันเป็นแผ่นกว้าง ก้านเกสรสั้น ไม่มีหมอนรองดอก ดอกตัวเมียมีข้อ ด้านบนหนา กลีบเลี้ยงโค้งเข้าตรงกลาง ก้านเกสรตัวเมียสั้นปลายแยกเป็น 3 แฉก โค้งกลับ เวลามีดอกจะบานพร้อมกันทั้งต้น ทำให้ดูสวยงามเป็นอย่างยิ่ง แต่มีข้อเสียเล็กน้อย คือ ดอกจะร่วงโรยทั้งต้นเช่นกันในวันรุ่งขึ้น
ผล กลม เป็นช่อยาวห้อยลงเป็นพวง ผลอ่อนสีเขียวเข้ม เมื่อสุกเป็นเหลืองอมน้ำตาล มีเมล็ด 2 4 เมล็ด มีเนื้อหุ้ม รับประทานได้ รสชาติเปรี้ยวปนหวานนิด ๆ ชุ่มคออร่อยดี
ดอกจะออกช่วงฤดูร้อน ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ดกับตอนกิ่ง พบขึ้นทั่วไปตามป่าในประเทศไทย เนื้อไม้แข็งแต่ทำให้แห้งในอากาศได้ยาก เหมาะสำหรับก่อสร้างสะพาน เฟอร์นิเจอร์ เปลือกมีสาร แทนนิน มาก ให้สีชมพูย้อมตะกร้าหวายได้ดีมาก การปลูก ประดู่ส้ม ไม่เลือกพื้นที่และอากาศ ปลูกง่าย โตเร็ว ถ้าจะปลูกเอาร่มเงาต้องให้ห่างบ้านหน่อย เพราะรากกระจายกว้าง เมื่อต้นประดู่ส้ม มีดอกจะงดงามประทับใจ
|
โดย : นาย ธนนท์ สุทธิกุล, ร.ร.ภูเก็ตวิทยาลัย, วันที่ 21 พฤศจิกายน 2544 |