โทรศัพท์


ผู้ประดิษฐ์โทรศัพท์คนแรก คือ อเล็กซานเดอร์ เกรแฮม เบลล์ (Alexander
Graham Bell) ชาวอเมริกัน เมื่อปี พ.ศ. 2419 เขาได้นำหลักการของ ไมเคิล ฟาราเดย์ ชาวอังกฤษมาใช้ โดยพันลวดทองแดงที่มีฉนวนฉาบหุ้มไว้รอบแท่งแม่เหล็กหลาย ๆ รอบ ตรงปลายแท่งแม่เหล็กมีแผ่นเหล็กบาง ๆ วางไว้เกือบแตะปลายแม่เหล็ก อีกข้างหนึ่งของแผ่นเหล็กเป็นกระบอกปากแตรเล็ก ๆ สำหรับใช้พูด เมื่อพูดเข้าไปในกระบอกนี้จะทำให้แม่เหล็กสั่นไปมาก เนื่องจากแผ่นเหล็กนี้อยู่ใกล้ขั้วแม่เหล็กมากจึงทำให้สนามแม่เหล็กเปลี่ยนไปมา คล้าย ๆ กับแม่เหล็กเคลื่อนไปมา การสั่นสะเทือนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของกระแสไฟฟ้าในขดลวด และกระแสไฟฟ้านี้จะถูกส่งไปยังเครื่องรับ


แต่จะว่าไปแล้วโทรศัพท์ในยุคแรก ๆ นั้นไม่ค่อยได้รับความนิยมเท่าไรนัก ไม่ว่าจะเป็นในอังกฤษ ฝรั่งเศส เบลเยียม จนกระทั่งมีนักประดิษฐ์ และวิศวกรหลายคน ช่วยกันพัฒนาปรับปรุงระบบโทรศัพท์ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ที่เห็นได้ชัด คือ การพัฒนาโทรศัพท์แบบต่อสายเองอัตโนมัติ โดย สเตราเยอร์ (Almon B. Strower) ชาวอเมริกันเป็นผู้พัฒนาเมื่อปี พ.ศ. 2439 และในปี พ.ศ. 2443 ปูปิน ศาสตราจารย์วิชาฟิสิกส์แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐอเมริกาได้ใส่ขดลวดเพิ่มค่า อินดัคแตนซ์ ทำให้คุณภาพของเสียงที่ได้ยินทางสายโทรศัพท์ดียิ่งขึ้น



การพัฒนาโทรศัพท์ไม่ได้หยุดหย่อนอยู่เพียงเท่านี้ จากโทรศัพท์พื้นฐาน หรือโทรศัพท์บ้าน ก็มาถึงยุคโทรศัพท์เคลื่อนที่ (มือถือ) ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็ตามรับรองว่าไม่พลาดการติดต่อแน่นอน ยิ่งมือถือในยุคนี้เข้าสู่ยุคที่ 3 (3G) ทฝี่มีรูปแบบหลากหลายในเรื่องของรูปทรง ขนาด และบริการ ที่เห็นได้ทั้งภาพ เสียง การค้นหาสถานที่ การเชื่อมต่ออินเตอร์เนต โหลดเพลง e-mail แบบเห็นหน้า รวมถึงการประชุมระยะไกล
ด้วยความสะดวกรวดเร็ว สามารถพูดโทรศัพท์กับผู้ที่อยู่ห่างไกลคนละซีกโลกโดยใช้เวลาต่อสายไม่ถึง 1 วินาที หรือจะประชุมผ่านทางโทรศัพท์ทำให้ไม่เสียเวลาเดินทาง และไม่พลาดนัดหมาย
แบบนี้ คงไม่ต้องสงสัยว่า ทำไมโทรศัพท์ถึงได้รับความนิยมอย่างมากมาย


โดย : นางสาว ดุษฎีวรรณ กันทะวงศ์, โรงเรียนศรีสำโรงชนูปถัมภ์, วันที่ 21 พฤศจิกายน 2544