สมุนไพร : วัตถุ จิต สังคม
สมุนไพรเป็นภูมิปัญญาหรือความรู้ทางวัฒนธรรมอันมีค่ายิ่งอย่างหนึ่ง เราควรเข้าใจว่าความรู้มี 2 กระแส คือกระแสวิทยาศาสตร์ และกระแสวัฒนธรรม ต่างมีประโยชน์และต้องการ ทั้ง 2 กระแส ความรู้ทางวัฒนธรรมเกิดขึ้นก่อน เช่น การกิน การพูด การแต่งตัว ที่อยู่อาศัย การรักษาโรค ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่แตกต่างกันในชนกลุ่มต่างๆกัน ความรู้ของมนุษย์เกิดก่อนมีห้องทดลองช้านาน เป็นความรู้เชิงวัฒนธรรมหรือบางที่เรียกว่า ความรู้พื้นเมืองหรือความรู้ดั้งเดิม
ความรู้ทางวิทยาศาสตร์มักจะอยู่ในหนังสือ ทุกอย่างต้องมีการพิสูจน์ในห้องทดลองเสียก่อน ถ้าการศึกษาเน้นแต่การเรียนหนังสืออย่างปัจจุบัน ความรู้ทางวัฒนธรรมอันมีค่ามหาศาลที่มนุษยชาติสะสมมาจะสูญหายไปจากโลกอย่างน่าเสียดาย
ความรู้เชิงวิทยาศาสตร์ก็เน้นที่สารเดี่ยวอันสามารถแสดงการออกฤทธิ์ได้จำเพาะคงที่แน่นอนซึ่งก็มีประโยชน์ด้านหนึ่ง แต่ความรู้เชิงวัฒนธรรมนั้นมักเชื่อมโยงเป็นองค์รวม อย่างเรื่องสมุนไพรนั้นจะมองหาสารเดี่ยวที่แสดงการออกฤทธิ์จำเพาะอย่างเดียวหาได้ไม่ ผลจากสมุนไพรยังมีจากอย่างอื่นอีก เช่นผลรวมของสารหลายชนิดและวัตถุหลายอย่างที่ประกอบเป็นยาสมุนไพร หรือเป็นผลทางจิต เช่นความเชื่อ ความศรัทธา ความพอใจหรือเป็นผลทางสังคม
ความเชื่อ ความศรัทธา หรือความพอใจในการรักษาทำให้โรคหายได้ บางครั้งไม่ได้เกิดจากตัวสมุนไพรเอง แต่เกิดจากปฏิสัมพันธ์กันทางสังคม อันได้แก่ การได้ร่วมทุกข์กัน การมีความเอื้ออาทรต่อกัน การพยายามช่วยเหลือพึ่งพิงกันเรียกว่าเกิดความเป็นชุมชนขึ้น อันทำให้คลายทุกข์หรือหายเจ็บป่วยได้
วัฒนธรรมเป็นรากฐานของสังคม สังคมควรเข้าใจรากฐานของตัวเองและเห็นคุณค่าในวัฒนธรรมของตัวเอง ย่อมนำมาพัฒนาเศรษฐกิจ จิตใจ สังคม สิ่งแวดล้อม และการเมือง พร้อมกันไปอย่างบรูณาการ
|
|
|