ความปลอดภัย


( ภาพข่าวจาก น.ส.พ. เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 17 เม.ย. 45 )

ความปลอดภัยในการทำงานช่าง

อุบัติเหตุ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ โดยที่เราไม่คาดคิดมาก่อน สร้างความเสียหายในหลาย ๆด้าน เป็นเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ ซึ่งเราสามารถป้องกันได้ หากเราใช้ความระมัดระวัง ไม่ประมาท และมีมาตรการป้องกันอย่างถูกวิธี

สาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ สรุปได้ดังนี้

1. เกิดจากตัวบุคคล คือเกิดจากตัวเราเองประมาท สุขภาพร่างกายไม่ดีพร้อมที่จะปฏิบัติงาน หรือไม่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆดีพอ ฯลฯ
2. เกิดจากเครื่องมือชำรุด เครื่องมือมีสภาพไม่พร้อมที่จะใช้งาน มีคุณภาพต่ำ ฯลฯ
3. เกิดจากระบบการทำงาน อาคารสถานที่ การวางแผนขั้นตอนการปฏิบัติงานไม่ดี พอ หรือแสงสว่างไม่เพียงพอ อากาศไม่ถ่ายเท อุณหภูมิสูงเกินไป ฯลฯ

ผลกระทบจากการเกิดอุบัติเหตุ

1. สร้างความสูญเสียต่อทรัพย์สิน เช่น รถยนต์ชนกัน สร้างความเสียหายคือ รถยนต์พัง หรือสูญเสียทรัพย์สินจ่ายเงินชดเชยค่าเสียหายให้แก่ผู้อื่น
2. ร่างกายได้รับบาดเจ็บ สูญเสียอวัยวะ หรือหากรุนแรงอาจสูญเสียชีวิตในที่สุด
3. สร้างความเสื่อมเสียชื่อเสียง การยอมรับในทางธุรกิจ เช่น บริษัทรถทัวร์ใดมักเกิดอุบัติเหตุบ่อย ๆ ลูกค้าผู้ใช้บริการอาจใช้บริการของบริษัททัวร์อื่นแทน ทำให้รายได้ของบริษัทลดน้อยลง

กฎความปลอดภัย
เป็นข้อบังคับหรือข้อควรระมัดระวังที่กำหนดขึ้น เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ ซึ่งอาจจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับลักษณะการทำงานในแต่ละสาขาอาชีพช่าง ในที่นี้จะกล่าวถึงกฎความปลอดภัยทั่ว ๆไปเป็นตัวอย่าง

1. แต่งกายให้รัดกุม
2. ไม่ควรหยอกล้อกันในขณะปฏิบัติงาน
3. ไม่ควรดื่มของมึนเมาในขณะปฏิบัติงาน
4. ควรตรวจสภาพเครื่องมือก่อนนำไปใช้งาน
5. ควรปฏิบัติงานในสถานที่ที่มีแสงสว่างเพียงพอ และอากาศถ่ายเทสะดวก
6. ควรศึกษาระบบการทำงานของเครื่องจักร ชนิดนั้น ๆ ให้เข้าใจก่อนปฏิบัติงาน
7. หากเครื่องจักรชำรุด ควรเขียนป้ายบอกกำกับไว้
8. ควรสวมหมวกนิรภัยในการปฏิบัติงานก่อสร้าง
9. หากน้ำมันหกลงพื้นควรทำความสะอาดทันที
10.เครื่องจักรที่มีการทำงานเคลื่อนไหว ด้วยความเร็วสูง ควรมีอุปกรณ์นิรภัยป้องกัน



โดย : นาย สิทธิพล ชลธี, เดชอุดม, วันที่ 29 เมษายน 2545