โรคตาขี้เกียจ |
|
โรคตาขี้เกียจ (ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับความขยันของเด็กนะครับ) เป็นโรคที่ทำให้ตาของเด็กมัวลง ซึ่งถ้าไม่ได้รับการวินิจฉัย และการรักษาที่ถูกต้อง และทันท่วงที อาจทำให้ตามัวแบบถาวร และไม่สามารถแก้ไขได้เมื่อโตแล้ว ก่อนจะเข้าถึงเรื่องโรค ขอเกริ่นนิดหน่อยครับ จะได้เข้าใจง่ายขึ้น ตามปกติแล้ว ระบบการมองเห็นของคนเราจะไม่สมบูรณ์ มาตั้งแต่เกิด แต่จะมีพัฒนาการขึ้นเรื่อยๆทั้งใน ด้านตัวลูกตา ส่วนประกอบของลูกตา และระบบประสาท ที่ ถ่ายทอดไปแปลผลที่สมองว่าตามองเห็น การพัฒนานี้จะมีตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ - แรกเกิด จนกระทั่งอายุประมาณ 6 ขวบ จึงจะเจริญสมบูรณ์ ซึ่งภายหลังจากการเกิดแล้ว การเจริญเติบโตของ ระบบการมองเห็นนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับ การกระตุ้นด้วยการมองเห็นในตาทั้ง 2 ข้าง รูปแสดงตาที่ปกติ เด็กต้องใช้ตาทั้งสองข้างมองภาพในอัตราที่เท่าๆหรือใกล้เคียงกัน ตาทั้งสองข้างจึงจะเจริญได้อย่างเป็นปกติครับ ถ้ามีเหตุอะไรก็ตาม ทำให้ตาทั้งสองข้าง ไม่ได้ใช้มอง หรือใช้ตาข้างใดข้างหนึ่งมองน้อยกว่าอีกข้างในช่วงตั้งแต่แรกเกิดถึง 6 ขวบ ก็จะทำให้ตาข้างที่ใช้น้อยกว่านั้นเจริญไม่เต็มที่ และมัวกว่าตาอีกข้างไปตลอดชีวิตได้ ซึ่งไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการผ่าตัด กินยา หยอดยา เลเซอร์ หรือวิธีการใดใดครับ
|
|
อุบัติการณ์
-เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดของการบกพร่องของการมองเห็นแบบถาวรของเด็ก
- พบได้ประมาณ 2% ของประชากร
สาเหตุ
สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคตาขี้เกียจนี้ จะแบ่งเป็น 2 กลุ่มครับ
1. กลุ่มที่เกิดจากความบกพร่องของอวัยวะรับภาพ และแปลผลภาพ (Organic causes)
กลุ่มนี้แย่หน่อยครับ อาจจะได้แค่วินิจฉัย แต่รักษาได้น้อยมาก หรือไม่ได้เลย ตัวอย่างของโรคในกลุ่มนี้ เช่น โรคเส้นประสาทตาฝ่อ(Optic atrophy), รอยแผลเป็นที่จุดรับภาพในจอประสาทตา(macular scar), การเสียหายของสมองส่วนที่แปลภาพจากการขาดออกซิเจน (Anoxic occipital brain damage) เป็นต้น อย่างไรก็ดี กลุ่มนี้พบได้น้อยครับ
2. กลุ่มที่เกิดจากการบดบังภาพที่เข้าสู่จอประสาทตา
กลุ่มนี้พอรักษากันได้ไหวครับ และเป็นกลุ่มที่พบได้บ่อยกว่ากลุ่มแรกมาก ตัวอย่างเช่น
โรคตาเข หรือตาเหล่ (Strabismus)
: เมื่อเด็กมีตาเข หากมีปริมาณน้อย เด็กอาจจะสามารถใช้กำลังกล้ามเนื้อในการปรับตาให้ตรง และใช้ตาสองข้างในการมองเท่าๆกันได้ โรคตาขี้เกียจก็ไม่เกิดแทรกซ้อน แต่ถ้าตาเขมากๆจนเกินกำลังในการปรับ เด็กอาจใช้ตาข้างใดข้างหนึ่ง ในการมองมากกว่าตาอีกข้าง ทำให้ตาข้างที่ไม่ค่อยได้ใช้ไม่เจริญเต็มที่ และมัวในที่สุด
โรคสายตาสั้น ยาว เอียง แบบไม่สมมาตร (Anisometropia)
: ในเด็กบางคน อาจมีสายตาสองข้างไม่เท่ากัน เช่น ข้างขวาสั้น 100 แต่ข้างซ้ายสั้น 600 เป็นต้น ถ้าสายตาทั้งสองข้างแตกต่างกันมากพอ เด็กจะใช้ตาข้างเดียวที่ชัดกว่ามองภาพเป็นหลัก ในขณะที่ตาอีกข้างได้ใช้มองน้อย หรือไม่ได้ใช้เลย
โรคที่ทำให้แสงผ่านเข้าในตาไม่ดี
เช่น โรคติดเชื้อในครรภ์มารดาบางชนิดทำให้กระจกตาดำขุ่น (มักขุ่นสองข้าง แต่อาจขุ่นไม่เท่ากันได้), โรคต้อกระจกแต่แรกเกิด, โรคเลือดออกในน้ำวุ้นลูกตา, หนังตาตก ซึ่งอาจเกิดกับตาข้างเดียว หรือเกิดกับทั้งสองข้าง แต่ปริมาณไม่เท่ากัน ก็ทำให้เกิดโรคตาขี้เกียจแทรกซ้อนตามมาได้ครับ
|
|
|
การรักษา
การรักษาโรคตาขี้เกียจ
1. ถ้าพบว่ามีสาเหตุ ก็แก้ที่สาเหตุ เช่น ถ้าตาขี้เกียจเกิดจากต้อกระจกในตาข้างใดข้างหนึ่ง (เราอาจมองเห็นว่าตรงกลางตาดำของเด็กดูขาวๆกว่าปกติ) ก็อาจพิจารณาผ่าตัดลอกต้อกระจกนั้นออกได้ เพื่อให้เด็กได้ใช้ตาข้างนั้นมอง, ถ้าเด็กมีปัญหาสายตาสั้นยาวไม่เท่ากันมากๆ ก็อาจแก้ไขด้วยการใช้แว่น เพื่อให้ทั้งสองตาเห็นชัดเท่าๆหรือใกล้เคียงกัน เด็กจะได้ใช้ตาทั้งสองข้าง เป็นต้น
2. กระตุ้นให้เด็กใช้ตาข้างที่เป็นโรคตาขี้เกียจมองมากขึ้น มีหลายวิธีครับ
- ที่นิยมที่สุดเป็นวิธีที่อาจจะฟังแล้วทะแม่งๆนิดหน่อย คือ การปิดตาข้างที่เห็นดีกว่าเสียเลย จะได้ให้เด็กใช้ตาข้างที่ขี้เกียจมาทำงานบ้าง ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของคุณพ่อคุณแม่มากหน่อย
- หยอดยาให้ตาข้างที่เห็นชัดมัวลง (มัวแบบชั่วคราวตามระยะเวลาที่ยาออกฤทธิ์ ไม่ใช่มัวแบบถาวรแทนอีกข้างนะครับ)
โรคนี้ ถ้าวินิจฉัยถูก และให้การรักษาได้ทันท่วงที ก็มีโอกาสที่เด็กจะมองเห็นได้เป็นปกติครับ ซึ่งก็มักต้องอาศัยความร่วมมือจากคุณพ่อคุณแม่ของน้องเค้ามากๆหน่อย แต่ถ้ารักษาช้า หรือพ่อแม่ให้ความร่วมมือน้อย เช่น ขอให้ปิดตาข้างที่ดีกว่า ก็ปิดบ้างไม่ปิดบ้าง ก็อาจได้ผลน้อยหรือไม่ได้ผลเลยครับ หรือในบางกรณี ถ้าโรคที่เป็นมีความรุนแรงมาก การรักษาที่สาเหตุได้ผลน้อย เช่น ต้อกระจกแต่กำเนิด หรือโรคติดเชื้อในครรภ์ ก็อาจได้ผลไม่เต็มร้อย แม้จะรักษาเร็วและถูกต้องก็ตามครับ
เอาเป็นว่า
- ถ้ามีอะไรผิดปกติ หรือสงสัยว่าจะมีปัญหาเรื่องนี้ ให้ลองปรึกษาหมอเด็ก หรือไม่ก็พาไปหาหมอตาเลยนะครับ อย่ารอ บางครั้งกว่าจะรอให้โตเสียหน่อยแล้วค่อยพาไปก็สายเกินแก้ครับผม
- ถ้ามีอะไรแปลกๆ เช่น น้องเห็นแต่ของเล่นที่ใกล้มากๆ, ดูตาเหล่ๆตลอดเวลา หรือดูเหล่ๆเป็นบางครั้ง, จำหน้าพ่อแม่ไม่ได้, ชนโน่นชนนี่บ่อยเกินไป, เห็นตาดำดูผิดปกติ ตาดูโตไม่เท่ากัน, หนังตาข้างใดข้างหนึ่งตาๆลงมา ทำให้เห็นตาเปิดกว้างไม่เท่ากัน เป็นต้น ก็ไปหาหมอเลยครับ
ที่มา:้http://www.thaiclinic.com.
โดย นพ.ณวัฒน์ วัฒนชัย จักษุแพทย์
|
โดย : เด็กชาย วันรพี สู้งาน, โรงเรียนภูเก็ตวิทยาลัย, วันที่ 18 พฤศจิกายน 2544
|