โดยหลักการแล้ว เมื่อผู้ซื้อทรัพย์สินสิ่งของใดมา ก็ย่อมที่จะต้องการใช้ทรัพย์สินสิ่งของนั้นด้วยความสบายใจไร้กังวล ไม่ใช่ว่าซื้อของมาแล้วเดี๋ยวเสียตรงโน้น ซ่อมตรงนี้ ซึ่งถือเป็นความชำรุดบกพร่องของทรัพย์สินสิ่งของที่ซื้อขายในกรณีอย่างนี้ คือ ทรัพย์สินที่ขายชำรุดบกพร่องเป็นเหตุให้เสื่อมราคา เสื่อมความเหมาะสมที่จะใช้ประโยชน์โดยปกติ หรือประโยชน์ที่มุ่งหมายตามสัญญา ผู้ขายต้องรับผิดชอบไม่ว่าผู้ขายจะรู้หรือไม่ว่าความชำรุดบกพร่องนั้นมีอยู่ ยกเว้นแต่จะเข้ากรณีดังต่อไปนี้ที่ผู้ขายไม่ต้องรับผิดชอบ คือ
1. ผู้ซื้อได้รู้อยู่แล้วในเวลาซื้อขายว่ามีความชำรุดบกพร่อง หรือควรจะได้รู้ หากได้ใช้ความระมัดระวังเช่น วิญญูชนทั่วไป
2. ความชำรุดบกพร่องนั้นเห็นประจักษ์อยู่แล้วในเวลาส่งมอบ และผู้ซื้อได้รับเอาทรัพย์ของนั้นไว้โดยไม่ทักท้วง
3. ถ้าทรัพย์สินนั้นได้มีการขายทอดตลาด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ผู้ซื้อ จะต้องฟ้องร้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่เวลาที่ได้พบเห็นความชำรุดบกพร่อง นั้น
ที่มา : คณะอาจารย์เผยแพร่วิชาการด้านกฎหมาย มหาวิทยาลัยรามคำแหง,
เดลินิวส์ วันที่ 11 มกราคม 2545 หน้าที่ 12
|