ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในการบริโภคอาหารมากขึ้นกว่าในอดีต นอกจากนี้ยังมีความเกี่ยวข้องกับแบคทีเรียที่เป็นอันตราย เช่น Escherichia coli ซึ่งปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์พวกเนื้อบดหรือน้ำผลไม้ที่ไม่ได้ผ่านการพาสเจอไรซ์ นักวิทยาศาสตร์จึงได้หาวิธีทีจะลดหรือกำจัดแบคทีเรียที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคในผลิตภัณฑ์โดยการฉายรังสี ในการฉายรังสีอาหารนั้นอาหารจะผ่าไนปสัมผัสกับรังสีซึ่งออกมาจากแหล่งพลังงาน เช่น รังสีแกมมา องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกายอมรับให้มีการฉายรังสีในเนื้อ, สัตว์ปีก และอาหารอีกหลายชนิด เช่น ผลไม้และผักรวมทั้งเครื่องเทศ การฉายรังสีนอกจากจะทำลายแบคทีเรียที่เป็นอันตรายแล้วยังลดจำนวนแบคทีเรียที่ทำให้อาหารเน่าเสีย แมลงและพยาธินอกจากนี้ในผักและผลไม้จะช่วยยับยั้งการงอกและชะลอการเน่าเสีย เช่น สตรอเบอรี่ที่ผ่านการฉายรังสีจะเก็บไว้ได้นานประมาณ 3 สัปดาห์ ในขณะที่ถ้าไม่ฉายรังสีจะเก็บไว้ได้ 5 วันเท่านั้น อาหารฉายรังสีไม่ได้ทำให้อาหารเปลี่ยนเป็นอาหารที่ปล่อยรังสีได้ นอกจากนี้การฉายรังสียังทำให้เกิดการสูญเสียคุณค่าทางอาหารเพียงเล็กน้อยเท่านั้นเมื่อเปรียบเทียบกับกระบวนการปรุงอาหารอื่นๆ เช่น การให้ความร้อน บรรจุกระป๋องหรือการพาสเจอไรเซชั่นและเนื่องจากอาหารฉายรังสีไม่มีการใช้ความร้อนทำให้รสชาติ เนื้อสัมผัสหรือลักษณะปรากฏไม่เปลี่ยนแปลง
ที่มา : โครงการเผยแพร่ความรู้และผลงานทางวิชาการผ่านสื่อหนังสือพิมพ์ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เดลินิวส์ วันที่ 31/1/02 P12
|